ค่ายรถรับมือ วิกฤตยานยนต์ เฟ้นหาอาชีพใหม่…แรงงาน

ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างใหญ่หลวงแม้ประเทศไทยจะเคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้งแล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้


“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “มานิตย์ พรหมการีย์กุล” ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และ ดร.ภูภาร สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้คลุกคลีและอยู่ในแวดวงแรงงานยานยนต์มาอย่างยาวนาน เขาสะท้อนภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งถือเป็นแกนกระดูกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยระบุชัดเจนว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบจะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งในแง่การทำงาน ปริมาณการผลิต และระบบต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต

หวั่นโควิดทำตกงาน 7.5 แสนคน

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แม้บ้านเราจะเพิ่งชัดเจนเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนรัฐบาลต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมาตรการล็อกดาวน์ แต่ตัวอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบมาพักใหญ่ เพราะชิ้นส่วนในการผลิตรถยนต์แม้ว่าจะใช้ในประเทศถึง 90% แต่ก็ต้องใช้จากการนำเข้าเกือบ 10% นั้น เมื่อชิ้นส่วนจากจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มีปัญหา เราก็กระทบไปด้วย และที่สำคัญ ตลาดส่งออกก็มีปัญหา ค่ายรถยนต์ก็ต้องประกาศหยุดไลน์ผลิต วันนี้จะเห็นได้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกาศปรับเป้ายอดผลิตรถยนต์จากเดิม 2.15 ล้านคันต่อปี เหลือ 2 ล้านคัน และล่าสุดระบุว่า ถ้าโควิดยังระบาดหนักอาจจะลงไปเหลือ 1 ล้านคัน ถึงตอนนั้นแรงงานในอุตฯยานยนต์อาจจะตกงานถึง 750,000 คน

หยุดไลน์ผลิตแต่ยังจ่ายค่าแรง

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตอนนี้ คือ การประกาศหยุดไลน์ผลิตของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ และมีการประกาศให้พนักงานบางส่วนหยุดงานแล้ว บริษัทผู้ผลิตยอมจ่ายเงินชดเชยให้ในสัปดาห์แรก 100% สัปดาห์ที่ 2 จ่าย 90% และสัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป จ่าย 85% มาถึง 75% สำหรับค่ายรถยนต์ ส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ประกาศจ่ายชดเชยแค่ 75% ตั้งแต่หยุดงาน หรือบางที่จ่ายแค่ 50% และมีการเรียกพนักงานเข้าไปเจรจาและโน้มน้าวให้มีการเซ็นสัญญาเพื่อรับเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อให้ไม่มีผลทางกฎหมาย มีให้เห็นเยอะ ปัจจุบันสัดส่วนระหว่างพนักงานประจำและพนักงานอัตราจ้าง ในสายการผลิตของแต่ที่จะเฉลี่ยอยู่ที่ 50/50 หรือ 40/60

เปิดสัญญาจ้าง New Normal

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าสัญญาจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์มีอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ 1.สัญญาปลายปิด ที่จะมีระยะเวลาระบุไว้ชัดเจนถึงวันเริ่มงาน และการสิ้นสุดงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะระบุไว้ไม่เกิน 10-11 เดือนต่อสัญญา แล้วให้หยุดงาน 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ก่อนที่จะเรียกพนักงานสัญญาจ้างมาต่อสัญญาฉบับใหม่ วนเป็นลูปไป ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้ในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

และขณะนี้ก็มีค่ายรถยนต์บางค่ายเริ่มมาใช้รูปแบบนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นแท็กติกในส่วนของกฎหมายแรงงานมาตรา 118 ว่า หากจ้างงานเป็นเวลา 12 เดือน นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงาน 3 เดือน และต้องมีเงินค่าบอกเลิกสัญญาล่วงหน้า 1 เดือนด้วย

2.สัญญาปลายเปิด ซึ่งเป็นสัญญาจ้างที่ได้ระบุวันสิ้นสุดของการจ้างงาน โดยเปิดโอกาสให้พนักงานสัญญาจ้างทำงานต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และเปิดโอกาสให้สอบบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำได้ตามโควตาในแต่ละปี ซึ่งวันนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในค่ายรถยนต์ใหญ่ ๆ แต่ก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม เป็นที่ทราบกันว่าวันนี้ผู้ประกอบการจะเริ่มปรับหันมาใช้วิธีการในข้อ 1 จะทำให้ภาระของนายจ้างลดลง เนื่องจากหากใช้วิธีการในข้อ 1 จำนวนของพนักงานประจำจะค่อย ๆ ถูกลดสัดส่วนลงไป และท้ายที่สุด สหภาพแรงงานของแต่ละบริษัทจะไม่มีความเข้มแข็ง

