แบงก์เข้ม ‘กู้ซื้อรถ’ ไม่ผ่าน 35% เพิ่มสารพัดเงื่อนไขกันหนี้เสีย

ภาพจาก ข่าวสด

ข่าวดียอดขายรถกระเตื้อง-ข่าวร้ายยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง “ทิสโก้” เผยอนุมัติสินเชื่อลดเหลือ 65% เผยคนตกงาน-รายได้ฮวบ จ่ายหนี้ลดลง เพิ่มเงื่อนไข “ผู้ค้ำประกัน-วางเงินดาวน์” ประธานสมาคมเช่าซื้อฯชี้แบงก์เพิ่มสารพัดเงื่อนไขกันความเสี่ยง “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี” ชี้รถมือสองช่วยอุ้มตลาดเช่าซื้อ

ยอดอนุมัติสินเชื่อแค่ 65%

นายรุ่งโรจน์ จรัสวิจิตรกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ยอดขายรถยนต์ทั้งปีน่าจะกว่า 7 แสนคัน สูงกว่าที่คาดการณ์ช่วงก่อนหน้าว่าจะไม่เกิน 6.8 แสนคัน เนื่องจากยอดขายช่วง ก.ค.-ส.ค.ปรับตัวดีขึ้น โดยจะส่งผลให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขยายตัวต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านรายได้ของลูกค้า ธนาคารได้ปรับลดความยืดหยุ่นการพิจารณาสินเชื่อใหม่ เช่น จากเดิมลูกค้าที่มีหนี้ประเภทบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล เดิมธนาคารอาจจะปล่อยสินเชื่อให้โดยไม่ได้ดูพิจารณาหนี้ก้อนนี้ แต่ปัจจุบันนำข้อมูลหนี้ดังกล่าวมาพิจารณาด้วย รวมถึงเกณฑ์เรื่องรายได้ลูกค้าต้องครอบคลุม 2 เท่าของอัตราผ่อนชำระ เป็นต้น

โดยปัจจุบันยอดการอนุมัติสินเชื่อ (approval rate) ปรับลดลง จากเดิมเคยอยู่ที่ระดับ 80% เหลือ 65% ในส่วนของ 35% ที่สินเชื่อไม่ผ่าน จะมีประมาณ 6-7% ถูกปฏิเสธแน่นอน เนื่องจากไม่มีรายได้ หรือไม่มีงานทำส่วนอีกเกือบ 30% จะเป็นลูกค้าที่ติดเงื่อนไขคุณสมบัติ เช่น สัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูง เพราะช่วงโควิดรายได้ลดลง รวมถึงบริษัทมีการนำข้อมูลหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคลมาพิจารณาด้วย ก็ทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น กลุ่มนี้ก็จะต้องเพิ่มผู้ค้ำประกัน หรือวางเงินดาวน์เพิ่ม เป็นต้น ซึ่งหากลูกค้าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขก็จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อต่อไป

เข้มคุณภาพ-ไม่เน้นโต

“เราลดความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.ที่โควิดระบาดรุนแรง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เห็นสัญญาณยอดขายรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อปรับลดลง 40% แต่หลังจากเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์และสินเชื่อทยอยปรับตัวดีขึ้น เหลือหดตัวแค่ 10%”

นายรุ่งโรจน์กล่าวต่อว่า ปีนี้ธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโต แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อโดยปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เช่าซื้อของทิสโก้ อยู่ในระดับต่ำกว่าภาพรวมเอ็นพีแอลของธนาคาร ซึ่งอยู่ที่ 3% คุณภาพลูกหนี้เช่าซื้อถือว่าค่อนข้างดี ส่วนหนึ่งได้ประโยชน์จากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้ลูกค้า 6 เดือน สามารถลดค่างวดลง 30% ซึ่งทิสโก้มีลูกค้าเข้าร่วมโครงการประมาณ 25% ของพอร์ตที่มีอยู่กว่า 4 แสนบัญชี หรือคิดเป็น 9 หมื่นบัญชี ซึ่งในจำนวนดังกล่าวพบว่าประมาณ 95% กลับมาชำระหนี้ได้ปกติ และที่เหลือ 5% ที่มีสัญญาณค้างชำระ 1-3 เดือน

“อย่างไรก็ดี ธนาคารอาจจะต้องกลับมาดูคุณภาพลูกค้าอีกครั้งภายหลังจบมาตรการในเดือน ต.ค.นี้ โดยเชื่อว่าทุกธนาคารจะมาเน้นเรื่องยอดหนี้ต่อมูลค่าหลักประกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรถ หรือสินเชื่อบ้าน เช่น ลูกหนี้มียอดหนี้ 3 แสนบาท หลักประกัน 5 แสนบาท อันนี้ก็จะช่วยเหลือต่อไปได้ แต่กลับกัน ถ้ายอดหนี้ 5 แสนบาท หลักประกัน 3 แสนบาท อาจจะต้องมาหาทางออกร่วมกัน เช่น หาผู้ค้ำประกันเพิ่ม หรือเพิ่มหลักประกัน เพราะมูลค่าหลักประกันรถยนต์จะตกลงเฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อบ้านที่ราคาเพิ่มขึ้น”  นายรุ่งโรจน์กล่าว

