นินนาท ไชยธีรภิญโญ กับทิศทาง “โตโยต้า” ในอนาคต

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นวิทยากรบรรยายถึงสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทย ในหลักสูตรของวิทยาลัยการพลังงาน (วพน.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในฐานะที่โตโยต้าเป็นผู้นำตลาดรถยนต์เมืองไทย ตัวเลขยอดขายรถยนต์จึงเป็นตัวชี้วัดสถานการณ์เศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง

“นินนาท” เริ่มต้นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว อาจต้องใช้เวลา ดังนั้นต้องใจเย็น ๆ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีตัวช่วยมาจากการท่องเที่ยว การส่งออกที่เริ่มดีขึ้น และการลงทุนภาครัฐที่ทยอยลงไปตามแผน อย่างไรก็ตามยังมีจุดอ่อนอยู่ที่ราคาพืชผลทางการเกษตร

ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ ได้สอบถามกับสมาคมเช่าซื้อว่าสถานการณ์รถยนต์เป็นอย่างไร ซึ่งได้รับคำตอบว่า “รถยนต์มือสองขายดีขึ้นมาก” หลังปั่นป่วนมาสองปี ตอนนี้เริ่มนิ่งและดีขึ้น สำคัญที่สุดคือเอ็นพีแอลต่ำลง น่าชื่นใจ ซึ่งสวนทางกับธนาคารทั้งหลายที่เอ็นพีแอลสูงขึ้น แต่เอ็นพีแอลเช่าซื้อลดลง ถือเป็นเป็นนิมิตที่ดี เพราะฉะนั้นรถยนต์ใหม่เริ่มดีขึ้น ด้วยเหตุผลคือมีการออกรถรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นแนวโน้มของตลาดภายในประเทศ มองว่าน่าจะเพิ่มขึ้นสัก 8% หรือประมาณ 830,000 คัน เพิ่มจากปีก่อนที่มียอดขายประมาณ 768,788 คัน

โจทย์ของประเทศไทยเวลานี้ คือ “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งตาม “ข้อตกลงปารีส” หรือ The Paris Agreement ในปี 2030 ไทยต้องลดคาร์บอนลง 20% เพราะฉะนั้นเรื่องของรถยนต์เราจะไปอีวี, ไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และไฮโดรเจน นี่เป็นแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต

อย่างไรก็ตามเห็นว่าในปี 2050 ประมาณ 90% จะเปลี่ยนเป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด อีวี หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือรถไฮโดรเจน และถ้าดูจากตัวเลขการครอบครองรถยนต์ของประชากรโลกต่อพลเมือง 1,000 คน จะเห็นว่าออสเตรเลียมีการครอบครองมากที่สุด

718 คันต่อพันคน รองลงมาเป็นอเมริกาเหนือ 670 แล้วก็ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนคนไทยอยู่ที่ 228 คันต่อพันคน ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และพลังงานก็ยังมีการใช้อีกเยอะ

ที่สำคัญคือเรื่องของ Internet of Things (IOT) จะมีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างรถยนต์ที่วิ่งไปบนถนน ต่อไปไม่เพียงแต่จะสื่อสารกับรถยนต์ที่อยู่ข้างหน้าหรืออยู่รอบ ๆ คันเท่านั้น แต่จะสื่อสารกับตึกหรืออาคารที่อยู่รอบ ๆ ในระยะนั้นด้วย

สำหรับรถอีวีแล้ว ถึงปลายปีที่แล้ว หรือ 2559 รถอีวีมียอดสะสมประมาณ 2 ล้านคัน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีนและยุโรป อย่างไรก็ตามอุปสรรคของรถอีวี คือแบตเตอรี่ราคาแพง ประมาณ 4% ของราคารถ และมีน้ำหนักมาก เรื่องสถานีชาร์จแบตเตอรี่ก็เป็นอุปสรรค ถัดมาคือเรื่องราคา

รถอีวีขณะนี้ใช้ไปปีสองปีราคาตกพรวด อาจจะเหลือครึ่งราคาของตอนซื้อ อย่างไรก็ดี มีข้อน่าคิดอย่างหนึ่ง คือรถอีวีจะมีความนิยมมากขึ้นในอนาคต ขึ้นอยู่กับการทำวิจัยและพัฒนาของแบตเตอรี่ ที่จะทำให้ชาร์จไฟได้เร็วขึ้นมากขึ้น และวิ่งได้นานขึ้น

