มุ่งมั่นกับ Vision-DNA ไทยซัมมิท “ก่อนจะสร้างชิ้นส่วน…เราสร้างคน”

“หลาย ๆ องค์กรอาจจะมีวิสัยทัศน์ ที่เป็นเพียงแค่คำที่สวยหรู ถูกติดไว้ที่ข้างฝาเท่านั้น คำถามคือผู้บริหาร ผู้บริหารระดับสูง อินไปกับวิสัยทัศน์ด้วยหรือไม่ ?”

“ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” ถือเป็นผู้บริหารสาวระดับแนวหน้าของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ฉายแววความมุ่งมั่น มีสไตล์การบริหารงานที่ชัดเจน ถึงลูกถึงคน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับ “คน” และ “ทีมเวิร์ก” มาเป็นอันดับต้น ๆ ด้วยการกำหนดเป้าหมายขององค์กร และพร้อมจะเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ด้วยพื้นฐานที่มั่นคงและชัดเจน สร้าง-สานต่อ-ติดตาม “วิสัยทัศน์” ให้กลายเป็นรูปธรรมความสำเร็จขององค์กรในท้ายที่สุด

สู่ความเป็น “เวิลด์คลาส”

ผู้บริหารคนเก่งปักธงชัดเจนว่า ต้องการขับเคลื่อน “ไทยซัมมิท” ไปสู่ความเป็น “เวิลด์คลาส” และพร้อมพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถนำไทยซัมมิทให้ก้าวขึ้นไปยืนเทียบชั้นยักษ์ใหญ่ชิ้นส่วนยานยนต์สัญชาติต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกได้ อย่างไม่อายใคร ที่เป็นเช่นนั้นได้ หัวใจสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ vision หรือ วิสัยทัศน์ ที่ชัดเจนนั่นเอง

ในมุมมองของ “ชนาพรรณ” ถือว่าvision เป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวแบบไทยซัมมิท เป็นเหมือนเข็มทิศเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง

จริงอยู่ ทุกองค์กรจะต้องมี หรือกำหนดวิสัยทัศน์ หรือ vision อยู่แล้ว แต่จะต้องชัดเจน ทำได้จริง ที่สำคัญ ตัวผู้บริหารเองจะต้องรู้ และอินไปกับวิสัยทัศน์ด้วย

ไทยซัมมิท และชนาพรรณ ใช้วิธีการ “สำรวจตัวเองเสมอ” ว่า การดำเนินงานในแต่ละวัน ๆ นั้น ตัวเองหรือทีมงานสามารถดำเนินงานเพื่อไปสู่วิสัยทัศน์ที่องค์กรได้วางไว้หรือไม่

แผนธุรกิจระยะยาวของไทยซัมมิท วางไว้ครั้งละ 5 ปี ภายใต้การบริหารงานของ “ชนาพรรรณ” ปัจจุบันอยู่ในช่วงปลายแผนธุรกิจฉบับที่ 4 ซึ่งในเป้าหมายนั้นก็คือ การขยายธุรกิจไปสู่ระดับเวิลด์คลาส จากที่แผนธุรกิจแรกตั้งเป้าไว้เพียงในอาเซียนเท่านั้น

ไทยซัมมิทย้ำเตือนและบอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า “vision” ที่ได้ตั้งไว้นั้น องค์กรจะสามารถเดินไปตามแผนงานและสามารถทำได้จริงหรือไม่ มีเป็นการตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา

สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่าสมัยก่อนการขยายตัวของไทยซัมมิท ส่วนหนึ่งสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ หากอุตสาหกรรมเติบโต ไทยซัมมิทก็จะเติบโตตามไปด้วย เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่อยู่แค่ในประเทศเท่านั้น

ซึ่งหากเป็นแบบนั้น “ชนาพรรณ” บอกว่า นั่นไม่ถือว่าไทยซัมมิท “เก่ง”

