พิทักษ์ พฤทธิสาริกร “ไทยฐานผลิตชิ้นส่วนใหญ่ฮอนด้า”

ถือเป็นค่ายรถยนต์แรก ๆ ที่มีมาตรการชัดเจน และตัดสินใจอย่างเฉียบขาด เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา สำหรับค่ายฮอนด้าที่ตัดสินใจประกาศหยุดไลน์ผลิตเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน เพื่อประเมินสถานการณ์พร้อมให้พนักงานบางส่วนสามารถทำงานที่บ้าน

รวมทั้งมาตรการสำคัญในการช่วยเหลือคู่ค้า หรือตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ โดยฮอนด้าตัดสินใจหยุดส่งรถให้ดีลเลอร์ เพื่อไม่ต้องแบกรับสต๊อกหวังให้ดีลเลอร์มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งเป็นการปรับซัพพลายและดีมานด์ให้บาลานซ์กัน

แม่ทัพใหญ่ “พิทักษ์ พฤทธิสาริกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดโอกาสอัพเดตสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมทั้งฮอนด้าจะเป็นอย่างไร ไปติดตามกัน

Q : ประเมินผลจากโควิด-19

จากตัวเลข และการประเมินของ World Bank ที่ออกมาบอกว่า วิกฤตครั้งนี้ถือว่าใหญ่มาก และคาดว่าน่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกติดลบ 5.2% ที่สำคัญสถานการณ์ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด เพราะในประเทศต่าง ๆ ยังมีการแพร่ระบาดในวงกว้าง ทั้งอเมริกา บราซิล หรืออย่างที่ใกล้บ้านเรา คือ อินเดีย อินโดนีเซียยิ่งอากาศเริ่มหนาวขึ้น ทำให้คาดกันว่าราวเดือนพฤศจิกายน สถานการณ์อาจจะกลับมาพีกอีกครั้ง ส่วนประเทศไทยนั้นก็คิดว่ายังไม่นิ่ง แต่ถือว่ายังดีที่จำนวนผู้ติดเชื้อเกิดติดกันเองในประเทศไม่มีมาเป็นระยะเวลารวม 2 เดือน ทั้งนี้ ผลกระทบครั้งนี้น่าจะจบลงได้ เมื่อการคิดค้นวัคซีนสำเร็จ แต่ก็ยังมีความน่าเป็นห่วง หากมีการกลายพันธุ์

ส่วนประเทศไทยนั้น แบงก์ชาติได้ประกาศตัวเลขติดลบ 8.1% ถามว่าสุดท้ายหรือยัง? ทำไม ไทยติดลบมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก?

พิทักษ์ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบของจีดีพีติดลบสูง น่าจะสูงสุดในอาเซียน บวกกับได้รับผลกระทบจากการส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2562 และลดลงมาต่อเนื่องเป็นผลมาจากค่า “บาทแข็ง” ดังนั้น เมื่อเจอกับ “วิกฤตโควิด-19” ก็ทำให้เครื่องจักรอีกตัวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ อุตสาหกรรม “การท่องเที่ยว”ได้รับผลกระทบ และเชื่อว่าถึงสิ้นปีน่าจะยังไม่ฟื้น

เมื่อ 2 ปัจจัยข้างต้นรวมกัน คือ การส่งออก และการท่องเที่ยว ที่มีจีดีพีเกินครึ่งหนึ่งของประเทศได้รับผลกระทบ และนี่ก็คือ สาเหตุที่ไทยมีจีดีพีติดลบ

ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น “ดีมานด์ช็อก” คนจะซื้อรถหยุดคิดทันที และสิ่งที่ตามมา “สต๊อก” นิ่งไม่ถูกระบาย การแข่งขันสูงขึ้นในการเคลียร์ “สต๊อก”

Q : สิ่งที่ฮอนด้าต้องเร่งมือทำ

แน่นอนว่า ฮอนด้าหยุดการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป แต่ยังเดินหน้าผลิต “ชิ้นส่วนและเครื่องยนต์” เนื่องจากไทยเป็นฐานผลิตซีเคดีที่ใหญ่ที่สุดในโลกของฮอนด้า อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา”หยุดผลิตไปหนึ่งเดือน” เมื่อกลับมาผลิต เป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก ส่วนความต้องการในประเทศไม่มี ตอนนั้นเราได้ให้พนักงานอยู่ที่บ้าน บางส่วนมาผลิตชิ้นส่วน และเครื่องยนต์ ส่วนฝ่ายขายWFH ซึ่งหลายส่วนงานไม่ได้มีประสิทธิภาพลดลงเลย

