ตลาดรถบรรทุก 8 หมื่นล้านระอุ ซีพีโฟตอนถล่มรถใหม่-MAN จ่อแชมป์ยุโรป

ตลาดรถบรรทุก 8 หมื่นล้านเดือด ซี.พี.ผนึกโฟตอนจากจีนเดินเครื่องรุกตลาดเต็มสูบ หลังเซตอัพระบบลงตัว เข็นรถใหม่กระทุ้งตลาดครึ่งปีหลัง พร้อมเร่งขยายเน็ตเวิร์กคลุมทุกพื้นที่ ตะลุยเจาะลูกค้าฟลีต ดันเป้าทั้งปีทะลุ 450 คัน ลั่น 2 ปีขึ้นไลน์ผลิต ด้าน “เอ็ม เอ เอ็น” เทอีก 300 ล้านปูพรมเซอร์วิส ดึงช่องว่างราคาญุี่ปุ่น-ยุโรปแคบลง ทะยานขึ้นเบอร์หนึ่งแบรนด์ยุโรป


นายกฤษณะ เศรษฐธรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) บรรลุข้อตกลงร่วมลงทุนกับกลุ่มโฟตอนจากจีน โดยใช้เวลาเซตระบบต่าง ๆ มา1 ปีเต็ม มั่นใจว่าหลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลารุกทำตลาดอย่างเต็มสูบ โดยซีพี โฟตอนจะมีความพร้อมทุกด้านทั้งทีมงาน โปรดักต์ ดีลเลอร์เน็ตเวิร์ก และบริการหลังการขาย ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ซีพี โฟตอนจะจัดงาน “Drive The Future” พร้อมทั้งเปิดตัวรถบรรทุกและรถบัสขนาด 20 ที่นั่งรวดเดียวถึง 4 รุ่น

“แผนการรุกตลาดในครึ่งปีหลังของเราจะเข้มข้นมากขึ้น และเชื่อว่าน่าจะผลักดันยอดขายที่ตั้งเป้าไว้ 450 คันให้บรรลุหรือใกล้เคียงเป้าหมายได้ แม้ว่าตลาดรถยนต์ปีนี้จะหดตัวจากผลกระทบโควิดก็ตาม”

นอกจากนี้ บริษัทจะเร่งขยายดีลเลอร์เน็ตเวิร์กเพื่อรองรับโปรดักต์ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเพียง 10 รายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้น่าจะขยายได้ครบ 25 แห่ง รวมทั้งขยายงานด้านบริการหลังการขายให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายกฤษณะกล่าวว่า ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ซึ่งมีมูลค่าต่อปีประมาณ 8 หมื่นล้านบาท หรือมีวอลุ่มต่อปีประมาณ2 หมื่นคัน ปีนี้น่าจะดุเดือดพอสมควร เนื่องจากตลาดเริ่มมีความต้องการใช้รถประเภทนี้มากขึ้น จากการขยายโครงการต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งซีพี โฟตอนก็ได้ตั้งทีมเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ (ฟลีต) เพิ่มมากขึ้นด้วย

“ปีนี้โปรดักต์ทั้ง AUMAN และ AUMARK น่าจะใกล้ ๆ 20 รุ่น มีทั้งหัวลาก รถดัมพ์ทั้ง 10 ล้อ 6 ล้อ หรือประเภท 4 ล้อเล็กที่เอามาใช้งานแทนปิกอัพ และยังมีมินิบัสขนาด 20 ที่นั่ง ซึ่งใช้ทดแทนรถตู้อีกด้วยโครงสร้างเดมเลอร์ เครื่องคัมมินส์ เกียร์ ZF จุดขายเรายังเน้นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี ในขณะที่คู่แข่งอื่น ๆ มั่นใจว่ามีกลุ่มลูกค้าในมือแล้วมักจะหยุดพัฒนา ทำให้มั่นใจว่าสินค้าของเราน่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด และตอบได้ครบทุกโจทย์ความต้องการของลูกค้า”

ส่วนแผนขึ้นไลน์ผลิตในประเทศ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1-2 ปี ตอนนี้ยังเป็นซีบียูจากจีนทั้งหมด

นายจักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้อำนวยการเอ็ม เอ เอ็น ทรัค แอนด์ บัส ประเทศไทย หรือ MAN เปิดเผยว่า ตอนนี้บริษัทแม่ที่เยอรมนีตัดสินใจเข้ามาลงทุนทำตลาดรถบรรทุกและรถบัสในประเทศไทยอย่างเต็มตัว หลังจากหมดสัญญากับตัวแทนจำหน่ายเดิม เนื่องจากมองเห็นโอกาสการทำตลาดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขปี 2562ที่ผ่านมา เอ็ม เอ เอ็นฯมีส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคนี้อยู่ราว 8% จากยอดขายทั่วโลก แบ่งเป็นรถบัส600 คัน และรถบรรทุก 3,000 คัน

สำหรับประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศที่มีโอกาสและมีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างสูง ประกอบกับอนาคตมีโอกาสที่ไทยจะเป็นเซลเซ็นเตอร์ของเอ็ม เอ เอ็นฯในภูมิภาคด้วย

การตัดสินใจเข้ามาทำตลาดครั้งนี้ของบริษัท เบื้อต้นมีการลงทุนมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท ทั้งในส่วนของสต๊อกสินค้าและอะไหล่ รวมทั้งการลงทุนในด้านโอเปอเรตต่าง ๆ เบื้องต้นตั้งเป้าจะทำตลาดในส่วนของรถเพื่อการขนส่งและเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะตลาดโลจิสติกส์ไทยประกอบกับพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มองหาความคุ้มค่าปลอดภัยมากขึ้น จากก่อนหน้านี้จะเน้นไปที่เรื่องของราคาจำหน่าย ซึ่งเปิดโอกาสให้รถแบรนด์ยุโรปเข้ามาทำตลาดได้มากขึ้น และในอนาคตเชื่อว่าช่องว่างด้านราคาระหว่างรถยุโรปและรถญี่ปุ่นจะแคบลง เนื่องจากลูกค้าเริ่มเปรียบเทียบในหลาย ๆ ด้าน ทั้งราคา, อัตราการบริโภคน้ำมัน, มาตรฐานยุโรป, ค่าเสื่อม, บริการหลังการขาย และระยะเวลาในการใช้งานที่คุ้มค่าคุ้มราคามากขึ้น

โดยตั้งเป้าจะขึ้นเป็นผู้นำรถบรรทุก รถบัสสัญชาติยุโรปให้ได้ภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ โดยปี 2562 ตั้งเป้าว่าจะมียอดขายที่ราว 100-120 คัน โต 20% จากปีนี้ที่เป็นปีแรกในการเข้ามาทำตลาดอย่างเต็มตัว

เบื้องต้นสถานการณ์ของตลาดรถบรรทุกปีนี้คาดว่าจะลดลงอย่างน้อย 35% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือมียอดขายอยู่ราว 17,000-18,000 คัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นรถแบรนด์ยุโรปประมาณ 400-450 คัน และกลุ่มรถยุโรปนั้น 90% ของตลาดเป็นแบรนด์ที่มีการทำตลาดมาอย่างยาวนาน ขณะที่ 10% จะเป็นแบรนด์ยุโรปอื่น ๆ และเอ็ม เอ เอ็นฯอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาด บริษัทจะเน้น 3 กลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1.จัดจำหน่ายรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานยุโรป สอดคล้องกับการใช้งานของลูกค้า ได้แก่ รถหัวลาก และรถบรรทุก ที่ได้มาตรฐานยุโรป นำเข้าซีบียู 100% ในราคาที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้

2.สร้างความพร้อมด้านการให้บริการหลังการขาย ทั้งอะไหล่และช่างเทคนิคเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจของลูกค้า และ 3.ขยายเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายและศูนย์บริการ 10 แห่ง ภายใน 5 ปี ครอบคลุมการให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ

และบริษัทได้ส่งรถบรรทุกหัวลากเอ็ม เอ เอ็นฯ รุ่น TGS 6×4 แบบ 10 ล้อ แบบหัวเก๋ง แบบ L และแบบ LX หรือหลังคาสูง ทั้งหมด 3 รุ่นย่อยประกอบไปด้วย 1.TGS 6×4 360 แรงม้า 2.TGS 6×4 400 แรงม้า 3.TGS 6×4 440 แรงม้า โดยจำหน่ายในราคาเริ่มต้นที่ 4.2 ล้านบาทขึ้นไป

“เรามั่นใจว่าเราจะสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำตลาดในประเทศไทยได้ไม่ยาก เรามีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน คือ ชูความประหยัด ทนทาน มาตรฐานเยอรมนี ที่สำคัญรถของเรายังเป็นการ นำเข้าทั้งคันจากเยอรมันด้วย”

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ความมั่นใจด้วยการบริการหลังการขายผลิตภัณฑ์ มีการรับประกันคุณภาพของตัวรถทั้งคัน 12 เดือนโดยไม่จำกัดระยะทาง และการรับประกันระบบขับเคลื่อน 24 เดือนโดยไม่จำกัดระยะทาง พร้อมกันกับบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน roadside assistance 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 24 เดือนโดยไม่จำกัดระยะทางเช่นกัน ส่วนด้านอะไหล่มีการรับประกันคุณภาพของอะไหล่ 24 เดือนโดยไม่จำกัดระยะทาง