“เทวัญ” จบไม่ลง เชฟโรเลตลดครึ่งราคา แนะฟ้อง-ไกล่เกลี่ยดีลเลอร์ปมวางเงินจองแต่ไม่มีรถยนต์

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2563) เวลา 13.00 น. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธงชัย ลืออดุลย์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เชิญผู้แทนบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) หารือกรณีที่บริษัทประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย และมีการปรับลดราคารถยนต์ รุ่นแคปติวา ลง 50% ซึ่งมีผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์และทำการจองรถยนต์รุ่นนี้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการผู้บริโภค (สคบ.) จำนวน 16 ราย ณ ปัจจุบัน

ที่ผ่านมาภายหลังจากการประกาศยุติการจำหน่ายในประเทศไทย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการ ดังนี้

1. ไทย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) มีบริการหลังการขายและดูแลผู้บริโภค มีการรับประกันคุณภาพรถยนต์ จำนวน 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร หรืออย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อนและการซ่อมบำรุง ณ ศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท เชฟโรเลตฯ

2.ผู้บริโภคสามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท เชฟโรเลตฯ ทั่วประเทศ

3. บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีคลังอะไหล่แท้มาตรฐานทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ไว้ครบถ้วน และเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

4. บริษัท เชฟโรเลตฯ ไม่มีนโยบายคืนเงินให้กับผู้บริโภคเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

ภายหลังการหารือ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากประเด็นที่ผู้บริโภคร้องเรียนต่อ สคบ. ส่วนมาก เป็นเรื่องการซื้อรถยนต์ของบริษัทก่อนการประกาศลดราคาลง 50% เพียงไม่นาน ซึ่งผู้บริโภคมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีระยะเวลาการประกาศแจ้งผู้บริโภคก่อน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการวางเงินจองรถยนต์ในช่วงก่อนการประกาศลดราคา แต่ไม่มีสินค้าจำหน่ายและทางบริษัทตัวแทนขอยกเลิกใบจองและให้ไปรับเงินคืน

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการพิจารณากับ สคบ. แล้วว่า จากกรณีที่บริษัททราบดีอยู่แล้วว่าไม่มีสินค้า แต่ยังออกใบจองและรับเงินจองจากผู้บริโภค ถือเป็นความผิดที่ สคบ. สามารถดำเนินการได้ เพราะสินค้ามีไม่เพียงพอกับปริมาณการจองที่เกิดขึ้น ตามกฎหมายสามารถฟ้องทั้งบริษัทตัวแทนและบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ได้ แต่ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ขอให้ทางผู้แทนบริษัทได้พูดคุยหารือกันในส่วนของมาตรการชดเชย และการดูแลที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคต่อไป