ด้านการ “บริการ” สิ่งที่เราคำนึงอย่างยิ่งในการสร้างความมั่นใจ ศูนย์บริการ ดูแลเรื่องสุขอนามัย โดยขอให้ทุกคนใช้แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ซึ่งเราเห็นประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องของการบริหาร “ความเสี่ยง” เกือบ 20,000 ราย ทั้งพนักงาน ดีลเลอร์ เซลส์ เรียกว่ามีคนโหลด 100,000 ราย 1 ใน 5 เป็นคนของฮอนด้า

ขณะนั้นไพรออริตี้แรกไม่ใช่เรื่องการค้าขาย แต่เป็นการแสดงความห่วงใยกันช่วงนั้นฮอนด้าตัดการโฆษณาออกจากเว็บไซต์เลย พูดถึงเรื่องของความห่วงใยกัน #ถึงอยู่ห่างฮอนด้าก็ห่วง

ส่วนกองทุนฮอนด้า เคียงข้างไทย มีการทำอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อซัพพอร์ตบุคลากรทางการแพทย์ทั้งการมอบรถให้ รพ. เพื่อขนผู้ป่วยโควิด, เตียงแรงดันลบ ที่เราขอแบบมาปรับปรุง ให้วิศวกรของเราผลิต ปรับปรุงแบบให้ดีขึ้น ผลิตมา 100 เตียงกระจายไปทั่วประเทศ จังหวัดละ 1 เตียง

Q : ช่วยฉายภาพตลาดช่วงครึ่งปีแรก

จะเห็นว่ายอดขายในตลาดรวมนั้นติดลบประมาณ 39% โดยรถยนต์นั่งกระทบมากกว่าตลาดเล็กน้อยติดลบ 41.8% ส่วนรถในกลุ่มปิกอัพ โดยเฉพาะ”ปิกอัพหัวเดียว” ยอดขายดีมาก

ฮอนด้าเองเราโฟกัสตลาดที่เราแข่งขัน คือ ตลาดรถยนต์นั่ง ซึ่งฮอนด้าจะรักษาส่วนแบ่งเอาไว้ให้ได้ ครึ่งปีแรกฮอนด้ามียอดขาย 41,326 คัน ส่วนแบ่งตลาด 29.2% ยังคงเป็นที่หนึ่งในตลาดรถยนต์นั่ง และมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทำได้กว่า 27%

Q : มองตลาดครึ่งปีหลังอย่างไร

ส่วนสถานการณ์ในครึ่งปีหลัง จริง ๆ แล้วไม่กล้ามอง…ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด ซึ่งยากที่จะประเมิน แต่ก็จำเป็นต้องประเมินโดยสมมุติฐาน เดิมคาดกันว่าตลาดจะตกลงประมาณ 3 เดือน เม.ย.ถึง มิ.ย. แต่ความเป็นจริง เดือน พ.ค.ก็เริ่มดีขึ้นอย่างค่อนข้างชัดเจน ถ้ามองโลกในแง่ดี หากโมเมนตัมยังเป็นแบบนี้ ตลาดควรจะดีขึ้นตามลำดับ โดยเชื่อว่ายอดขายทั้งปี 680,000 คัน ลดลง 32% ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนรถนั่ง 304,000 คัน ลดลง 35%

ส่วนทั้งปีของฮอนด้าคาดจะขายได้ 98,000 คัน ลดลง 25% แต่มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นเป็น 30% แม้ว่าจะมีแผนเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมา แต่ปีนี้จะเป็นปีแรกในรอบหลายปีที่ฮอนด้ายอดขายต่ำกว่า 100,000 คัน เป็นแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554

ทั้งนี้ ฮอนด้าคาดว่าเศรษฐกิจในไทยไม่เป็นตัววี แต่จะเป็นเครื่องหมาย “ถูก” หางยาว ๆ ซึ่งต้องดูส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทุกอย่างมันจะล้อกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

