มิจิโนบุ ซึงาตะ “ลูกค้าโตโยต้าต้องได้ใช้รถอีวี”

แนวโน้มรถยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังกดดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ทุกยี่ห้อเร่งมือตอบสนองความต้องการลูกค้า ไม่เว้นแม้แต่ “บิ๊กโตโยต้า” ที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะมองข้ามรถอีวีโดยให้น้ำหนักกับเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง ที่เน้นพลังงานจาก “ไฮโดรเจน” แต่เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายใหญ่ “มิจิโนบุ ซึงาตะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ขึ้นเวทีแถลงข่าวพร้อมประกาศชัดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าลูกค้าโตโยต้าจะได้สัมผัสกับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์โตโยต้า รวมถึงเปิดมุมมองการรุกตลาดในภาวะที่ตลาดรถยนต์กำลังเข้าโหมด “หดตัว”

ปี 2563 ตลาดหดตัวถึง 7%

นายซึงาตะกล่าวว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์รวมในประเทศไทยลดลง 3% โดยมียอดขายอยู่ที่ 1,007,552 คัน แต่อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ยังถือได้ว่าเป็นครั้งที่สี่ในประวัติศาสตร์ของตลาดรถยนต์ไทยที่มียอดขายถึงระดับ 1 ล้านคัน ถึงแม้ว่าตลาดรถยนต์มีการหดตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่เดือนกันยายนผ่านมา

โดยสถิติการขายรถยนต์ในประเทศปี 2562 ทำได้ 1,007,552 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 398,386 คัน ลดลง 0.3% รถเพื่อการพาณิชย์ 609,166 คัน ลดลง 5.1% รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 492,129 คัน ลดลง 3.8% และรถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 431,677 คัน ลดลง 3.4%

ส่วนแนวโน้มตลาดรถยนต์ของปี 2563 นับเป็นอีกปีที่ท้าทาย เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังคงเผชิญกับหลายปัจจัย จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและมาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น

ดังนั้นเราจึงคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์รวมในประเทศจะอยู่ที่ 940,000 คัน ลดลงประมาณ 7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 358,500 คันลดลง 10.0% รถเพื่อการพาณิชย์ 581,500 คัน ลดลง 4.5% ส่วนโตโยต้าปีที่ผ่านมาขายได้ 332,380 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 33%

ขณะที่ปี 2563 โตโยต้าวางเป้าการขาย 310,000 คัน ลดลง 7% แต่จะยังครองส่วนแบ่ง 33% เหมือนเดิม

3 ปี ลูกค้าได้ใช้ “รถอีวี”

นายซึงาตะกล่าวย้ำอีกว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปในรอบศตวรรษ โดยโตโยต้ามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรจากเดิมที่เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สู่การเป็น

“องค์กรแห่งการขับเคลื่อน” (mobility company) ซึ่งหมายความว่าเราจะมุ่งเดินหน้าพัฒนาการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาจะทำควบคู่การแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น รถยนต์ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งโตโยต้าได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ หลังบอร์ดบีโอไอประชุมครั้งที่ 1/2563 ซึ่งตามแผนของโตโยต้าจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี ตามกรอบเงื่อนไขบีโอไอ หรือราวปลายปี พ.ศ. 2566 จะได้เห็นรถยนต์ทั้ง 2 ประเภทออกสู่ตลาดประเทศไทย

ส่วนงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้จะน้อยกว่าโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดที่ใช้ถึง 2 หมื่นล้าน เนื่องจากเป็นการต่อยอด คาดว่าจะใช้เพิ่มอีกราว 2,000 ล้านบาท หรือ 10% ของโครงการเก่า

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งผู้ประกอบการเกือบทุกค่ายมีความพยายามแนะนำรถกลุ่มนี้ออกสู่ตลาด ซึ่งทำได้เพียง 25,000-30,000 คัน และในจำนวนนั้นมีสัดส่วนของรถอีวีน้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความพร้อมในหลาย ๆ ด้านของประเทศไทย รวมทั้งการตอบรับของลูกค้าเองด้วย

พัฒนา “สังคมที่ดียิ่งขึ้น”

ตลอดระยะเวลากว่า 57 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โตโยต้ามีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเดินหน้าพัฒนาให้เกิด “สังคมที่ดียิ่งขึ้น” (ever-better society) ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการแนะนำรถยนต์ไฮบริดในหลากหลายรุ่น รวมไปถึงการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดในประเทศไทย และการพัฒนาไฮบริดเจเนอเรชั่นที่ 4

