วัลลภ ตรีฤกษ์งาม นิวนอร์มอลสไตล์ “ซูซูกิ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในช่วงเวลาเกือบครึ่งปีที่ประเทศไทยต้องอยู่และเผชิญกับการแพร่ระบาด ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างปลอดภัย

“วัลลภ ตรีฤกษ์งาม” กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจในยุคนิวนอร์มอลในแบบฉบับของซูซูกิไว้อย่างน่าสนใจ

นิวนอร์มอลของอุตฯยานยนต์จากเดิมการทำตลาดรถยนต์ต้องพึ่งพาช่องทางการหาลูกค้าหลาย ๆ ช่องทาง แต่ล่าสุดในช่วงวิกฤตโควิด เราคงต้องพึ่งพาเฉพาะช่องทาง “ออนไลน์” แต่อย่างไรก็ตาม ช่องทางออฟไลน์ ทั้งเอ็กซิบิชั่น, มอเตอร์โชว์, มอเตอร์เอ็กซ์โป หรืองานบิ๊กมอเตอร์เซลงานใหญ่เหล่านี้ยังเป็นตัวขับเคลื่อนยอดขายได้พอสมควร

วันนี้หลายธุรกิจยอมรับว่า ออนไลน์คือคำตอบ เพราะคนเกิดความกังวลใกล้ชิดหรือต้องสัมผัสโดยตรงระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย ซูซูกิมีการทำวิจัยเรื่องพฤติกรรมการซื้อรถยนต์ในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีลูกค้าที่เริ่มตั้งแต่การติดต่อซูซูกิ จองรถ ทำไฟแนนซ์ จนกระทั่งไปถึงการส่งมอบรถยนต์ โดยที่ได้เข้ามาที่โชว์รูมมีมากกว่า 20% ในปีที่ผ่านมา สำหรับกลุ่มรถยนต์อีโคคาร์ของซูซูกิหมายความว่าเราขายรถยนต์ไป 100 คัน มีลูกค้า 20 คนที่ไม่เคยมาโชว์รูมเลย จะมาอีกที่คือนำรถเข้ามารับการบริการหลังการขายเลย

ดังนั้นผมเชื่อมั่นว่าทิศทางเหล่านี้ซูซูกิได้มีการเตรียมการมาระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อมีโควิด-19 เข้ามาทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวได้เร็วขึ้น

ด้านการขายเรามีระบบขายออนไลน์ ที่ปูพื้นฐานให้กับพนักงานการขายมากว่า 2 ปี รวมทั้งช่างเทคนิค การอบรมต่าง ๆ โดยทางช่องทางออนไลน์ การทำโมบายเซอร์วิส

ผมเชื่อว่าสถานการณ์โควิดไม่ได้แปลว่าทุกคนจะใช้ช่องทางออนไลน์หมด แต่จะมีมาตรการบางอย่างต่อการบริการบางอย่างเปลี่ยนไป อย่างห้องพักรับรองก็จะมีการจัดเว้นระยะห่างมากขึ้น

เร่งให้คนกล้าใช้เงิน

กำลังซื้อน้อยลงนั้น ต้องยอมรับว่าจริง เพราะเกิดจากอุตสาหกรรมหลาย ๆ ตัว ถูกผลกระทบจากโควิด-19ทั้งหมด ทุกคนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเวิร์กฟรอมโฮม ถูกลดเงินเดือน การหยุดงานชั่วคราว ทุกอย่างกระทบต่อรายได้ ทำให้กำลังซื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่

อีกส่วนที่เราอยากให้ภาครัฐพิจารณาว่าต้องไม่ลืมว่ากำลังซื้อลดน้อยลด แม้ว่าเราจะมีมาตรการอะไรเพื่อดึงให้กำลังซื้อออกมา แต่ระบบธุรกิจรถยนต์คือ “การปล่อยสินเชื่อหรือไฟแนนซ์” แม้ว่าจะมียอดจองเข้ามาเยอะ ๆ แต่ลูกค้าไม่ผ่านไฟแนนซ์เราก็ไม่สามารถนับเป็นยอดขายได้

ดังนั้นจะต้องทำ “สินเชื่อและการขายให้มีความกลมกลืนและสามารถไปด้วยกันได้” บริษัทรถยนต์ดึงลูกค้าเข้ามาเยอะ ขณะที่ธุรกิจไฟแนนซ์ยังตั้งการ์ดแน่เชียว ตรงนี้สำคัญมาก ไม่เช่นนั้นธุรกิจรถยนต์ก็ยังคงมีคอขวดอยู่

วอนเยียวยาทุกอุตสาหกรรม

ผมอยากให้กำลังใจทุก ๆ อุตสาหกรรม ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะสามารถช่วยแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ภาคส่วนอื่น ๆ ไม่โตขึ้นมา หรือไม่ได้รับการเยียวยา ผมเชื่อว่ากำลังซื้อก็ไม่มาอยู่ดี ที่สำคัญธุรกิจ

ยานยนต์มีความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ เกี่ยวข้องกับอีกหลายอุตสาหกรรม และการที่รัฐบาลลงมาช่วยนั้น เราไม่ต้องการให้กระทบการทำธุรกิจระยะยาว อะไรก็ตามที่ภาครัฐจะออกมา เรายินดีที่จะให้การสนับสนุน แต่เราไม่อยากเห็นการสนับสนุนใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันแล้วทำให้วงจรการผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอื่น ๆ กระทบกระเทือนไปด้วย

เพิ่มความมั่นใจลูกค้า

หลายคนถามว่า จะมีโอกาสกลับมาเหมือนเดิมมั้ย ผมว่ามีปัจจัยเดียวคือ การติดเชื้อต้องเป็นศูนย์ หลาย ๆ วันติดต่อ ทำให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า การจ้างงานจะไม่กระทบกระเทือน การท่องเที่ยวจะกลับมาได้ ธุรกิจบันเทิงจะสามารถกลับมาดำเนินการได้ บนพื้นฐานของการเว้นระยะห่างทางสังคม

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด แม้ตลาดรถยนต์จะตกลงไป แต่รถยนต์ขนาดเล็กของซูซูกิอย่างเซเลริโอกลับมียอดขายที่โตขึ้น 300% เนื่องจากวันนี้ลูกค้าหลายคนมีความจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวมากกว่ารถสาธารณะ รถขนาดเล็กที่มีราคาต่ำสุดในตลาดก็ได้รับการตอบรับที่ดี

โควิดทำให้สามัคคีกันมากขึ้น

ผมชื่นชมคนไทยนะ ทุกวันนี้คนไทยสามัคคีกันมากขึ้น บรรยากาศของประเทศไทยกลับมาโฟกัสในเรื่องของความร่วมมือ แบ่งปันกันมากกว่าการแบ่งแยก