กลุ่มลูกค้ารถ “เอ็มจี” อินดี้เล็ก ๆ มีกำลังซื้อ…กล้าตัดสินใจ

ไม่แปลกใจที่เอ็มจีใช้เวลาเพียง 6 ปี ในการเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา และสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดรถยนต์เอสยูวี ในช่วงครึ่งขวบปีแรกไปได้

โดย เอ็มจี แซดเอส มีส่วนแบ่งตลาดบี-เอสยูวี สูงถึง 31% ขายได้ 4,345 คัน ส่วน เอ็มจี เอชเอส (ซี-เอสยูวี) มีส่วนแบ่งตลาด 26% ขายได้ 2,564 คันเข้าป้ายเป็นเบอร์ 2 รองจากเชฟโรเลตแคปติวา ซึ่งดัมพ์ราคาแบบเทกระจาด ก่อนเก็บเป๋าออกจากตลาดบ้านเรามียอดขายมากกว่า เอ็มจี เอชเอส แค่ 13 คันเท่านั้น

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเทรนด์ของตลาดโลกและตลาดเมืองไทย กำลังก้าวไปสู่ความนิยมรถประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่อีกส่วนที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การอ่านเกมและมองตลาดได้อย่างเฉียบขาดของทีมผู้บริหารของเอ็มจี จะเป็นอย่างไร วันนี้ พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะมาไขคำตอบ

อะไรทำให้เอสยูวีบูม

จากตัวเลขเราจะพบว่าตลาดรถเอสยูวีในตลาดโลกมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2558 ย้อนกลับไปตอนนั้นความต้องการของตลาดเอเชีย ยังมีไม่ถึง 30% ส่วนปีนี้จะเห็นว่าผ่านไปครึ่งปี รถยนต์เอสยูวีมีส่วนแบ่งในตลาดถึง 21% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการมีรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดค่อนข้างเยอะจากหลาย ๆ แบรนด์ ทำให้ตลาดมีความคึกคัก

อีกปัจจัยคือ “ราคา” ที่มีความใกล้เคียงกับรถยนต์นั่ง อย่างในกลุ่มบี-เอสยูวี มีช่วงราคาค่อนข้างกว้าง นั่นเท่ากับว่าราคาไปชนกับรถยนต์นั่งเต็ม ๆ ถ้ารุ่นที่มีราคาสูงก็ไปชนกับซี-คาร์ หรืออย่างรุ่นราคาเริ่มต้นก็ลงไปกินตลาดของบี-คาร์ ก่อนหน้านี้จะเห็นว่ามี ฮอนด้า เอชอาร์-วี ทำตลาดอยุู่เพียงค่ายเดียว แต่เมื่อโตโยต้าส่ง ซี-เอชอาร์ ออกสู่ตลาด ยิ่งทำให้ตลาดนี้มีการขยับเพิ่มขึ้นและเอ็มจีเราเข้ามาและส่ง “แซดเอส” เข้าสู่ตลาด ยิ่งมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นนั่นเอง

เป้าหมายในปีนี้

สำหรับเอ็มจี เราตั้งเป้าว่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดเอสยูวี ไม่น้อยกว่า 25% เพิ่มขึ้นจาก 21% ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสค่อนข้างสูง เนื่องมาจากปัจจัยที่บอก คือ การมีผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้น และเอ็มจีมีสินค้าถึง 2 รุ่น คือ เอ็มจี แซดเอส และเอ็มจี เอชเอส และตลาดบีคาร์ และอีโคคาร์มีความต้องการที่มาก เครื่องยนต์ขยับ แต่ว่าราคาไม่ขยับ ส่วนปัญหาของตลาดนี้คือ ไฟแนนซ์ปล่อยผ่านค่อนข้างยากมากอย่างที่ผ่านมาตลาดที่โดนผลกระทบการปฏิเสธมากสุดคือ กลุ่มอีโคคาร์ และเอ็มจีช่วงที่ผ่านมา เรามีปฏิเสธสินเชื่อประมาณ 10%

