วาย.เอส.เอส.รุกขยายธุรกิจ ตั้งเป้า 3 ปี ขึ้นแท่นอันดับ 1 ผู้ผลิตโช้กอัพรถยนต์สมรรถนะสูงของไทย คาดสิ้นปีรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท เตรียมทุ่มงบประมาณ 50 ล้านบาท เปิดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรก
นายภิญโญ พานิชเกษม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วาย.เอส.เอส. (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและพัฒนาโช้กอัพรถจักรยานยนต์สมรรถนะสูง อันดับ 1 ภายใต้แบรนด์ “YSS” เปิดเผยว่า ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ครึ่งปีแรก(ม.ค.-มิ.ย. 63) มียอดจำหน่ายลดลง33% ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกมียอดขายรวม 441 ล้านบาท เติบโต 4.13% เป็นการเติบโตจากตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป
“กลุ่มประเทศยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หนักมาก โดยเฉพาะในอิตาลี แต่ยอดขายโช้กอัพของเรากลับขยายตัวสูงถึงกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดี มีโรคระบาด การใช้เงินของผู้บริโภคมุ่งไปที่ความคุ้มค่า ซึ่งผลิตภัณฑ์ YSS มุ่งตอบโจทย์เรื่องความคุ้มค่า คุ้มราคา ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้น”
ขณะที่ตลาดในประเทศไทย ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ยอดขายลดลง 10-30% แต่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ยอดขายกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพตลาดโช้กอัพโดยรวมมีการเปลี่ยนแปลง โดยจากวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้สินค้าเลียนแบบไม่สามารถเข้ามาทำตลาดได้ ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ YSS ของแท้มากขึ้น รวมทั้งบริษัทได้พัฒนาระบบการขนส่งเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็ว ดังนั้นคาดว่าในปีนี้ บริษัทยังสามารถเติบโตได้เป้าหมายที่วางไว้ หรือมียอดขายแตะ 1,000 ล้านบาท
นายภิญโญกล่าวว่า YSS ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งวันนี้สามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่า YSS เป็นผลิตภัณฑ์โช้กอัพแบรนด์ไทยที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในตลาดโลก ในกลุ่มสินค้าประเภท high performance ของมอเตอร์ไซค์และสกูตเตอร์ โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ YSS มีส่งออกไปจำหน่ายใน 55 ประเทศ ทั้งในภูมิภาคยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกา มีตัวแทนจำหน่าย 95 ราย และมีศูนย์บริการ 121 แห่งทั่วโลก มีกำลังการผลิตมากกว่า 1.5 ล้านชิ้นต่อปี
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายธุรกิจศูนย์บริการ โดยจะเปิดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในกรุงเทพฯ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 40-50 ล้านบาท และมีแผนขยายศูนย์บริการเพิ่มทั้งในกรุงเทพฯต่างจังหวัด รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างครบวงจรมากขึ้น