ปนัดดา เจณณวาสิน “จากวิสัยทัศน์-หน้าที่-เป้าหมาย สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน”

คนไม่มีความสุข…ถ่ายทอดความสุขให้คนอื่นไม่ได้… ดังนั้น บริษัทต้องพิจารณาให้พนักงานมีความสุขก่อน”

นี่คือคำพูดที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ หรือบุคลากรมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง

“ปนัดดา เจณณวาสิน” กรรมการรองผู้จัดการ ผู้บริหารหญิงคนไทยคนแรก และคนเดียวที่มีตำแหน่งในระดับบอร์ดบริหารของตรีเพชรอีซูซุ ได้ขยายภาพความสำคัญของ “คน” ที่มีต่อองค์กรแห่งนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เพราะนั่นคือบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงขององค์กร

ดังนั้น ในแต่ละปีอีซูซุจะมีกระบวนการ “pulse survey” เพื่อให้รู้ว่าพนักงานคิดอย่างไร ? ต้องการอะไรจากองค์กร ?

ขณะที่ในระดับผู้จัดการฝ่ายก็ต้องมีการพบปะกับ “ประธาน” เพื่อร่วมพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ เพื่อเป็นการสำรวจว่า พนักงานอยู่กับบริษัทแล้วยังมีความสุขดีหรือไม่

เป้าหมายสำคัญ คือ การแสดงให้เห็นว่าบริษัท “แคร์พนักงาน” ในทางตรงกันข้าม บริษัทก็คาดหวังและตั้งเป้ากับพนักงานด้วยเช่นกันในหลาย ๆ มิติ เช่น

1.พนักงานต้องมีความสามารถเชิงลึกรอบด้าน well-roundedness ไม่ใช่รู้แบบผิวเผิน หรือรู้แค่ด้านเดียว สามารถทำอะไรก็ได้

2.flexibility หรือความยืดหยุ่น สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปก็ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่ว่ากำหนดอะไรไว้ก็ตาม กลยุทธ์ต้องสามารถเปลี่ยนได้ทันที ไม่มีอะไรถาวร และพร้อมปรับเปลี่ยนได้ตลอด

ทั้งนี้ ตรีเพชรฯเชื่อว่า หากบุคลากร มี ES (employee satisfaction) สูง มีความสุขกับการทำงานและมีความยืดหยุ่น ความรอบรู้ในเชิงลึก จะทำให้องค์กรกลายเป็นเรือเร็วที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นแต่เรือสินค้าลำใหม่ที่เชื่องช้า

“ตรีเพชรฯต้องเป็นสปีดโบ๊ต เนื่องจากตรีเพชรฯเชื่อว่า เมื่อองค์กรเป็นแบบนี้แล้วจะสามารถฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี”

“ปนัดดา” เล่าด้วยแววตาและสีหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ เนื่องจากความโชคดีที่ได้ดูแลในส่วนงานของ “สำนักงานยุทธศาสตร์องค์กร” ทำให้ได้เห็นภาพรวมของทั้งองค์กร

พร้อมทั้งฉายภาพให้เห็นว่า วิสัยทัศน์ หรือ vision คือ สิ่งที่องค์กรจำเป็นต้องมี เพราะเป็นเครื่องกำหนดทิศทางขององค์กร ถือเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญ

วิสัยทัศน์ขององค์กร คือ สิ่งที่องค์กรอยากจะเป็น คือ การกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่อยากจะเป็นร่วมกัน

ดังนั้น อีซูซุจึงมีเสาหลัก 3 ต้น “vision-mission-corporate goal” ซึ่งมีการกำหนดในแผนทุกปี เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

กลายเป็น “วิถีอีซูซุ” ที่ยึดปฏิบัติกันต่อมา

วิสัยทัศน์ (vision) ของตรีเพชรอีซูซุ คือ “วิถีอีซูซุ” ที่เราคุ้นเคยกัน คือ”ผู้ใช้สุขใจ เพิ่มพูนรายได้ ช่วยให้สังคมพัฒนา”

อะไรคือ วิถีอีซูซุ “ปนัดดา” ลงลึกให้เห็นที่มาและที่ไป เนื่องจากอีซูซุผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ฉะนั้น อีซูซุจึงมีหน้าที่ในการผลิตรถที่มีคุณภาพสูง เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ทางการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการเดินทางในชีวิตประจำวัน เพราะ “อีซูซุ” เชื่อว่า หากผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงแล้ว จะทำให้ “ผู้ใช้” เกิดความสุขใจ ไม่ต้องซ่อมบ่อย…และยัง “เพิ่มพูนรายได้” ให้กับผู้ใช้ด้วยคุณภาพสินค้าที่ดี

