เกาะติดเส้นทางฮอนด้า รถยนต์ไร้คนขับ…ไม่ใช่ฝัน แต่เป็นความจริง

รายงานโดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

โลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ในชั่วโมงนี้ ชัดเจนอย่างยิ่งว่ากำลังมุ่งพัฒนาตัวเองเต็มกำลัง เพื่อก้าวสู่เส้นทางใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เช่นเดียวกับ “ฮอนด้า” ยักษ์ใหญ่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลในบ้านเรา ซึ่งบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด บริษัทแม่ในญี่ปุ่น มีธงนำในเรื่องนี้

นอกจากมุ่งพัฒนา ตัวรถ เช่น ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, EV และไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCV) ที่เราคุ้นเคยกับเรื่องนี้ดี เส้นทางการพัฒนาที่เดินหน้าควบคู่กันไปคือ การพัฒนาระบบควบคุมการขับขี่ โดยเฉพาะเรื่องของ automatic drive หรือ “ระบบการขับขี่อัตโนมัติ” นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า (Big Data) และโรโบติกส์ (Robotics) มาพัฒนาและต่อยอดเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ

โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสะดวกสบายและเพลิดเพลินยามเดินทาง รวมถึงความปลอดภัยบนท้องถนน นี่คือเป้าหมายสุดท้ายที่ทุกคนต้องการไปถึง

และจากการที่ “ประชาชาติธุรกิจ” คือหนึ่งในสื่อจากทั่วโลกที่ได้ร่วมสัมผัสกับความคืบหน้าล่าสุดยักษ์ใหญ่ราย นี้ถึงฐาน R&D ใหญ่ของบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ที่โตชิโก ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้เห็นว่าการพัฒนา “ระบบการขับขี่อัตโนมัติ” เข้าใกล้ความจริงเข้าไปทุกที

อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกแบ่งการพัฒนา “ระบบการขับขี่อัตโนมัติ” เป็นสเต็ป ๆ คือ Level ที่ 1.Hand on ยังต้องใช้มือจับพวงมาลัย

2.Hand off สามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ ระบบคอนโทรลให้ เร่งให้ เบรกให้ บังคับพวงมาลัยให้ แต่คนขับยังต้องมองอยู่

3.eye off ไม่ต้องมองถนน เราสามารถดูทีวี นั่งเล่นมือถือ ระบบจะคอนโทรลให้อัตโนมัติ

4.mind off ไม่ต้องสนใจ ปล่อยให้รถขับไปเอง ระบบจะเช็กถนนว่าอยู่ในสภาพไหน เช็กคนขับว่าอยู่ในสภาพไหน มีความพร้อมหรือไม่ และเชื่อมข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน

และ 5.human off ไม่ต้องมีคนขับ อยากไปไหนก็สั่งให้รถไปตามจุดหมายที่เราต้องการ

ซึ่งปัจจุบันฮอนด้ากำลังอยู่ใน Level ที่ 3 ของการพัฒนา นั่นคือ eye off สอดคล้องกับไทม์ไลน์ที่ประกาศไว้ สามารถใช้ “ระบบการขับขี่อัตโนมัติ” บนระบบทางด่วนของญี่ปุ่นได้ในปี 2020 ปีเดียวกับที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก พอดิบพอดี

นอกจากนำทีมวิศวกรมาอธิบายถึงเส้นทางการพัฒนา ฮอนด้า ยังใจป้ำให้สื่อมวลชนจากประเทศไทยได้ทดสอบกับ “ระบบการขับขี่อัตโนมัติ” นี้บนสนามทดสอบด้วยตัวเอง

แม้จะเป็นเส้นทางสั้น ๆ กับฮอนด้ารุ่นเลเจนด์ เพียง 1 รอบสนาม แต่สามารถสัมผัสได้ถึงความก้าวหน้าในเรื่องนี้