ไม่เพียงเท่านี้ โตโยต้ายังพัฒนาระบบการจัดการแบตเตอรี่ไฮบริดแบบครบวงจร ซึ่งเราเชื่อว่าความพยายามทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

นอกจากนี้โตโยต้ายังเน้นย้ำต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากโครงการที่มีมากกว่า 30 ปี นั่นคือ “โตโยต้า ถนนสีขาว” โครงการที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เพื่อนำไปสู่การสร้าง “สังคมคนขับรถดี” โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมากับ “หลักสูตรการขับขี่ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้แทนจำหน่าย ประชาชน นักศึกษา และผู้ขับขี่รถสาธารณะ โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 70,000 คน

ยันไม่ทิ้งโครงการคืนกำไรสู่สังคม

โตโยต้ายังคงเน้นการคืนกำไรสู่สังคม โดยมีโครงการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ “โตโยต้า ปลูกป่าชายเลน” ซึ่งเราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ชื่อ “โตโยต้า เมืองสีเขียว”

โดยในปีนี้โตโยต้าวางแผนที่จะปลูกป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอีก 50,000 ต้น ส่งผลให้จำนวนต้นไม้ที่เราปลูกนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2547 มีรวมทั้งหมดถึง 692,000 ต้น

นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าจัดกิจกรรมเก็บขยะชายเลน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยเรามีเป้าหมายเก็บขยะให้ได้ 20 ตันในปีนี้ ซึ่งเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วนับได้ว่าเราจะสามารถช่วยให้มีการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 9,100 ตัน

ในขณะเดียวกัน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เราได้ตั้งเป้าหมายที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ผ่านศูนย์การเรียนรู้ 2 แห่งของเรา ได้แก่ “โตโยต้าไบโอโทป” ที่โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า บ้านโพธิ์ และ “โตโยต้า เมืองสีเขียวอยุธยา” ซึ่งประชาชนได้ให้ความสนใจศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 2 แห่งนี้เป็นอย่างดี โดยมีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมรวมตั้งแต่เปิดศูนย์กว่า 77,000 คน

และอีกหนึ่งความมุ่งมั่นในการส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เรามีโครงการ “โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจและหลักปฏิบัติของโตโยต้าให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลกำไรและพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมาเราได้ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ธุรกิจชุมชน 19 แห่งทั่วประเทศ และในปีนี้เราวางแผนที่จะขยายการดำเนินการเพิ่มเติมอีก 13 แห่ง

ศก.ทรุดส่งออกทรุดตาม

ในส่วนการส่งออกปี 2562 ที่ผ่านมา โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 264,775 คัน ลดลง 10% ทั้งนี้ปริมาณการผลิตสำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 570,850 คัน ลดลง 3% สืบเนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายภูมิภาค เช่น โอเชียเนีย อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปีนี้ คาดการณ์ไว้ว่าปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ 263,000 คันลดลงจากปีที่ผ่านมา 1% อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศคู่ค้ายังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้แผนผลิตสำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกจะอยู่ที่ 556,000 คัน ลดลง 3%

หนุนโอลิมปิกพาราลิมปิกเต็มสูบ

นายซึงาตะยังย้ำว่า โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะมีวันที่ 24 กรกฎาคม-9 สิงหาคมนี้

ตามมาด้วยกีฬาพาราลิมปิกซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม-6 กันยายนนี้ โดยได้ให้การสนับสนุนรถโตโยต้า คอมมิวเตอร์ รุ่นใหม่ล่าสุดสำหรับนักกีฬาโอลิมปิก และรถโตโยต้า คอมมิวเตอร์ เวลแค็บ ที่มีการปรับแต่งพิเศษสำหรับนักกีฬาพาราลิมปิก ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่โตโยต้ามีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อน เราตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ความสามารถที่มีในการช่วยพัฒนาอุปกรณ์ในการฝึกซ้อมของนักกีฬาพาราลิมปิก และยินดีที่จะมอบโอกาสให้นักกีฬาพาราลิมปิกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโตโยต้า เริ่มต้นด้วยการรับนักกีฬาพาราลิมปิก 4 คนเข้ามาเป็นพนักงานของบริษัท