“ดาวน์น้อย-ดอกต่ำ” พ่นพิษปี63 สกรีนเข้มสินเชื่อซื้อรถ

แบงก์สกรีนเข้มสินเชื่อรถสัญญาณผิดนัดชำระหนี้พุ่ง แคมเปญกระตุ้นยอด ดาวน์น้อย ผ่อนนาน-ดอกเบี้ยต่ำ ดึงลูกค้าไม่มีความสามารถชำระหนี้เข้าระบบกว่า 10% เสี่ยงหนี้เสีย “ทิสโก้” เพิ่มมาตรการเข้มปล่อยกู้ “กรุงศรี ออโต้” มั่นใจคัดกรองตั้งแต่ด่านแรก ตั้งกรอบหนี้เสียไม่เกิน 2% “ธนชาต” ไม่หนุนก่อหนี้เกินตัว

หนี้รถค้างชำระเพิ่ม

นายรุ่งโรจน์ จรัสวิจิตรกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้ ธนาคารเริ่มเห็นลูกค้าส่งสัญญาณค้างชำระเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารต้องพิจารณาการปล่อยสินเชื่อยืดหยุ่นน้อยลง เนื่องจากคุณภาพของลูกหนี้ที่เข้ามามีศักยภาพและความสามารถการชำระหนี้ลดลง ส่วนหนึ่งเพราะปีนี้ค่ายรถยนต์และดีลเลอร์อัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายรูปแบบดาวน์น้อยและอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น ดอกเบี้ย 0.99-1.99% ต่อปี เพื่อแข่งขันดึงลูกค้า ทำให้สินเชื่อรถยนต์ที่เข้ามาพบว่ามีลูกค้าประมาณ 10% ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งถูกดึงเข้ามาจากแคมเปญประเภทดาวน์น้อยผ่อนนาน ทำให้เสี่ยงกลายเป็นหนี้เสีย

“เราเริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าค้างชำระเพิ่มขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อมีความยืดหยุ่นน้อยลง ส่งผลให้เคสการอนุมัติน้อยลง”

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/62 มีประมาณ 5-6% ไตรมาส 2 เพิ่มเป็น 7-8% ไตรมาส 3 อยู่ที่ 11-12% และปัจจุบันทรงตัวที่ระดับ 10% อย่างไรก็ดี ตอนนี้ธนาคารได้ส่งสัญญาณกับค่ายรถยนต์ว่าการทำแคมเปญลักษณะดังกล่าวทำให้เสียเวลาทั้ง 2 ฝ่าย และคาดว่าปี 2563 แนวโน้มลูกค้ากลุ่มนี้จะยังทรงตัวอยู่ที่ 10% เนื่องจากธนาคารที่ทำธุรกิจเช่าซื้อเจ้าใหญ่ ๆ มีอยู่ 5 แห่ง กลุ่มลูกค้าก็จะวนเวียนอยู่ในกลุ่มนี้

ลูกค้าไม่มารับรถ 20%

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า ในช่วงปลายปีนี้พบว่าหลังจากธนาคารอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว แต่มีลูกค้าราว 20% ไม่มารับรถยนต์ เช่น อนุมัติสินเชื่อ 100 คัน มารับรถยนต์เพียง 80 คัน ที่เหลืออีก 20 คันแจ้งว่าไม่มารับรถ เนื่องจากไม่มั่นใจเรื่องการผ่อนชำระ ซึ่งสะท้อนว่าผู้ซื้อก็มีความระมัดระวัง

“จากสถานการณ์เศรษฐกิจและปัญหาที่ลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ทำให้การพิจารณาสินเชื่อปีหน้าจะต้องเข้มงวดต่อไป ส่งผลให้แนวโน้มคำขอสินเชื่อได้รับการอนุมัติน้อยลง โดยปัจจุบันอัตราการอนุมัติสินเชื่อของทิสโก้อยู่ที่ 70% แต่ยอดอนุมัติแบบมีเงื่อนไขเพิ่มจาก 20% เป็น 27% คือลูกค้ากลุ่มนี้ต้องวางเงินดาวน์เพิ่มเป็น 25% จากปกติ 15% รวมถึงต้องหาผู้ค้ำประกันเพิ่ม 1 คนที่มีรายได้ 2.5 หมื่นบาทต่อเดือนส่วนยอดปฏิเสธสินเชื่อจริง ๆ อยู่ที่ ประมาณ 3% เท่านั้น”