หลังจากเหยียบคันเร่งเลเจนด์ได้สักพัก เมื่อกดปุ่มสั่งการให้ “ระบบการขับขี่อัตโนมัติ” ทำงาน จากนั้นเราก็สามารถนั่งกอดอกเฉย ๆ อยู่หลังพวงมาลัย ปล่อยให้ขับแซงคันหน้าในระดับความเร็วสูง ๆ หรือเมื่อเจอรถคันหน้าที่เหยียบเบรกกะทันหัน ระบบการขับขี่อัตโนมัติจะเบรกให้

เช่นเดียวกับในห้วงที่การจราจรหนาแน่น รถจะชะลอความเร็วด้วย และเร่งเครื่องเพื่อแซงขึ้นหน้า เมื่อถนนว่างพอ

ขณะที่การพัฒนาเพื่อใช้กับถนนหนทางทั่ว ๆ ไปที่มีความซับซ้อนกว่า มีทั้งทางเลี้ยว ทางแยก มีคนเดินข้ามถนน มีมอเตอร์ไซค์ มีจักรยาน รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการขับขี่ อาทิ เงาต้นไม้ ที่ทอดลงมากลางถนน สภาพผิวการจราจร เส้นแบ่งเลนถนนที่ไม่ชัดเจน ฯลฯ ทำให้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกนานพอสมควร คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และใช้งานได้ในปี 2025 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า

ถึงแม้จะอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา เมื่อมีโอกาสร่วมทดสอบ “ระบบการขับขี่อัตโนมัติ” ที่ออกแบบสำหรับถนนทั่ว ๆ ไป โดยใช้เส้นทางสัญจรปกติในศูนย์ R&D แห่งนี้ สามารถสัมผัสได้ถึงโลกยานยนต์ในอนาคต จะพลิกโฉมหน้าจากปัจจุบันไปอีกมาก

วันหนึ่งระบบการขับขี่อัตโนมัติที่สมบูรณ์แบบคงเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว เนื่องมาจากความก้าวล้ำของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประมวลผลของบิ๊กดาต้า (Big Data) และโรโบติกส์ (Robotics) ที่จะมีบทบาทอย่างมาก

อย่างที่บอกเอาไว้ สภาพถนนทั่ว ๆ ไปนั้น สามารถเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จากรถที่เลี้ยวเข้าเลี้ยวออก คนก้มหน้าก้มตาจิ้มมือถือ เด็กหยอกล้ออยู่กับเพื่อน ๆ ย่านการค้าที่มีผู้คนจอแจ ที่อยู่อาศัยที่มีการจราจรเบาบาง ฯลฯ

ความตั้งใจของฮอนด้า คือไม่ว่าที่ใด ๆ ถนนหนทางแบบไหน ก็สามารถใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติ เพื่อช่วยในการขับขี่ได้ ที่ทำแบบนี้ได้ก็เพราะการพัฒนาของ “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ที่ฉลาดเหลือเชื่อ จะนำ “บิ๊กดาต้า” ซึ่งรวบรวมข้อมูลการใช้รถใช้ถนนเป็นล้าน ๆ ตัวอย่างมาประมวลผล เพื่อสร้างทางเลือกในการขับขี่ที่ปลอดภัยที่สุด

จากที่ผ่านมาการขับขี่ถูกควบคุมโดยมนุษย์ ซึ่งมีขีดความสามารถในการขับขี่ และการตัดสินใจ แปรผันไปตามความพร้อมของร่างกาย จิตใจ ตลอดจนสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ “ปัญญาประดิษฐ์” ที่ว่านี้ยังฉลาดล้ำขนาดที่ว่า สามารถจดจำความผิดพลาดต่าง ๆ และคิดหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดแบบเดียวกันเกิดขึ้นซ้ำอีกเหมือนมีสมองกลติดตัวเราไปทุกที่

สมองกลนี้จะสั่งการให้รถเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เร่งความเร็ว เหยียบเบรก ฯลฯ โดยคิดคำนวณเป็นอย่างดีแล้วว่า ผู้ขับขี่จะได้รับความสะดวกสบาย และปลอดภัยที่สุด