ส่องอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย พร้อมปรับตัวรับวิถีชีวิตใหม่

อุตสาหกรรมรถยนต์
ภาพข่าว : AFP PHOTO / TOSHIFUMI KITAMURA

ยังเป็นคำถามที่กำลังรอคำตอบว่า ไวรัสโควิด-19 ทำลายอุตสาหกรรมยานยนต์ไปขนาดไหน?

และชีวิตวิถีใหม่ในอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร?

คำตอบจาก สภาอุตสาหกรรมฯ ยืนยันว่า ประเทศไทยผลิตรถปีละราว ๆ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นขายในประเทศ 1 ล้านคัน ส่งออก 1 ล้านคัน

แต่ผลกระทบโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ทำให้ประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะเหลือเพียง 6 แสนคัน ส่วนส่งออกก็น่าจะใกล้เคียงกัน

ส่วนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์สู่ภาวะปกติอีกครั้งคาดว่าอาจเป็นช่วงกลางปี 2564 หรือถึงต้นปี 2565

สถิติยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีปริมาณการขาย 270,591 คันลดลง 38.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลงสูงสุด 42.2% ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 35.6% ถือเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 30 ปี

ส่วนยอดการผลิต แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่จากยอดขายที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ให้เห็นว่ายอดการผลิตจำเป็นต้องลดลงอย่างแน่นอน

ตลอดช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องเดือนเมษายนทั้งเดือน ผู้ผลิตรถยนต์ทุกยี่ห้อประกาศปิดโรงงาน หยุดไลน์ผลิตกันอุตลุด และแม้ว่าในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม หลายโรงงานทยอยกลับมาผลิต

แต่ก็ยังเห็นข่าวการปรับลดพนักงาน ปลดคนงาน ของทั้งผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ที่ป้อนชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับโรงงานผลิต หนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้ผลิตหลายยี่ห้อถึงกับออกปากว่า วิกฤตโควิดครั้งนี้รุนแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา นอกจากผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจแล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดครั้งนี้ ยังทำให้แนวทางการทำงานของคนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

ทุกวันนี้ค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนจำเป็นต้องเลือกดำเนินนโยบายกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งการลดระดับระบบการผลิตแบบ just in time รวมถึงการโยกฐานการผลิตออกสู่ประเทศที่เป็นฐานผลิตระดับยุทธศาสตร์ของภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ผลิตในประเทศใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น การชัตดาวน์การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในจีนส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนไปทั่วประเทศไทยก็กระทบด้วย แม้ว่าจะไม่ได้พึ่งพิงชิ้นส่วนจากจีนมากนัก เนื่องจากกว่า 80-90% เป็นการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ

แต่ชิ้นส่วนบางประเภทที่ต้องนำเข้าจากจีนอย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางรายการ เช่น เซ็นเซอร์ระดับสูง และ ECU เป็นต้น ที่ไม่สามารถส่งออกมาจากจีนได้ ก็ทำให้ต้องสลับไปหาชิ้นส่วนดังกล่าวจากประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นแทน ซึ่งลักษณะการพึ่งพิงฐานการผลิตเดียวที่มากเกินไปจนเกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าว

น่าจะเป็นสิ่งที่ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคตด้วยการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทาน โดยอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การผ่อนคลายระบบการผลิตแบบ just in time ลง เพื่อให้สามารถมีสต๊อกวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เตรียมไว้ผลิต รวมถึงการวางแผนงานในลักษณะที่ยืดหยุ่นขึ้น และมีการหาแหล่งวัตถุดิบหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนสำรองในอนาคตเผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย

อีกหนึ่งผลกระทบ คือ social distancing จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กระบวนการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนไทยจำเป็นต้องใช้ระบบออโตเมชั่นเพิ่มมากขึ้น

โรงงานประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนมีแนวโน้มที่จะพิจารณาจัดสภาพการทำงานของพนักงานในอนาคตให้สอดคล้องตาม เช่น การจัดช่วงห่างในพื้นที่ทำงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติรูปแบบต่าง ๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต

ทั้งหมดนี้คือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยยังจะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้สอดรับกันไปอีกพักใหญ่