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า ภาพการปล่อยสินเชื่อรถมีความยืดหยุ่นน้อยลง จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงปี”63 ทำให้ยอดขายรถยนต์โดยรวมน่าจะลดลงประมาณ 5% หรือราว 5 หมื่นคัน คาดว่าตลาดรวมรถยนต์ปีหน้าจะอยู่ที่ 9.5 แสนคัน จากปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1.01 ล้านคัน

กรุงศรีฯสกรีนเข้มตั้งแต่ด่านแรก

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนวโน้มยอดปฏิเสธสินเชื่อของสินเชื่อรถยนต์ยังคงทรงตัว โดยยอดอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ระดับ 78-80% ส่วนหนึ่งมาจากหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อของบริษัทค่อนข้างเข้มข้น หากลูกค้าไม่ผ่านคุณสมบัติก็ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตั้งแต่ด่านแรก การพิจารณาสินเชื่อของบริษัทยึดหลักการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ จะต้องคำนึงว่าลูกค้ามีความสามารถผ่อนชำระหรือไม่ ลูกค้ามีเงินเหลือในชีวิตประจำวันหรือไม่ และลูกค้ามีหนี้อยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งตัวนี้จะเป็นตัวกรองให้บริษัท

โดยสามารถคำนวณออกมาเป็นสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) โดยลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไม่ควรมี DSR เกิน 70% ขณะที่สัดส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่ารถยนต์ (LTV) เฉลี่ยอยู่ที่ 80% แต่หากเป็นสินเชื่อ Car For Cash ที่เป็นลูกค้าเก่าวงเงินสินเชื่ออาจจะสูงกว่านี้ อย่างไรก็ดี บริษัทมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตอนนี้กรุงศรี ออโต้ รวมถึงบริษัทอื่น ๆ ก็ได้ส่งรายงานให้กับ ธปท.อย่างต่อเนื่อง “อัตราการปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทเท่าเดิมเพราะเรามีตะแกรงคัดกรองตั้งแต่แรก หากไม่ผ่านเกณฑ์ก็ไม่สามารถเข้ามาได้ตั้งแต่แรก ส่วนปัจจัยเศรษฐกิจไม่ดีจะไปสะท้อนในตัวหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลซึ่งก็ตั้งกรอบไว้ไม่ควรเกิน 2% ซึ่งเรามั่นใจได้ว่ายอดรีเจ็กต์จะไม่เพิ่มขึ้น เพราะระวังตั้งแต่ต้น”

ธนชาตคุมหนี้เสียต่ำกว่าตลาด

นายป้อมเพชร รสานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต เปิดเผยว่า การอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของธนชาตจะพิจารณาว่าผู้ขอสินเชื่อมีรายได้เพียงพอในการชำระหนี้และพึงระวังไม่ให้ผู้ขอสินเชื่อก่อหนี้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด ดังนั้น การปฏิเสธจะเกิดขึ้นกับลูกค้าที่คุณสมบัติไม่ตรงตามหลักเกณฑ์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นไปตามเป้าที่กำหนด และขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นในแต่ละช่วงเวลา การคัดกรองลูกค้าทำให้คุณภาพลูกค้าของสินเชื่อรถยนต์ภายใต้แบรนด์ “ธนชาต DRIVE” อยู่ในระดับที่ดี

ปัญหาการชำระล่าช้า หรืออื่น ๆ มีบ้างตามสภาพเศรษฐกิจแต่ละช่วงเวลาของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งธนชาตได้ดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกค้าโดยพิจารณาเป็นรายกรณี ทำให้ยังสามารถควบคุมคุณภาพหนี้เสีย (NPL) ให้อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งไตรมาส 3/2562 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.31% ขณะที่เอ็นพีแอลรวมของตลาดเช่าซื้ออยู่ที่ประมาณ 1.86% สำหรับตัวเลขหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนในไตรมาส 3/62 อุตสาหกรรมอยู่ที่ 7.42% ซึ่งของธนชาตต่ำกว่าอุตสาหกรรมคือ 6.9%


“แบงก์กำหนดมาตรการที่ชัดเจนและเข้มงวดมาตลอดผ่านการกำหนด DSR,การให้สินเชื่อต่อมูลค่ารถยนต์และงวดในการชำระเพื่อให้วงเงินสินเชื่อที่อนุมัติสอดคล้องกับความสามารถในการชำระคืน รวมถึงมี scoring model ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกลั่นกรองและพิจารณาอนุมัติสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อมาตรฐาน รวมถึงใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้สามารถจัดเก็บฐานข้อมูลให้เป็นระบบ”