อุตรถยนต์ปีหนูปัจจัยลบเพียบ ผู้ประกอบการฟันธงขายล้านคันเท่าปีก่อน

To go with Thailand-economy-auto,FOCUS by William Davis This picture taken on June 18, 2013 shows employees working on a car assembly line at a Honda plant in Ayuthaya, north of Bangkok. Since seeing thousands of cars submerged in flood waters in 2011, the Thai car industry has shown remarkable powers of recovery. At a high-tech factory in the world's fastest growing auto production hub, industrial robots and white-suited workers put the finishing touches to hundreds of cars rolling off the assembly line each day. AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT
ค่ายรถชี้อุตฯรถยนต์ปีหนู มีแต่ “ทรง” เผยพบปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจโลก-ค่าเงินบาท ขอผ่าน 6 เดือนแรก น่าจะเห็นภาพตลาดชัดขึ้น หลายค่ายฟันธงขายเท่าปีก่อน “ล้าน” คันถือว่าเก่ง


เปิดศักราชใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังมีปัจจัยที่ให้เฝ้าระแวดระวังอยู่พอสมควร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมมุมมองผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดประเมินว่า ตลาดรถยนต์ในปีนี้น่าจะมียอดขายในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา คือ ประมาณ 1 ล้านคันมีปัจจัยลบที่รุมเร้ารอบด้าน ทั้งปัจจัยที่เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการความเข้มข้นของการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ กลายเป็นปัจจัยหลักที่ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ต้องเตรียมตั้งรับและหาทางออกให้ได้ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการจับจ่าย ส่วนปัจจัยลบจากภายนอกประเทศ มีทั้งสงครามการค้า การตั้งกำแพงภาษีของประเทศเพื่อนบ้าน ค่าเงินบาทที่แข็ง ดังจะเห็นได้ว่าตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา แม้จะมีรถยนต์รุ่นใหม่ทยอยเปิดตัวออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่ม “อีโคคาร์” กลับไม่ได้ทำให้ยอดขายเปรี้ยงปร้าง

นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบมาจากภาวะของสงครามการค้า น่าจะเป็นโอกาสและผลดีของกลุ่มประเทศอาเซียน หรือเออีซี โดยช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าเริ่มมีนักลงทุนจากจีนได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามแล้ว เพื่อผลิตสินค้าแล้วส่งออกไปจำหน่ายยังอเมริกา ส่วนประเทศไทยเองก็น่าจะเป็นโอกาสเช่นเดียวกัน ที่จะใช้โอกาสตรงนี้

ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และสามารถปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว ประเทศที่ฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจก่อนประเทศอื่นเสมอด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ปีนี้บริษัทมั่นใจว่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะภาพรวมของเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมโดยรวมจะทำให้ GDP ดี และน่าจะส่งผลให้คนระดับกลางและบน มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจะทำให้ความต้องการโมบิลิตี้มีเพิ่มขึ้น และลักเซอรี่คาร์น่าจะเติบโตอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับนายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธาน บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยังมั่นใจว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังคงมีแนวโน้มที่สดใส อันเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ในการส่งสัญญาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการขับเคลื่อนผ่านโครงการต่าง ๆ ที่คาดว่าปีนี้น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการประกาศมาตรการความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อออกมาเพิ่มเติม ทำให้เชื่อว่าจะมีความเข้มงวดมากไปกว่านี้ เพียงแต่จะเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดหนี้เสียมากขึ้น

“มาสด้ายังมองบวก และเรามีการเตรียมแนะนำสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องแน่นอน ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจยังสดใส ยอดขายน่าจะใกล้เคียงปี 2562 ที่ผ่านมา คือ อยู่ที่ราว 1 ล้านคัน ซึ่งเป็นมาตรฐานของตลาดรถยนต์บ้านเราไปแล้ว หรือหากแย่สุด ก็ร่วงลงไปที่ระดับ 9 แสนคัน” นายชาญชัยกล่าว

นายโมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวยอมรับว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่มองภาพของเศรษฐกิจได้ค่อนข้างลำบาก แต่ก็เชื่อว่าความพยายามรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับเหมาะสม และการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้งน่าจะกระตุ้นได้ดี คาดว่าความต้องการรถยนต์ในปี 2563 นี้ น่าจะอยู่ระดับ 1 ล้านคัน


ขณะที่นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขาย และการตลาดบริษัท ซูซูกิมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้น่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยยังต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ ยังมีปัจจัยบวกคือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องช่วยตัวเอง โดยตอนนี้ซูซูกิพยายามมองหาเครื่องมือมาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าให้สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ง่ายขึ้นควบคู่ไปกับการมองหาไฟแนนซ์เข้ามาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น