เลิกจ้างส่งคืนซับคอนแทร็กต์

ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเอาพนักงานอัตราจ้าง หรือซับคอนแทร็กต์ออกไปเยอะ มีราวหลักหลายร้อยคน แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ปัญหาหลักคือการจ่ายเงินให้ในอัตรา 75% มากกว่า เพราะพนักงานสัญญาจ้างส่วนใหญ่อายุงานไม่เยอะ และได้รับเงินเดือน 10,000-20,000 บาท รายได้หลักของพนักงานจะอยู่ที่การทำโอที แต่วันนี้ไม่มีโอทีทำให้พนักงานอยู่ลำบาก ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ก็จะมีการส่งคืนพนักงานสัญญาจ้าง (เลิกจ้าง) มากขึ้น ขณะที่ค่ายรถยนต์เองมีการเปิดโครงการสมัครใจลาออก พร้อมให้เงินชดเชยพิเศษตามกฎหมายแรงงานกำหนด

สหภาพร่วมหารือต่อเนื่อง

ตลอดช่วงที่ผ่านมา สหภาพแรงงาน ตัวแทนของค่ายรถ-บริษัทต่าง ๆ ได้มาพูดคุยเพื่อหารือถึงแนวทางในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ แต่ยังไม่ได้แนวทางที่ปรากฏชัดเจน อย่างในส่วนของค่ายรถยนต์มีการพูดกันถึงเรื่องการ “ลดสวัสดิการ” บางอย่าง เช่น งานเลี้ยงวันแฟมิลี่เดย์, ปีใหม่, การนำเที่ยว, งานเกษียณอายุ ฯลฯ โดยจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาของการดำเนินงานที่ชัดเจน อาจจะเป็นช่วงเดียวกันกับประกันสังคม 2 ปี คือ มี.ค. 2563-มี.ค. 2565 เป็นต้น เพื่อหาวิธีร่วมกันในการรักษาแรงงานและช่วยบริษัทลดภาระ

จี้รัฐดูแลลูกจ้างถูกเอาเปรียบ

ที่ผ่านมาเราได้มีการหารือกับภาคีเครือข่ายแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนักวิชาการ องค์กรพัฒนาต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อเรียกร้องไปยังประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ในรัฐบาล โดยสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือลูกจ้างดังต่อไปนี้ 1.ให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน 100% ของเงินเดือน เดือนสุดท้ายก่อนที่บริษัทจะมีคำสั่งปิดงานเป็นเวลา 6 เดือน (180 วัน)

2.ให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่โดนเลิกจ้างจำนวน 100% ของเงินเดือน เดือนสุดท้ายโดยคำนวณเหมือนกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 118 3.ให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ลาออกจากงานจำนวน 100% ของเงินเดือน เดือนสุดท้ายโดยให้คำนวณเหมือนกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 118 4.ให้รัฐบาลส่งเสริมอาชีพพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ลูกจ้างสามารถที่จะกลับเข้าไปทำงานใหม่ได้ตามความต้องการของตลาดแรงงาน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ ที่มีการออกกฎกระทรวงเรื่องการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

ทั้งนี้ ภาคีมีความห่วงใยว่าสถานประกอบการบางแห่งอาจมีการฉวยโอกาสผลักภาระให้กองทุนประกันสังคม โดยอ้างเหตุเพื่อให้ลูกจ้างรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 จากกองทุนประกันสังคม แทนที่นายจ้างจะปิดกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างปิดกิจการชั่วคราว ร้อยละ 75 ทั้งนี้ อยากให้รัฐเข้ามาดูแลลูกจ้างทุกคนเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ 5,000 บาท โดยไม่เลือกปฏิบัติ เนื่องจากทุกคนเดือดร้อนเหมือนกันหมด ไม่เว้นแม้แต่เกษตรกร

ค่ายรถ-แรงงานจัดอบรมอาชีพ

ตอนนี้อะไรที่ทุกคนช่วยกันได้ เราต้องช่วยกัน รักษาสภาพการจ้างงานเอาไว้ อย่างลืมว่าบริษัทใหญ่ ค่ายรถยนต์ทำอะไร บริษัทชิ้นส่วนและซัพพลายเออร์ก็จะทำตาม เหมือนเป็นแม่แบบ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการดูแลพนักงานของตนเองให้ดีที่สุด บริษัทต่าง ๆ พยายามช่วยเหลือตัวเองก่อนอย่างตอนนี้มีค่ายรถยนต์บางค่ายเริ่มจัดโครงการฝึกอบรมอาชีพให้กับพนักงานที่สนใจ เพื่อเป็นการปูพื้นความรู้ เตรียมความพร้อม และถือเป็นเรื่องที่ดีที่หลาย ๆ หน่วยงานจะนำไปทำเป็นแบบอย่าง

ส่วนทางด้าน ดร.ภูภาร สมาทา ในฐานะประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า กล่าวเสริมว่า ล่าสุดยังได้เตรียมนำเสนอฝ่ายบริหารของบริษัทโตโยต้าเพื่อให้เปิดโครงการ “สมัครใจลาออก” กับพนักงานที่พร้อมหรือต้องการเปลี่ยนอาชีพไปทำธุรกิจส่วนตัวหรืออื่น ๆ เพื่อที่จะได้มีทุนติดตัว เบื้องต้นจะเปิดให้กับผู้ที่สนใจโดยไม่กำหนดอายุ


โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักไปที่พนักงานประจำ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีรายละเอียดและนำเสนอออกไปยังฝ่ายบริหารได้ราวเดือน มิ.ย.นี้