ทำไมถึงเพิ่มพูนรายได้ ? เพราะรถอีซูซุ คือ รถเพื่อการพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจของผู้ใช้ดี แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้สังคมดีตามไปด้วย

“อีซูซุ” ต้องการเป็น “องค์กร” ที่เป็น”นิติบุคคล” ที่ดีของสังคม จึงมีหน้าที่ช่วยให้สังคมไทยพัฒนา เนื่องจากอีซูซุอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 62 ปี ได้รับการสนับสนุนที่ดี เจริญเติบโตอย่างก้าวหน้าจนเป็น “ต้นแบบ” ให้อีซูซุทั่วโลกได้

เพราะว่า ประชาชนชาวไทยให้การสนับสนุน อีซูซุมีหน้าที่ต้องตอบเเทนสังคม อันนี้คือ “เป้า” หรือ “vision” ของตรีเพชรอีซูซุ

“vision” คือ การโฟกัสเรื่องในอนาคต ขณะที่ตรีเพชรอีซูซุต้องกำหนด “corporate mission” หรือพันธกิจขององค์กรในแต่ละปีด้วย

“อีซูซุ” ยังไม่เคยเปลี่ยน “vision” ขององค์กรเลย เนื่องจากตรีเพชรอีซูซุต้องการเป็น “what we want to be”

“หน้าที่” หรือ “mission” คือ สิ่งที่ ตรีเพชรอีซูซุต้องทำ เพื่อรักษา “วิสัยทัศน์” หรือ what we must do to achieve the vision ทุกปีอีซูซุจะกำหนดหน้าที่ หรือ “mission” ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญจะต้องมีการประกาศให้แต่ละหน่วยงาน แต่ละองค์กรได้รับรู้ เพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกัน

หน้าที่ หรือ mission คือ เป้าหมายในระยะที่สั้นกว่า

เป็นการทำอย่างไร จะให้บรรลุ vision ที่กำหนดไว้ได้

ซึ่งแต่ละปีที่สภาพธุรกิจ สภาพแวดล้อม ความต้องการ พฤติกรรมของผู้บริโภคแตกต่างกัน ดังนั้น ตรีเพชรอีซูซุ จึงกำหนด mission ในแต่ละปีไม่เหมือนกัน

ตัวอย่างเช่น mission ที่กำหนดในปี 2562 ที่ผ่านมา มี 5 ข้อ ได้แก่

1.การรักษาความเป็นผู้นำของตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ พร้อมด้วยความเชื่อมั่นและความพอใจสูงสุดของลูกค้า

2.การขยายขอบเขต “ประชาคมอีซูซุ” ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มจำนวนผู้ชื่นชอบแบรนด์อีซูซุให้มากขึ้น

3.การเป็น “นิติบุคคลที่ดี” ของสังคม

4.การขยายตลาดรถยนต์ขนาดเล็ก (ปิกอัพ) เพิ่มการรับรู้ “แบรนด์อีซูซุ” ไปยังประเทศลาว และกัมพูชา

5.การเป็น “ต้นแบบ” ด้าน “การตลาด” ให้กับอีซูซุทั่วโลก

ทั้ง 5 คือ mission ที่ทุกหน่วยงานภายในตรีเพชรอีซูซุจะต้องยึดเป็นหลัก และมีแผนงานของตัวเอง เพื่อให้บรรลุ corporate goal หรือเป้าหมายต่าง ๆ ร่วมกัน แน่นอนว่า ทุกคนต้องรู้ว่า mission คืออะไรก่อน การกำหนดแผนงานของแต่ละหน่วยงานก็ต้องยึด mission ของแต่ละปีเป็นแกนหลัก

“ปนัดดา” ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น การกำหนดว่า อีซูซุต้องการรักษาความเป็นผู้นำของตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์พร้อมด้วยความเชื่อมั่นและความพอใจสูงสุดของลูกค้านั้นหมายความว่า

“อีซูซุไม่ได้ต้องการแค่ส่วนแบ่งทางการตลาด แต่ต้องการสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นสูงสุดของลูกค้า
ส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นเพียงผลพลอยได้ ถ้าลูกค้าไม่เชื่อมั่นไม่พอใจแล้ว ระยะยาวอีซูซุจะอยู่ไม่ได้ ไม่สามารถ
ทำให้ผู้ใช้สุขใจและเพิ่มพูนรายได้ ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ระบุไว้ได้”