ประเมินตลาดจากนี้

โดยส่วนตัวผมมองว่าหากตลาดรถยนต์จะฟื้น คาดว่าน่าจะราวไตรมาสสุดท้าย น่าจะกลับขึ้นมาใกล้เคียงกับปกติที่สุด กลับมาในลักษณะกึ่ง ๆ “วีเชพ” อย่างที่ผ่านมา ตลาดก็เริ่มขึ้นจากเดิมที่มองว่าจะตกลงไป 40% แต่ตัวเลขจริงครึ่งปีแรกลดลงไป 30%

ทั้งนี้้ ถ้าไม่มีการระบาดของไวรัสโควิดระลอกสอง หรือปัจจัยลบอื่น ๆ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจโดยรวมค่อนข้างนิ่งแล้ว และเอ็มจีประเมินว่ายอดขายโดยรวมทั้งปีที่ 700,000 คัน

โควิดทำให้ต้องเลื่อนแผนงานอะไรบ้าง

สำหรับวิกฤตโควิดที่ทุกคนเผชิญในช่วงที่ผ่านมานั้น โดยรวม ๆ แล้วไม่ได้ส่งผลให้เอ็มจีต้องปรับแผนงานแต่อย่างใด จะมีในส่วนของงานวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ที่ต้องหยุดลงไปเล็กน้อย มีบางอย่างล่าช้ากว่าแผนงาน แต่ทุกอย่างเรายังคงเดินหน้าต่อ

ทำให้แผนขยายเน็ตเวิร์กช้าลง

การขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายนั้น ปัจจุบันเรามีโชว์รูมและศูนย์บริการ 125-127 สาขาทั่วประเทศ ตามแผนงานปีนี้จะขยายเป็น 150 สาขาทั่วประเทศ ทุกอย่างยังตามแผนเอ็มจีเรายังคงมุ่งมั่นเน้นกลยุทธ์หลัก คือ “สินค้า คุณภาพ และงานบริการ”

สินค้าของเราคือรถยนต์ที่เราจะเน้นตัวสินค้า และราคาจำหน่าย ส่วนเน็ตเวิร์กจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์มากขึ้น

กระทบแผนแนะนำรถรุ่นใหม่มั้ย

เอ็มจียังยืนยันแผนงานเดิมที่เคยประกาศไว้ว่าจะมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ ปีละ 2 โมเดลเป็นอย่างน้อย สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า ลูกค้าที่วางใจเลือกใช้รถยนต์ของเอ็มจีนั้น จะมีความ “อินดี้” เล็กน้อย เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ กล้าที่จะมาซื้อ กล้ามาจองต่างจากแบรนด์ ๆ ทั่วไปส่วนเป้าหมายในปีนี้นั้น เราตั้งเป้าว่าอย่างน้อยจะต้องมียอดขายเท่ากับ หรือมากกว่าปีที่ผ่านมา คือ 26,566 คัน 6 เดือนแรกทำไปแล้ว 10,902 คัน จากเดิมมองไว้ 30,000 คัน แต่คงยาก ซึ่งถ้าสามารถไปถึงได้ เราก็อยากทำให้ได้ และหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังทุกอย่างจะดีขึ้น

เอ็มจีตั้งเป้าหมายว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้อย่างน้อย 2.6% จากแผนงานของเราคือ มีสินค้าเพิ่ม และสามารถแข่งขันได้ ดังนั้นเราเชื่อมั่นว่าจะเป็นปีที่ดีอย่างแน่นอนและในเร็วนี้ก็จะมีการแนะนำสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอีก 1-2 รุ่นด้วย

สุดท้าย นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า เมื่อ “เอ็มจี” ขึ้นมาขี่หลังเสือ และเลือกอยู่ในตลาดแมสแล้ว เราก็ต้องลุยให้เต็มที่ต่อไป