Q : เดินหน้าชูนโยบาย 3 ด้าน

เพื่อปรับปรุงการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ฮอนด้าได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ตั้งแต่งานด้านการตลาดที่เพิ่มความเข้มข้นในรูปแบบออนไลน์ โดยใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ (big data) และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น ใน 3 ด้าน คือ sales & marketing ซึ่งการดำเนินงานด้านออนไลน์ ด้วยการทำออโต้โชว์รูม มีเว็บแชตได้รับการตอบรับที่ดี เริ่มใช้ตอนมอเตอร์โชว์

“data management” เพื่อบริหารจัดการในการติดตามผู้บริโภค เพื่อนำเสนอข้อมูลให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ลูกค้า

“after sales service” ถือเป็นจุดแข็งของฮอนด้า เรามีอัตราลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่โชว์รูมสูงกว่าทุกยี่ห้อ “สร้างคุณค่าใหม่ของงานบริการรูปแบบใหม่ เพื่อให้ลูกค้าออนไลน์บุ๊กกิ้ง ฟาสต์แทร็ก DROP & GO SERVICES และ “digital transformation” เอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร มีกลุ่มสตาร์ตอัพเล็ก ๆ ในองค์กร พร้อมจัดทำโครงการ Blockchain Innovation Technology (BIT) มาใช้ในองค์กร คอนเซ็ปต์ “ธนาคารเวลา”

ธนาคารความดี จะได้เหรียญดิจิทัล เริ่มในงานเพื่อกิจกรรมสังคมกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่บริษัททำ

Q : อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลอะไรบ้าง

เศรษฐกิจแบบนี้กำลังซื้อยังไม่กลับมา แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ยอดเริ่มขยับนั้น เพราะตลาดอั้นมาตั้งแต่เจอมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้มีดีมานด์จากกลุ่มคนที่ “ต้องการมีรถส่วนตัวของตัวเอง” แต่ตลาดจะฟื้นกลับมา ต้องรอดูอีกระยะว่ากำลังซื้อจะมาหรือไม่ ส่วนมาตรการที่จะขอสนับสนุนจากภาครัฐนั้น ฮอนด้าคงไม่ร้องขอ “ไม่ละครับถ้าสังเกต เราไม่เคยขอ”

ตลาดรถยนต์จะล้อไปตามสภาพเศรษฐกิจ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลตลาดรถยนต์โดยตรง รถยนต์เป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่อะไรเป็นอุปสรรคสำหรับการทำธุรกิจ ถ้ามี เราก็จะบอก ขอให้กำจัดออกไป

Q : มองการแข่งขันตลาดจากนี้

การแข่งขันในตลาดรถยนต์นั้น มันเข้มข้นจนไม่รู้จะเข้มข้นอย่างไรแล้ว ตั้งแต่หลังโครงการรถยนต์คันแรก การแข่งขันสูงมาก ผมพูดเสมอว่า เดี๋ยวมันจะดีขึ้น แต่ไม่เคยดีขึ้นเลย…

จนล่าสุดมันไร้เหตุผลแล้ว…ค่ายรถประกาศลด 50% เนื่องจากเหตุผลไม่ทำธุรกิจต่ออันนี้พอรับได้ แต่คนซื้อก็พร้อมเสี่ยง แต่บางค่ายที่ยังอยู่ แต่มีการเทขาย ไม่ใช่เรื่องดี ฮอนด้าไม่คิดทำแบบนั้น

การตัดราคาสั้น ๆ ไม่เป็นประโยชน์ระยะยาวต่อทั้งสองฝ่าย ไปทำลายตลาดมือสอง แวลูของแบรนด์นั้น ฮอนด้ามีนโยบายชัดเจนว่าไม่ทำแบบนี้

เพราะเป็นความไม่รับผิดชอบปัจจุบันไฟแนนซ์เข้มข้น แต่ลูกค้าฮอนด้าเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพมาก ไฟแนนซ์ทุกเจ้าอยากจะให้บริการ เพียงแต่ไฟแนนซ์อาจจะมีความเข้มงวดขึ้น จะใช้เวลานานขึ้น เช่น ขอเอกสารเพิ่ม ผู้ค้ำเพิ่ม “เวลา” ใช้นานขึ้นในการอนุมัติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสถานการณ์ปัจจุบัน