แต่ถ้าดูจาก vision ในปีหลังว่า ยอดขายของไทยซัมมิทมีการเติบโตขึ้นมาก ขณะที่กำลังการผลิตรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง หรือไม่ได้เพิ่ม

นั่นหมายความว่า สิ่งที่ไทยซัมมิทได้ลงทุนลงแรง ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคน ฯลฯ นั้น เริ่มผลิดอกออกผล สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว

ซึ่งนี่คือ คำตอบที่ผู้บริหารสาวต้องการย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของ “วิสัยทัศน์” ที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องมี

“ชนาพรรณ” ฉายภาพว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่า ทุกองค์กรต่างมีวิสัยทัศน์อยู่แล้ว แต่การ walk the talk การมุ่งมั่นทำตามสิ่งที่พูดไว้ คือ สิ่งที่จะทำให้สำเร็จ เนื่องจากวิสัยทัศน์นั้นจะเป็นแผนระยะยาว บางครั้งทำ ๆ แล้วลืม หรือยุ่ง ๆ แล้วลืม at the end ทำให้ผู้บริหาร รวมทั้งคนในองค์กร ไม่ได้โฟกัสมากนัก ชนาพรรณจึงย้ำเสมอถึงเรื่องของ “การกลับมาสำรวจตัวเอง”

ทีมเวิร์กทูซักเซส

สโลแกนของไทยซัมมิท คือ พูดอยู่เสมอว่า Before We Build Parts, We Build People นั่นคือ “ก่อนที่เราจะสร้างชิ้นส่วน เราต้องสร้างคนเสียก่อน”

ถือเป็นคำตอบที่ชัดเจนและย้ำให้เห็นถึงความสำคัญ การสร้าง “คน” ได้ชัดเจนที่สุด ว่าไทยซัมมิท เน้นเรื่อง “คน” จริงๆ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดของไทยซัมมิท คือ วัฒนธรรมองค์กรที่เกี่ยวกับ “คน” และ “ทีมเวิร์ก”

ไทยซัมมิทจะเน้นในเรื่องของteamwork และการมี commitment ความมุ่งมั่น เเละความเป็นผู้นำ การเป็น “one man show” อาจจะดี เพื่อให้มีการบริหารด้วยความรวดเร็ว แต่ไม่ใช่สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งต้องมีความเกี่ยวพันหลายส่วน และไทยซัมมิทยึดความเป็น “teamwork” เป็นสำคัญ

DNA ของคนไทยซัมมิท

ไทยซัมมิทมีการวางเป้าหมายไปข้างหน้า… และหมั่นสำรวจตัวเอง เพื่อเดินไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นี่คือเคล็ดไม่ลับข้อแรกที่ “ชนาพรรณ”ใช้ในการขับเคลื่อนอาณาจักรแสนล้านแห่งนี้

ส่วนข้อสอง คือ DNA ในแบบฉบับของคนไทยซัมมิท คือ จะต้องยึดและปฏิบัติจริง

สาม คือ “การบริหารจัดการ”

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ action plan ที่จะต้องมั่นใจว่ามีแล้ว และ “แน่น” พอ หรือต้องตอบโจทย์กับอนาคตของคุณได้

ดังนั้น สำหรับบางองค์กรแผนระยะยาว อาจจะเป็นแผน 5 ปี ส่วน action plan อาจจะต้องดูทุก ๆ 1-2 ปี แต่ส่วนใหญ่หลายองค์กรที่ไม่สำเร็จ มันจะจบที่ตรง action plan ที่ในระหว่างปีไม่มีการรีวิว ติดตามว่าทำจริงหรือไม่ ตามแผนที่วางไว้

อย่ากลัว Disruption

กับคำถามที่ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งที่กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาทำลายล้าง (disrupt) นั้น ชนาพรรณยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิดกัน และเชื่อมั่นว่าไทยซัมมิทพร้อมเผชิญหน้าเสมอ ทุกคนพูดเรื่อง disruption ต้องถามก่อนว่า โจทย์ของ disruption คืออะไร ?

