โฟตอนส่งรถใหม่ครบไลน์ ลั่น 3 ปีขึ้นเบอร์หนึ่งรถจีน

โฟตอนลั่น 3 ปีขึ้นท็อป 3 พร้อมเทเม็ดเงินตั้งโรงงานผลิตรองรับตลาดในประเทศและส่งออก ส่งสินค้าครบทุกไลน์ บรรทุกใหญ่-กลาง-เล็ก-มินิบัส


นายกิรพัฒน์ ชินรังคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนธุรกิจหลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี กรุ๊ป ได้จับมือกับโฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป จากประเทศจีน ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาทเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า เป้าหมายยอดขายในปีนี้ น่าจะทำได้ 200 คัน จากปัจจุบันที่มียอดขายไปแล้ว 130 คัน ภายในระยะเวลา 3 ปีตั้งเป้าเป็นที่ 1รถจีนจากตัวเลขขาย 1,000 คัน หรือมียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของตลาด จากปัจจุบัน รถเพื่อการพาณิชย์มีความต้องการอยู่ราว 30,000 คันต่อปี โดยสัดส่วนการขาย 60% เป็นรถหัวลาก 30% รถบรรทุกเล็ก และอีก 10% เป็นมินิบัสและรถบรรทุกขนาดกลาง

ขณะที่แผนการเพิ่มเครือข่ายการขายนั้น ปัจจุบันมี 12 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและต่างจังหวัด โดยภายในปีหน้าจะเพิ่มอีก 8 แห่ง เป็น 20 แห่ง และเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการทำตลาดให้กับแบรนด์โฟตอน บริษัท ซีพี และโฟตอน กรุ๊ป มีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถบรรทุกโฟตอนขึ้นในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด โดยมองพื้นที่อยู่ที่ในอีอีซี จ.ชลบุรี เพื่อผลิตรองรับความต้องการของตลาดในประเทศ และอนาคตบริษัทมีนโยบายจะใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถพวงมาลัยขวา เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมลงทุนเพื่อก่อสร้างศูนย์ ONE STOP CENTER เพื่อใช้เป็นศูนย์เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ ทั้งพนักงานขายและบริการหลังการขาย ทีมช่าง ทีมเซอร์วิส เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการบริการให้กับลูกค้าโฟตอนและคลังกระจายสินค้า ซึ่งตรงนี้คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 100-200 ล้านบาท และน่าจะได้เห็นความชัดเจนในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

“ส่วนของโรงงานซีพี มอเตอร์ เป็นผู้ดูแล ของเรามีหน้าที่ขาย บริการหลังการขาย และสร้างแบรนด์”

เบื้องต้นบริษัทได้นำเข้ารถบรรทุกจากจีนเข้ามาจำหน่ายทั้งสิ้น 4 รุ่นหลัก ๆ ได้แก่ รถบรรทุกหัวลาก (tractor head) รุ่น AUMAN EST ราคาเริ่มต้นที่ 2,600,000-2,900,000 บาท, รถบรรทุก 6 ล้อขนาดใหญ่ รุ่น AUMAN EST M ราคาเริ่มต้นที่ 1,120,000-1,490,000 บาท, รถบรรทุกขนาดกลาง รุ่น Aumark C ราคาเริ่มต้นที่ 650,000-842,000 บาท ส่วนรถบัสโดยสาร Mini Bus รุ่น AUV ขนาด 20+1 ที่นั่ง ราคาเริ่มต้นที่ 1,890,000 บาท จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ แม้ภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังคงไม่สู้ดีนัก แต่ก็ไม่ได้กระทบกับตลาดตรงนี้มากนัก เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ยังคงสนับสนุนให้มีโครงการเมกะโปรเจ็กต์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 คาดว่าตลาดจะโตขึ้นได้กว่า 5%