วิทิต ลีนุตพงษ์ ทุ่มปั้นแบรนด์ “ไทยยานยนตร์ คาราเวล”

ถือเป็นผู้บริหารในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่หาตัวจับได้ยาก สำหรับ “เสี่ยวิทิต ลีนุตพงษ์” บอสใหญ่แห่งค่ายไทยยานยนตร์ประสบการณ์ธุรกิจยานยนต์ที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ วันนี้ “วิทิต” กลายเป็นหัวหอกหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กลุ่มบริษัท ไทยยานยนตร์ ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถตู้โฟล์คสวาเก้น ในประเทศไทย


และด้วยประสบการณ์การทำงานร่วมกับค่ายรถชั้นนำจากยุโรปหลายแบรนด์ เขามุ่งมั่นที่สร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ของตัวเอง “โฟล์คสวาเก้น ไทยยานยนตร์ คาราเวล” ซึ่งตีตราเป็นสินค้าที่มีพัฒนาการโนว์ฮาวการออกแบบและตกแต่งโดยคนไทย และหวังที่จะขึ้นไลน์ประกอบเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชีย แผนงานนี้อยู่ในขั้นตอนเจรจรากับโฟล์ค เอจี.อย่างเข้มข้น

เชื่อแบรนด์แวลูสำคัญ

สิ่งแรกในการทำธุรกิจเราต้องรู้จุดยืน และแวลูไดเร็กชั่นของเราก่อน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไทยยานยนตร์ เรารู้ว่าแบรนด์แวลูของเราคืออะไร และเราให้อะไรไปกับลูกค้า ธุรกิจรถยนต์นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างและส่งมอบแวลูให้ลูกค้า โดยทุกสิ่งที่เราทำคือ ฟีดแบ็กจากลูกค้า และสิ่งที่ไทยยานยนตร์นำเสนอให้กับลูกค้าทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีที่มาและที่ไป อย่างรถตู้โฟล์ค ไทยยานยนตร์ คาราเวล บริษัทมีทีมวิจัยและพัฒนาสินค้า เพื่อออกแบบภายในห้องโดยสารอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้สะดวก ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากจากลูกค้าทั้งในประเทศ และได้รับการบอกต่อไปยังกลุ่มลูกค้าต่างชาติ

มุ่งมั่นสร้างแบรนด์

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาตลอดช่วงก่อนหน้านี้ คือ “แบรนด์” ทำอย่างไร และคำว่า “แบรนด์” ไม่ใช่ว่าใครจะสามารถบิลด์ขึ้นมาได้ หากธุรกิจไม่แข็งแรงเพียงพอ เรากำลังนำเสนอความเป็นไทยยานยนตร์ ซึ่งลูกค้าจะต้องเห็นคุณค่า รวมทั้งมีความเข้าใจแบรนด์ของเรา การเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ หรือเป็นดีลเลอร์นั้น สุดท้าย…แวลูจะไปอยู่ที่เรื่องของ “ราคา” ลูกค้าจะเลือกหาดีลเลอร์ที่ ใช้ราคาได้ดีกว่า ลูกค้าสามารถเลือกช็อปได้ ซึ่งไทยยานยนตร์ไม่ได้มองแค่ตรงนั้น แต่เรากำลังสร้างและมองหาการเพิ่มแวลูให้กับแบรนด์

ปั้นแบรนด์คนไทย

แน่นอนที่สุด วันนี้เรามีจุดแข็ง คือ โนว์ฮาวในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระดับ และนโยบายของเราค่อนข้างชัดเจน คือ เน้นทำตลาดรถโฟล์คเชิงพาณิชย์ (รถตู้) เท่านั้น ซึ่งนำรถโฟล์คตู้มาออกแบบตกแต่งภายใน มีทีมอาร์แอนด์ดี ที่มีประสบการณ์สูงของเรา และพยายามสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง คือ โฟล์ค “ไทยยานยนตร์ คาราเวล” ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ด้วยยอดขาย 500 คันในปี 2562 ที่ผ่านมา ส่วนปี 2563 หวังว่ายอดขายจะเพิ่มไปถึงระดับ 600 คัน
พร้อมขึ้นไลน์ประกอบ เป็นธรรมดาของการดำเนินธุรกิจ ที่เราจะต้องวางโมเดลธุรกิจให้ครบวงจร

