ค้านลดภาษีสรรพสามิต 50% รถใหม่ชะงัก-มือสองเดี้ยงซ้ำรอยรถคันแรก

ค่ายรถเสียงแตกหลายยี่ห้อผนึกสมาคมรถยนต์ใช้แล้ว-รถเช่า ยื่นหนังสือวอนภาครัฐชะลอแนวคิดหั่นภาษีสรรพสามิต 50% หวั่นกระทบหนักทำตลาดทรุดยาวซ้ำรอย “รถคันแรก” ชี้ตลาดเริ่มฟื้นแต่ตอนนี้ชะงักอีก ลูกค้ารอซื้อราคาถูกลง

แหล่งข่าวในวงการรถยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีสภาอุตฯทำเรื่องเสนอขอให้รัฐบาลช่วยเหลืออุตฯรถยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งยอดผลิตและยอดขาย ซึ่งตกต่ำสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยสนับสนุนเงินสดเปลี่ยนรถเก่าเป็นรถใหม่ยืดระยะเวลาการใช้มาตรฐานยูโร 5 และ 6 และลดภาษีสรรพสามิตลงครึ่งหนึ่ง ตอนนี้ผู้ประกอบการมีแนวคิดแตกออกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านซึ่งกลุ่มไม่เห็นด้วยกำลังรวบรวมข้อมูลชี้แจงถึงผลกระทบที่จะตามมา และขอให้รัฐบาลอย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ ควรมองในหลายมิติ เพราะอุตฯรถยนต์มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์ โรงงานผลิต ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ รวมทั้งสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว และสมาคมผู้ประกอบการรถเช่า

โดยจะสะท้อนความเป็นจริงของอุตสาหกรรม หลังจากได้รับบทเรียนจากโครงการรถยนต์คันแรกเมื่อปี 2555 ที่รัฐบาลสมัยนั้นประกาศอัดฉีดคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ เพื่อกระตุ้นตลาดหลังจากที่ประเทศไทยประสบภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 โดยให้เงินคืนสูงสุด 100,000 บาทสำหรับผู้ซื้อรถคันแรก ซึ่งเป็นการเร่งตลาดดึงกำลังซื้อมาใช้ล่วงหน้า ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในปี 2555-2556 มียอดขายเพิ่มขึ้นผิดปกติสูงถึง 1.2 ล้านคันต่อปี แต่หลังจากสิ้นสุดโครงการอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ซบเซา

“ภาพนี้จะใกล้เคียงกับตอนนั้น หากรัฐบาลเห็นดีเห็นงามกับการลดภาษี ตลาดจะกระทบโดยเฉพาะตลาดมือสอง และที่สำคัญระหว่างที่รอการลดภาษี ผู้บริโภคจะไม่ซื้อรถ รอจนกว่าภาษีจะลด ซึ่งจะทำให้ราคารถถูกลง ซึ่งยังไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ ตลาดคงหยุดชะงักเป็นรอบที่สองแน่นอน”

ยิ่งแนวปฏิบัติไม่มีความชัดเจน จะมีวิธีคิดอย่างไร จะนับรวมไปถึงรถยนต์ในสต๊อกที่ผลิตออกมาก่อนหน้านี้แล้วยังขายไม่ได้ รวมถึงรถที่อยู่ในสต๊อกของดีลเลอร์แต่ละรายด้วยหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกัน ยังต้องมีรายละเอียดอีกมาก

“กลุ่มที่เสนอเรื่องนี้อาจไม่เข้าใจในกลไกตลาด การขาย การปฏิบัติมากพอ เพราะตอนนี้บรรยากาศของตลาดเริ่มผ่อนคลายลงเยอะแล้ว แต่พอมีกระแสข่าวนี้เกิดขึ้น คนซื้อรถก็ลังเล ส่วนประเด็นบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และ 6 นั้นก็น่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับบางค่ายหรือเปล่า”

สอดคล้องกับนายภิญโญ ธนวัชรภรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ที่ยืนยันว่า สมาคมได้ยื่นหนังสือคัดค้านกรณีกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เสนอการขอความช่วยเหลือต่อสรรพสามิตไปแล้ว เนื่องจากสมาคมเล็งเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้วแน่นอน และน่าจะกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมแบบเดียวกับโครงการรถคันแรก

นอกจากจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในการจัดเก็บภาษีเป็นจำนวน 40,000-100,000 บาทต่อคันแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อมูลค่าของรถยนต์ใช้แล้วที่หมุนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการจะเกิดภาวะขาดทุนจากสินค้าคงคลังที่ลดลงอย่างรุนแรง ซ้ำรอยโครงการรถยนต์คันแรกที่ทำให้ผู้ประกอบการรถใช้แล้วหายไปจากระบบกว่า 30%

ส่วนข้อเสนอที่จะสนับสนุนโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ โดยสนับสนุนเงินคืน 100,000 บาทนั้น รัฐบาลควรกำหนดอายุใช้งานของรถยนต์ให้ชัดเจน เช่นรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป เพื่อนำรถเก่าที่มีอายุเหล่านั้นไปรีไซเคิล หรือส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป เพื่อแก้ปัญหามลพิษภายในประเทศ ทั้งหมดยังไม่มีความชัดเจน ส่วนข้อเสนอเลื่อนใช้มาตรฐานยูโร 5, 6 ออกไปนั้นสมาคมไม่มีความเห็น

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาความช่วยเหลือผลกระทบอุตสาหกรรมจากโควิด ซึ่งกระทบทั้งยอดผลิตและยอดขาย โดยยอดผลิตรถยนต์เดือนเมษายนลดลงไปถึง 83.55% เทียบปีก่อน ส่วนยอดขายใน 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ลดลง 34.17% เทียบปีก่อนตกต่ำสุดในรอบ 30 ปี


โดยกลุ่มได้ยื่นขอความช่วยเหลือ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.รถยนต์เก่าที่มีอายุมากกว่า 20 ปี หากแลกซื้อรถยนต์ใหม่ในกลุ่มไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี ขอให้รัฐบาลส่งเสริมคันละ 100,000 บาท 2.ขอเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และ 6 อีก 1 ปี และ 3.ขอให้รัฐบาลช่วยลดภาษีสรรพสามิตทุกประเภท 50% ไปจนถึงสิ้นปี 2563