ส่องอุตฯ รถยนต์-ชิ้นส่วน จ้องลดคนรีดไขมัน ระวัง…จะวิ่งตามไม่ทัน

ตลอดช่วง 2 เดือน (มีนาคม-เมษายน 2563) ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างหนักหนาสาหัส

เราแทบไม่เคยเห็นค่ายรถยนต์ประกาศหยุดไลน์การผลิตได้ยาวนานเท่านี้มาก่อน แม้จะตรงกับช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และค่ายชิ้นส่วน หรือถูกร้องขอจากรัฐบาลช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส ทั้งเวิร์กฟรอมโฮม เหลื่อมเวลาทำงาน หรือโซเชียลดิสแทนซิ่ง แต่หยุดงานเที่ยวนี้ก็ยาวนานเป็นเดือน ๆ กันเลยทีเดียว

เหตุผลหลักจริง ๆ ของการหยุดยาวครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นสต๊อกที่แต่ละยี่ห้อเหลือค้างเต็มลานจอด รวมถึงดีลเลอร์เองไม่สามารถแบกรับภาระหนักอึ้งต่อไปได้

ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ชะลอตัวมาตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2562 ที่ผ่านมาจากสงครามการค้า ปัญหาเศรษฐกิจโลก ความต้องการรถยนต์ลดลงอย่างมากโดยเฉพาะตลาดส่งออก แต่ละประเทศชะลอคำสั่งซื้อ พอมาผนวกเข้ากับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดเลยกลายเป็นทวีคูณ ถึงขนาดผู้ประกอบการทุกรายออกปากว่า เที่ยวนี้หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ซะอีก

เพราะครั้งนั้น อุตฯยานยนต์ไทยยังมีตลาดส่งออกช่วยพยุง แถมยังเป็นการเปิดตลาดส่งออกให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปในตัวด้วย ต่างจากวิกฤตครั้งนี้ เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วและไม่คาดคิด

ดังนั้น ความพยายามในการปรับสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลายในตลาด สะท้อนให้เห็นจากยอดขายรถยนต์ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ซึ่งประเมินกันว่าตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี

แม้วันนี้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย หลาย ๆ แบรนด์กลับมาเริ่มเดินสายการผลิตแล้ว บางยี่ห้อมีประกาศคลอดโปรดักต์ใหม่ บางยี่ห้อประกาศสามารถเปิดการทำงานได้เต็ม 2 กะแล้ว แต่กระแสและฝุ่นที่ยังตลบอยู่ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยังไม่จางหาย

เรากลับเห็นภาพการปลดคน ลดจำนวนพนักงาน ส่งคืนพนักงานอัตราจ้าง (ซับคอนแทร็กต์) มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ยอมรับว่า สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นนัก สถานการณ์ตอนนี้ลำบาก เพราะจากเดิมประเมินว่าผลกระทบนี้จะมาสั้น ๆ แค่ 3 เดือน ถึงตอนนี้ไม่ใช่แล้วยังต้องรอดูความชัดเจนกันอีกพักใหญ่

ค่ายชิ้นส่วนมีความจำเป็นต้องตัดสินใจลดจำนวนพนักงานอัตราจ้างลงไปจำนวนหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แม้ทุกคนจะพยายามบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นการลดชั่วคราว เรายังอยากจะรักษาพนักงานเอาไว้ และไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบหลังจากทุกอย่างกลับมาเริ่มต้นใหม่

ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ แม้จะไม่เลือกปลดคน แต่ใช้วิธีเปิดโครงการสมัครใจลาออก เป้าหมายไม่ต่างกันมาก ทุกอย่างเพื่อรีดหรือลดไขมันในองค์กร แต่อีกมุมหนึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพได้ไปลองสัมผัสชีวิตใหม่ ๆ

โครงการลักษณะนี้เป็นความพึงพอใจทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง และถ้าจะมองเป็นเรื่องปกติ ก็มองได้โดยเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยในภาวะคนล้นงาน

แต่สำหรับพนักงานสัญญาจ้าง (ซับคอนแทร็กต์) เป็นที่ทราบกันดีว่า พนักงานกลุ่มนี้เขามีความหวังว่า ทำงานไปสักพักอนาคตจะได้อัพเกรดขยับขึ้นมาเป็นพนักงานประจำ การถูกเลิกจ้างในขณะที่ตัวเองยังมีความพร้อมทำงาน เจ็บปวดที่สุด

ยิ่งระยะหลังนายจ้างเพลย์เซฟ เลือกใช้ซับคอนแทร็กต์ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น กลุ่มนี้ต่อสัญญาแบบปีต่อปี สามารถลดต้นทุนเรื่องการจ้างงาน โดยมีบริษัทจัดหาพนักงานเข้ามารับช่วง ทำสัญญาจ้างให้กับพนักงานกลุ่มนี้แค่ 11 เดือน พอครบสัญญาก็ต่อไปเรื่อย ๆ

พนักงานกลุ่มนี้น่าเห็นใจ เพราะกรณีเลิกจ้างหากต้องชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ก็สามารถทำได้เลยทันที สะดวกและประหยัด ถ้าสถานการณ์ดีก็จ้างไปเรื่อย ๆ บริษัทไหนอยากพัฒนาบุคลากรก็มีโควตาในแต่ละปี เปิดให้พนักงานอัตราจ้างสอบแข่งขันเข้าเป็นพนักงานประจำแต่ก็ไม่มาก

ในขณะที่โครงการสมัครใจลาออก ก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อย พนักงานที่พร้อม เมื่อยื่นเข้าร่วมโครงการมีเยอะเหมือนกันที่ไม่ได้รับอนุมัติ แต่กับพนักงานที่ยังไม่อยากเปลี่ยนอาชีพ ไม่พร้อมเข้าร่วมโครงการ กลับถูกบริษัทเรียกเข้าไปเจรจาให้ออก ให้เหตุผลง่ายว่าหมดงบประมาณจ้างต่อ

กลายเป็นว่าโครงการสมัครใจลาออก บางครั้งก็ถูกให้ออกโดยไม่สมัครใจเหมือนกัน ส่วนพนักงานที่อยากออก ถือว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นโครงการทางเลือก บางบริษัทจ่ายชดเชยมากกว่ากฎหมายแรงงานหลายเท่าตัว

ถึงวันนี้สถานการณ์การผลิตของค่ายรถยนต์เริ่มสดใส แม้จะเพิ่งแค่เริ่มเดิน ยังไม่ถึงกลับวิ่ง แต่ก็สะท้อนให้เห็นกันแล้วว่า นโยบายการรักษาแรงงาน ทรัพยากรบุคคลสำคัญมากขนาดไหน

เพราะวันหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจดีดกลับ ทะยานตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่องค์กรของตัวเองกลับขาดแรงงานฝีมือ ถึงตอนนั้นคงวิ่งตามชาวบ้านเขาไม่ทันแน่ ๆ