ขณะนี้เราอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทแม่ เรื่องของการขึ้นไลน์ประกอบ ไทยยานยนตร์ คาราเวล หลังจากก่อนหน้านี้เราทำเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศไทยเท่านั้น อนาคตเรามองว่าความต้องการของภูมิภาค มีค่อนข้างสูงก็อาจจะเป็นไปได้ ที่บริษัทแม่จะให้เราประกอบเพื่อรองรับตลาดในเอเชีย แต่ทั้งนี้หมายความว่า การไปเปิดตลาดต่างประเทศนั้น จะต้องไปในนามของแบรนด์ ไทยยานยนตร์ รถที่นำไปจำหน่ายก็จะต้องเป็น “ไทยยานยนตร์ คาราเวล” ด้วย เรามองว่า หากโฟล์ค เอจี.อนุมัติ ไต้หวันจะเป็นประเทศแรกที่ไทยยานยนตร์ส่งรถเข้าไปทำตลาด

ความล้มเหลวทำให้แกร่ง

ตอนนี้สิ่งที่ไทยยานยนตร์โฟกัสคือ การสร้างแบรนด์ ไทยยานยนตร์ ให้แข็งแกร่ง ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์จากการทำรถแบรนด์ “เฌอรี่” ที่ต้องบอกว่าเดิมแนวโน้มการทำตลาดค่อนข้างสดใส แต่เมื่อรัฐบาลไทยส่งเสริมโครงการอีโคคาร์ ทำให้แบรนด์ “เฌอรี่” ล้มไป หรือจะพูดให้ตรงประเด็นคือ สิ่งที่ผิดพลาดของ “เฌอรี่” คือ การมีอีโคคาร์ เพราะทำให้เราไม่สามารถทำตลาดและแข่งขันได้ เพราะอีโคคาร์มีขนาดที่ใหญ่กว่า และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 17% ทำให้เราต้องตัดสินใจยุติแบรนด์เฌอรี่ไปโดยปริยายมองความต้องการลูกค้าให้ทะลุการขายรถ 1 คันของไทยยานยนตร์นั้น

เราต้องดูแลลูกค้าถึง 3 คน แน่นอนที่สุด 1.คนนั่งที่เก้าอี้ด้านหลัง 2.เลขาฯ หรือผู้ช่วย เพราะลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะมีรถยนต์หลายคันและจะมีพนักงานเหล่านี้ช่วยดูแลเรื่องรถยนต์ และคนสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “พนักงานขับรถ” เราก็จะเข้าไปช่วยดูแล เพื่อให้เขาเป็นพนักงานขับรถที่สมาร์ทที่สุด สามารถใช้สมาร์ทโฟน เพื่อใช้หาเส้นทางได้อย่างแม่นยำเป็นต้น ตรงนี้คือ ความใส่ใจเล็กๆน้อย ๆ และเราเชื่อว่าเป็นความภูมิใจ และเป็นเพียงแวลูที่ไทยยานยนตร์ได้มอบให้ลูกค้า

ชูนโยบายราคาเดียว


ธุรกิจรถยนต์เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องความเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ทำอย่างไรเราจะ “บริ๊งแวลู” ให้กับลูกค้า ลูกค้าที่ซื้อรถของไทยยานยนตร์ ก็เหมือนกับการซื้อของเล่น 1 ชิ้น เมื่อลูกค้าได้ใช้งานแล้วติดใจก็จะเกิดการบอกต่อ ที่สำคัญเราทำนโยบาย “ลูกค้าต้องจ่ายราคาเดียวกันหมด” ไม่มีการให้ส่วนลด เพราะทุกคนจะได้ความรู้สึกที่เท่าเทียมกัน