ออร์เดอร์ชิ้นส่วนรถวูบ2เดือน หวั่นโควิดต้อนรายเล็ก‘ขาย-ปิดกิจการ’

Photographer: Taylor Weidman/Bloomberg via Getty Images

แรงงานอุตฯผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระทึก พิษ “ศก.-โควิด” ทุบออร์เดอร์วูบ 2 เดือนติด “มี.ค.-เม.ย.” หวั่นวิกฤตลามหนักถึงขั้น “ขาย-ปิดกิจการ” ผู้ประกอบการปรับแผนลดค่าใช้จ่ายประคองตัว “ส.อ.ท.” ปรับเป้า “รถยนต์นั่ง-มอเตอร์ไซค์” ลดลงแสนคัน ขณะที่“ฟอร์ด-ฮอนด้า” ปิดโรงงานในไทยชั่วคราวย้ำพร้อมดูแลพนักงาน-ลูกค้า

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤตไวรัส
โควิด-19 ระบาดส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลายราย เนื่องจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ “ระงับคำสั่งซื้อ” ไปจนถึง เม.ย. ทำให้ต้องเร่งลดต้นทุนและบริหารจัดการตามปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละผู้ประกอบการเพื่อยืดเวลาการปิดกิจการออกไป ซึ่งมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ออกมาก่อนหน้านี้ไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้นายจ้างและลูกจ้างได้ทั่วถึง

เช่น กรณีไม่ให้หยุดช่วงสงกรานต์ เพราะช่วงนั้นไม่มีคำสั่งซื้ออยู่แล้ว ทั้งมองว่าหากภาครัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในอีก 2 เดือนข้างหน้า จะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดเล็กถึงขนาดกลางปิดกิจการเพิ่ม 10-20 แห่งเป็นอย่างน้อย และอาจถึงกับปิดกิจการหนีโดยไม่จ่ายเงินให้ลูกจ้างตามกฎหมายด้วย

“หากมีการปิดกิจการก็จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นแน่ แม้แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันเพียงแต่สถานะการเงินดีจึงยังเดินหน้าต่อไปได้”

รายเล็ก-กลางปรับแผนอุตลุด

สำหรับวิธีที่ผู้ประกอบการแต่ละรายดำเนินการ ประกอบด้วย 1.ลดการทำงานล่วงเวลา 20-30% จากภาวะปกติ 2.ให้ลูกจ้างหยุดงาน แต่จ่ายค่าจ้าง 75% หรือบางแห่งจ่าย 50% 3.เลิกจ้างพนักงานรับเหมา และ 4.ขายหุ้นหรือรวมกิจการในโรงงานที่ผลิตสินค้าคล้ายกัน 5.ลดจำนวนพนักงาน 6.แบ่งออร์เดอร์ระหว่างโรงงาน 7.ปรับตัวไปสู่ธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะสินค้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และ 8.ขายกิจการให้ผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน

โควิด-19 ทุบเป้าผลิต 1 แสนคัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้สะท้อนภาพรวมการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2563 โดยระบุว่า พร้อมปรับเป้า
ลดลง 1 แสนคัน จากเดิม 2 ล้านคันต่อปี เหลือ 1.9 ล้านคัน ส่วนจักรยานยนต์เป้าเดิม 2.05 ล้านคัน เหลือ 1.65 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดการผลิตรถยนต์ 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2563) ทำได้ 306,870 คัน ลดลง 15.38% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 118,336 คัน ลดจากช่วงเดียวกันปีก่อน 19.96% รถยนต์โดยสารขนาดต่ำกว่า 10 ตัน และมากกว่า 10 ตันขึ้นไป ผลิตได้ 38 คัน ลด 47.22%  รถยนต์บรรทุกผลิตได้ 188,496 คัน ลด 12.22% รถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตได้ 183,892 คัน ลดลง 12.45%

“ที่มีกระแสข่าวผู้ผลิตชิ้นส่วนประกาศขายกิจการ หรือมีการซื้อกิจการยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ เพราะยอดผลิตในประเทศลดแต่ยอดผลิตเพื่อส่งออกยังมี แต่อาจเป็นได้สำหรับรายเล็กเทียร์ 3 น่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและความไม่พร้อมไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)”

“ฟอร์ด” หยุดไลน์ผลิตในเอเชีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี” สหรัฐอเมริกา ประกาศหยุดไลน์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์เป็นการชั่วคราวที่ผลิตในกลุ่มตลาดนานาชาติ International Markets Group (IMG) ได้แก่ อินเดีย, เวียดนาม, แอฟริกาใต้ และประเทศไทย สำหรับในประเทศไทย ระบุว่า โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์
(เอเอที) และโรงงาน ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง เอฟทีเอ็ม จะผลิตวันสุดท้าย 27 มี.ค.

ส่วนในเวียดนามจะผลิตวันสุดท้าย 26 มี.ค. และกลับมาผลิตต่อ 4 พ.ค. และโรงงาน VO & PTO แอฟริกาใต้ผลิตวันสุดท้าย 27 มี.ค. และกลับมาผลิตต่อ 22 เม.ย. และโรงงาน CVAEP ประเทศอินเดีย ผลิตวันสุดท้าย 21 มี.ค. และกลับมาผลิตต่อ 30 มี.ค.

นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า หากสถานการณ์ยังไม่มีขึ้นฟอร์ดก็ยังจะมีการยืดระยะเวลาของการปิดโรงงานในประเทศไทยออกไปมากกว่าวันที่ 20 เม.ย.แน่นอน

ฮอนด้าหยุด 2 โรงงาน-ดูแลพนักงาน

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีที่ตัดสินสินใจปิดสายการผลิตรถยนต์ฮอนด้า 2 โรงงานที่พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรีชั่วคราว 27 มี.ค.-30 เม.ย. หรือจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติมเพื่อปรับซัพพลายให้สอดคล้องกับดีมานด์ เนื่องจากความต้องการในไตรมาสแรกลดลง

อย่างไรก็ตาม บริษัทให้พนักงานที่เกี่ยวข้องบางส่วนทำงานจากที่บ้าน (work from home) และคงมาตรการเข้มงวดให้พนักงานอยู่ในที่พักอาศัย งดเว้นการเดินทาง รวมถึงไม่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยในส่วนของพนักงานที่โรงงานบริษัทยังจ่ายเงินค่าจ้างให้ตามกฎหมายกำหนดและมากกว่าด้วย

“เราปิดโรงงานแค่ชั่วคราว เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติจะกลับมาเหมือนเดิม วันนี้ต้องจับตาดูสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อไปแค่ไหน ฮอนด้าไม่ต้องการทำอะไรฝืนสภาพตลาด เราปรับแผนงานให้สอดคล้องอย่างตรงไปตรงมา”

นายพิทักษ์ ย้ำว่า ฮอนด้าพร้อมดูแลและให้บริการหลังการขายกับลูกค้าอย่างเต็มที่


แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอีกหลายรายเริ่มพิจารณาหยุดไลน์ผลิตรถยนต์ชั่วคราว จากผลกระทบยอดขายที่ลดลงในช่วงที่่ผ่านมา ทั้งตลาดในประเทศและส่งออกและคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะมีค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่มีฐานผลิตในประเทศไทยประกาศหยุดไลน์ผลิตชั่วคราว โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ที่มีการส่งออกจำนวนมากอย่างมิตซูบิชิ เริ่มมีการหารือกันภายในบริษัทถึงผลกระทบดังกล่าวแล้ว