อาจเป็นผลกระทบเชิงลบ หรืออาจเป็นผลดีก็ได้

ดังนั้น ต้องตีโจทย์ให้แตกว่า บางครั้ง disruption คือ opportunity ของธุรกิจ

หลายคนชอบถามว่า เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามา ไทยซัมมิทจะถูก disrupt หรือไม่ ต้องไม่ลืมว่า ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นยาวมาก คนทั่วไปชอบคิดว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะทำอย่างไร จะอยู่รอดหรือไม่

“ถ้าคุณยังตีโจทย์ไม่ถูก มันก็จะทำให้การบริหารองค์กรผิด”

“ชนาพรรณ” เปรียบเทียบให้เห็นภาพ หลาย ๆ ครั้ง คือ การได้ผลกระทบมาจากอุตสาหกรรมอื่น แต่องค์กรก็ต้องมีการวิเคราะห์ ทำ “swot analysis”

เพื่อให้องค์กรกลับมาเข้มแข็ง มันก็สามารถตอบโจทย์ได้

เคล็ด (ไม่) ลับ การบริหารจัดการ

“ชนาพรรณ” ยืนยันว่า ต้องสำรวจตัวเอง งานที่ทำทุกวันมันนำไปสู่เป้าหมาย เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการหรือไม่

ผู้บริหารจะต้องชัดเจน บางครั้งงานที่เข้ามาด่วน แต่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของวิสัยทัศน์ ควรจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ผู้บริหารต้องตอบตัวเองว่า เรื่องด่วน ๆ ทุกวันนี้ได้ไปรบกวนกระบวนการไปสู่วิสัยทัศน์หรือไม่

สิ่งที่ “ชนาพรรณ” ได้เล่ามา ล้วนแล้วแต่มาจากประสบการณ์ที่ผ่านการบ่มเพาะ ลองผิด ลองถูก จากการบริหารธุรกิจ ขยายภาพให้เห็นว่า ในช่วงแรกของการทำงานที่ไม่ประสบความสำเร็จของตนเองก็มีเยอะ แต่นั่นถือเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และต้องนั่งทบทวนว่า ทำแล้วมันได้ผลหรือไม่ มันคือสิ่งที่ยืนยัน

การจัดลำดับความสำคัญ คือ ปัจจัยที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ถูกต้อง เหมาะสม

เช่นเดียวกับการทบทวนตัวเองตลอดเวลา เพื่อ

1.ทำให้สำเร็จ

2.ในกรณีที่ไม่สำเร็จ

2.1 ปรับเปลี่ยนแก้ได้ทันเวลา

2.2 เรียนรู้ว่าไม่สำเร็จเพราะอะไร

เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับนำไปแก้ไข ไม่ทำซ้ำ

“ชนาพรรณ” ยอมรับว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีความยากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายด้วยเช่นเดียวกัน

ไม่มีใครพูดว่าอุตสาหกรรมของตัวเองที่ทำอยู่จะง่ายและสบาย ทุกอุตสาหกรรมมีความยาก …แล้วคุณจะไม่ทำเหรอ ? ความรู้สึกที่ว่าธุรกิจของตัวเองยากขึ้นทุกวัน มันไม่ใช่จะเอามาบ่น ยากก็คือยาก คนอื่นเขาก็ทำงานไม่ได้ง่ายไปกว่าเราเลย

ดังนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะต้องกังวล เพราะถึงที่สุดแล้ว ผู้บริหารและผู้นำองค์กรต่าง ๆ จะต้องก้าวข้ามโจทย์นี้ไปให้ได้

และนี่คือมุมมองที่สะท้อนวิธีคิด หลักการบริหารงานและองค์กร ที่เรียกได้ว่าเป็นพิมพ์เขียว ที่ฝังอยู่ใน DNA ของคนไทยซัมมิท

ผ่านการบอกเล่าจากแม่ทัพหญิงคนแกร่ง “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ”