แผนรุกดีลเลอร์เน็ตเวิร์กเลตยาว “โควิด” ป่วนค่ายรถลงทุนใหม่จ้องถอนตัว

ค่ายรถดิ้นสู้โควิด ปรับเกมรุกทั้งงานขาย-การตลาด เผยแผนขยายดีลเลอร์เน็ตเวิร์กดีเลย์ยาว “มาสด้า-มิตซูบิชิ-ซูซูกิ” ชี้กระทบนักลงทุน รายใหม่ขอยืดเวลาตัดสินใจ ด้าน “เอ็มจี” ย้ำแผนรุกด้าน “โปรดักต์” ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจผลกระทบในอุตสาหกรรมค้าปลีกรถยนต์ ตอนนี้ทุกแบรนด์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างหนักนอกจากลูกค้าเดินเข้าโชว์รูมน้อยลงแล้ว ในแง่ของผู้ประกอบการก็ตัดสินใจยืดระยะเวลาการลงทุนและแผนงานก่อสร้างโชว์รูมและศูนย์บริการออกไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลดการแพร่กระจาย

“แผนการขายการตลาด ช่วงไวรัสโควิดมีการเปลี่ยนมาทำออนไลน์มากขึ้น โปรฯต่าง ๆ ก็สื่อสารกับลูกค้าผ่านทางเพจหรือเว็บไซต์ของแบรนด์นั้น ๆ แต่งานก่อสร้างนี่ซิ ส่วนใหญ่หยุดหมด แรงงานเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด ทำให้แผนการขยายโชว์รูมและศูนย์บริการทุกแบรนด์ดีเลย์ยาว”

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ ว่า ขณะนี้มาสด้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน โดยเฉพาะการขยายเครือข่ายผู้จำหน่าย ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง 6-7 แห่ง ชะลอทุกโครงการ

“มีดีลเลอร์บางรายที่อยู่ระหว่างการเจรจาสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายของเราก็ยังไม่ตัดสินใจ ขอรอดูสถานการณ์ และดูทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวมก่อน ยอมรับว่าวันนี้นักลงทุนหลายคนไม่กล้าลงทุน และยังมีความกังวลอยู่ค่อนข้างมาก”

นายชาญชัยกล่าวปีนี้ตามแผนจะขยายโชว์รูมทั้งสิ้น 6 แห่ง บางรายได้ชะลอจะเปิดเดือนเมษายน ขอยืดไปถึงเดือนมิถุนายน ส่วนนักลงทุนรายใหม่ ๆที่สนใจร่วมธุรกิจกับมาสด้าเองและยังมีอีกหลายรายที่มาจากค่ายรถยี่ห้ออื่นที่อยู่ ระหว่างเจรจาขอเวลาตั้งรับโควิดก่อน เช่นเดียวกับนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขณะนี้บริษัทได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเน็ตเวิร์กการขาย เนื่องจากแบรนด์เอ็มจี มีโปรดักต์เข้ามาเยอะมีความจำเป็นต้องสร้างเน็ตเวิร์กให้ครอบคลุมทั้งตลาด ปัญหาตอนนี้คือ งานก่อสร้างชะงักมาก ทำให้แผนต่าง ๆ ช้ากว่ากำหนดเดิม

“ปีนี้เราตั้งเป้าจะเพิ่มโชว์รูมอีกอย่างน้อย 25 แห่ง ปัจจุบันเรามีอยู่ 125 แห่ง เป้าปีนี้ 150 แห่งคงไม่ได้แน่ ยอมรับว่าล่าช้าแต่อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ต้องเร่งมือเพื่อให้ใกล้เคียงแผนเดิม”

ส่วนแผนงานอื่น ๆ ยังเป็นปกติ โดยเฉพาะแผนงานหลักคือ การส่งรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ยังเป็นไปตามแผนงาน ล่าสุด บริษัทเพิ่งส่งรถยนต์เอสยูวี เอ็มจี แซดเอส ตัวใหม่ออกสู่ตลาด และตั้งเป้ายอดขายไว้อย่างน้อย 1,200 คันต่อเดือน

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จริง ๆ การลงทุนของดีลเลอร์เป็นการลงทุนระยะยาวที่อาจจะกระทบบ้าง น่าจะเป็นระยะเวลาก่อสร้างต้องชะงัก เพราะขาดผู้รับเหมา ขาดแรงงานแต่หลังทุกอย่างคลี่คลายทุกคนจะเริ่มกลับมาเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ เพราะธุรกิจจะต้องเดินต่อ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายใหม่ ๆ ที่ย้ายจากแบรนด์อื่นต้องเร่งมือกู้ผลกระทบของตัวเอง

ขณะที่มีรายงานข่าวจากบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ผลกระทบโควิด มิตซูบิชิต้องเลื่อนแผนงานต่าง ๆ ออกไปก่อนจนกว่าทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ

ปัจจุบันมิตซูบิชิมีโชว์รูมและศูนย์บริการทั้งสิ้น 229 แห่ง โดยตามแผนงานที่นายโมริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศว่ามิตซูบิชิ มีแผนจะเพิ่มจำนวนและขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายโชว์รูมและศูนย์บริการให้ครบ 250 แห่ง ในปีงบประมาณ 2563

จากล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามิตซูบิชิขยายเครือข่ายผู้จำหน่ายเพิ่ม 5 แห่ง ได้แก่ มิตซูมหานคร ออโตโมบิล(สาขานิมิตใหม่) มิตซูมหานคร ออโตโมบิล(สาขารังสิต คลอง 10) มิตซูเมโทร จำกัด(เมโทรไลฟ์), มิตซู นิวตัน และมิตซู เอส ออโต้ (สมุทรปราการ)

“จำนวนโชว์รูมที่ขยายเพิ่มนั้นอาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากมีตัวแทนจำหน่ายบางรายอาจจะยังกังวลในการลงทุนใหม่ ๆ” รายงานข่าวระบุ