อีซูซุเชื่อว่าลูกค้าจะพอใจในแบรนด์มากขึ้นและพอใจกับราคาขายต่อที่มีสูงสุดในตลาด หากอีซูซุต้องการส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจกับเรื่องความพอใจ และความมั่นใจของลูกค้า ในอนาคตอีซูซุก็จะไม่สามารถบรรลุ vision ได้

ล่าสุด ตรีเพชรอีซูซุเพิ่งได้รับมอบหมายให้ทำตลาดรถยนต์ขนาดเล็ก (รถปิกอัพและรถอเนกประสงค์) ที่ประเทศลาวและกัมพูชา ซึ่ง brandawareness ทั้ง 2 ประเทศนี้ยังต่ำมาก เนื่องจากอีซูซุเข้าไปทำตลาดช้ากว่ายี่ห้ออื่น ๆ ดังนั้น ตรีเพชรอีซูซุจึงมีหน้าที่ทำให้แบรนด์ brand awareness สูงขึ้น และดีขึ้นตามลำดับ

เนื่องจากอีซูซุประสบความสำเร็จมากในประเทศไทย วันนี้ตรีเพชรอีซูซุจึงเป็นต้นแบบการทำตลาดของอีซูซุทั่วโลก และอะไรที่ทำให้ตรีเพชรอีซูซุประสบความสำเร็จ คือ การขายโดยไม่ร่วมสงครามราคา และสร้าง customerengagement ทำให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

จาก vision สู่ mission และ corporate goalcorporate goal นั้น คือรายละเอียดของแผนปฏิบัติการซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ เป็นการแตกย่อยรายละเอียดออกมาจาก mission โดยเป็นตัวที่บอกได้ชัดเจนว่าปีนี้ ตรีเพชรอีซูซุต้องการอะไรบ้าง?

corporate goal สามารถบอกเลยว่า อีซูซุต้องการขายรถ ต้องการรถเข้าศูนย์บริการ ฯลฯ ที่จำนวนเท่าใด และปัจจัยอื่นใดอีกบ้างที่องค์กรต้องการในแต่ละปี

ทั้งนี้ เมื่อได้ครบทั้ง vision-mission-goal แล้ว แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในองค์กรก็จะกำหนดออกมาสู่ “แผนธุรกิจ”

ทุกฝ่ายจะต้องสร้างแผนธุรกิจของตัวเองบนพื้นฐาน vision-mission และgoal แล้วต้องนำเสนอมายัง “สำนักงานยุทธศาสตร์องค์กร” โดยนำเสนอแผนงาน และ KPI ต่อประธานบริษัท โดยแต่ละฝ่ายต้องชี้แจงแผนงานที่จะไปทำเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย หรือหากไม่ได้ตามเป้าหมายจะมีการทบทวนแผนธุรกิจดังกล่าวอีกครั้งในช่วงกลางปี

การประกาศ vision-mission และ goal นั้น จึงถือว่าสำคัญมากสำหรับตรีเพชรอีซูซุ เพื่อให้ทุกคนต้องรู้ว่า business corporate goal คืออะไร แล้วถึงจะไปตั้ง department corporate goal ให้สอดคล้องกับ corporate goal ได้ หากไม่มี vision ก็จะกำหนด missionและไปสู่ corporate goal ไม่ได้เช่นกัน

เคล็ด(ไม่)ลับ สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

ตรีเพชรอีซูซุประสบความสำเร็จมาเป็นระยะเวลา 62 ปีก็จริง

แต่ “ปนัดดา” ยอมรับว่า สถานการณ์เดียวกับอุตสาหกรรมอื่น คือ การ “ดิสรัปชั่น” ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้ขอบเขต…

ไม่เหมือนในอดีตที่คาดการณ์ได้ง่าย ปัจจุบันการอ่านผู้บริโภคทำได้ยากขึ้น

ความท้าทายของตรีเพชรอีซูซุ คือ การก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 7 ได้อย่างมั่นคงแม้ว่าขณะนี้จะผ่านมาได้ 2 ปี ก็ยังถือว่าดีอยู่ แต่ทำอย่างไร ตรีเพชรอีซูซุจะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงในทศวรรษที่ 7

สามารถก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 8 ได้แข็งแกร่ง โดยที่ทำอย่างไร ตรีเพชรอีซูซุจะฉลอง 70 ปี ให้ยิ่งใหญ่เท่ากับการฉลอง 60 ปีที่ผ่านมา

ที่ยังคงเป็นโจทย์ และการบ้านข้อใหญ่ที่ผู้บริหาร และทีมตรีเพชรอีซูซุต้องหาคำตอบ เพื่อก้าวข้ามทศวรรษที่ 7 ไปสู่ทศวรรษที่ 8, 9 และศตวรรษได้อย่างมั่นคง…