สำหรับบริษัทโตโยต้าประมาณปลายปีที่แล้วเราตั้งสมาร์ทเซ็นเตอร์ที่ญี่ปุ่นแล้วเริ่มติดตั้ง “Digital Communication Warroom” คล้าย ๆ ใส่ชิปลงไปในตัวรถยนต์ ซึ่งตัวชิปจะสื่อสารกับศูนย์ ทำให้รู้ว่ารถยนต์คุณภาพไม่ดีมีปัญหาหรือแนะนำว่าควรจะดีไซน์แบบนี้ดีกว่าไหม ขณะเดียวกันก็สามารถติดต่อดีลเลอร์ขอนัดเวลาซ่อม และยังมีกล้องหน้ารถ ทำเรียลไทม์ ดิจิทัล แม็ป น่าจะดีกว่ากูเกิล แม็ป เพราะกูเกิลไม่ใช่เรียลไทม์ กล้องนี้จะบันทึกพฤติกรรมการขับขี่ จะทำให้ลดค่าพรีเมี่ยม อินชัวรันซ์ได้ หรือรถหายก็จะรู้ว่าอยู่ที่ไหน เป็นต้น

“นโยบายของโตโยต้าในส่วนของรถอีวี รถขนาดเล็กใช้วิ่งระยะสั้น รถขนาดกลางจะใช้ไฮบริดและรถไฮโดรเจน สำหรับรถบรรทุก ยังไงโตโยต้าก็ต้องใช้ไฮโดรเจนแน่นอน เพราะไม่เช่นนั้นต้องใช้แบตเตอรี่หนักมาก ขณะเดียวกันโตโยต้าจะทำการวิจัยการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อนำไปสู่รถอีวีหรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือรถไฮโดรเจน ทั้งสามตัวนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าเป็นอย่างไร

ประธานบอร์ดโตโยต้ายังกล่าวอีกว่า “รถไฮโดรเจน ผมลองขับมิไร ไฮโดรเจนคาร์แล้ว ปรากฏว่าเงียบมาก เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ 3.5 ลิตร ความเร็วได้ 250 กม./ชม. คิดว่าอีวีอาจจะเร็วเกินไปที่จะซื้อมาครอบครอง”

แต่เอามาใช้เป็นอีวีคาร์แชริ่งได้ ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำรถอีวีขนาดเล็ก 1 ที่นั่ง ให้บริการนักศึกษา อาจารย์ และประชาชนทั่วไปในเนื้อที่ 1.5 กม. เป็นโครงการทดลอง เพราะเราอยากให้ประชาชนเปลี่ยนโหมดการเดินทาง วิธีใช้งานง่ายนิดเดียว คือ จอด้วยสมาร์ทโฟน แล้วนำสมาร์ทโฟนไปสตาร์ตที่ตัวรถ ค่าใช้จ่ายตัดบัญชีทางบัตรเครดิต หรือเดบิต สิ่งที่โตโยต้าจะทำอีกอย่างคือร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ ตั้งโรงงานกำจัดซากรถเก่าอย่างถูกวิธี ซึ่งไปดูงานจากประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว โครงการนี้เพื่อรองรับรถอีวี หรือรถไฮบริดที่กำลังมาแรงในอนาคต

ปัจจุบันมีรถไฮบริดอยู่ในไทยประมาณ 70,000-80,000 คัน ซึ่งหากจะกำจัดซากรถเก่าตอนนี้ต้องส่งกลับไปทำลายที่ประเทศเบลเยียม เวลานี้เขาอาจจะยังไม่คิดเงินเรา แต่ในอนาคตคิดแน่


ดังนั้นโตโยต้าอยากทำครบวงจร ไม่เฉพาะรถยนต์ของโตโยต้าเท่านั้น ยี่ห้ออื่น ๆ เรารับหมด เอามาแยกชิ้นส่วน ระเบิดแอร์แบ็กก่อน จากนั้นทำลายแก๊สที่มาจากเครื่องปรับอากาศ หลังจากนั้นแยกทองแดง สำคัญที่สุดคือเอาแบตเตอรี่ไปเผาเพื่อเอานิกเกิลและสเตนเลสกลับมาใช้ใหม่ เป็นการรีไซเคิล นี่คือสิ่งที่โตโยต้าคิดจะทำ