 แบงก์แห่เพิ่มเงื่อนไข

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ในฐานะประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเช่าซื้อยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด โดยปรับเพิ่มจากระดับ 8-10% ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 15% ซึ่งถือว่ายังสูง แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบช่วงระบาดรุนแรงในเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ยอดปฏิเสธสินเชื่อเคยขึ้นไปสูงถึงระดับ 25-30% เนื่องจากผู้ให้สินเชื่อชะลอปล่อยกู้กันหมด โดยขณะนี้กิจการเริ่มกลับมาเปิด ลูกค้ากลุ่มสีแดงเสี่ยงสูงเริ่มกลับมาเป็นสีเหลือง ทำให้แบงก์พิจารณาปล่อยกู้มากขึ้น แต่ยังคงเกณฑ์ในเรื่องความสามารถชำระหนี้และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์

“การอนุมัติสินเชื่อใหม่ แบงก์ยังคงให้ความระมัดระวัง พิจารณาตามกลุ่มผลกระทบ เช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากโควิด-19 กลุ่มกระทบทางอ้อม และกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ ถ้าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พนักงานสายการบิน ท่องเที่ยว เดิมจะปฏิเสธการให้สินเชื่อทันทีทั้งหมด แต่ปัจจุบันผ่อนคลายลง โดยจะดูประวัติทางการเงินจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ซึ่งบางรายอาจจะต้องให้วางเงินดาวน์เพิ่มขึ้น 5-10% เป็นต้น”

นายวิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลของซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น จากก่อนโควิดอยู่ที่ 0.8% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 1.4-1.5% และแนวโน้มอาจจะยังเพิ่มขึ้นอีกตามภาวะเศรษฐกิจ

หนี้เสียรถเพิ่มไม่มาก

นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทีเอ็มบี กล่าวว่า การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของทีเอ็มบีจะดูตามความเสี่ยง และภาระหนี้ต่อรายได้ลูกค้าเป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคจำนวนมากได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง ทำให้การอนุมัติสินเชื่อใหม่ลดลง ขณะที่ปัญหาคุณภาพสินเชื่อขณะนี้ยังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นชัดเจน เพราะมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท. ซึ่งลูกค้าธนาคารที่เข้าโครงการมีประมาณ 50% ของพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ 4 แสนล้านบาท

“ตัวเลขค้างชำระในเดือน ส.ค.-ก.ย.ก็ดีกว่าที่ประเมินไว้ สะท้อนว่าหนี้เสียไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ดี พอร์ตลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จริง อาจจะเป็นหนี้เสียอยู่บ้าง แต่เราจะหาโปรแกรมมาช่วยบริหารจัดการ เช่น ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางด้านกระแสเงินสด ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่มีงานทำ แต่โดนลดเงินเดือน ก็จะปรับโครงสร้างการชำระเงินให้เหมาะกับลูกค้า ทั้งการลดค่างวด ขยายเทอมการชำระหนี้ เป็นต้น” นายป้อมเพชรกล่าว

รถมือสองอุ้มตลาดเช่าซื้อ

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า แม้ยอดขายรถยนต์จะกระเตื้องขึ้น แต่ภาพรวมสินเชื่อรถยนต์ปีนี้คงไม่ได้เติบโตเหมือนช่วงครึ่งหลังปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ที่สินเชื่อโตกว่า 10% โดยสินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวมาตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2562 มาถึงปีนี้ที่เจอโควิดเข้าไปอีก ซึ่งจนถึงกลางปีนี้สินเชื่อคงค้างโต 4.1%

“ที่โตได้ 4.1% เพราะตลาดรถมือสองไม่ได้แย่มาก ราคารถมือสองไม่ได้ตกหนักอย่างที่กลัวกัน ไม่เหมือนช่วงรถคันแรก และส่วนหนึ่งก็เพราะยังอยู่ในช่วงพักหนี้ทั้งระบบ ทำให้ยอดคงค้างยังไม่ลดลง แต่พอช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่เริ่มกลับมาชำระก็เริ่มเห็นสินเชื่อคงค้างหดตัวลง และทิศทางก็น่าจะลดลงไปอีก” นายนริศกล่าว

นายนริศกล่าวว่า ยอดขายรถใหม่ในเดือน ก.ค.-ส.ค.ฟื้นขึ้นมาแตะระดับ 6 หมื่นคันต่อเดือนได้ แต่ก็ยังแย่กว่าช่วงก่อนโควิดที่มียอดขายอยู่ระดับ 8 หมื่นคันต่อเดือน อย่างไรก็ดี ถือว่าฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดกันไว้ และฟื้นตัวได้ดีกว่าสมัยวิกฤตปี 2540 ซึ่งต้องใช้เวลาฟื้นตัวยาวกว่า 2 ปี

ทั้งนี้ ในด้านคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อคาดว่าเอ็นพีแอลไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะแบงก์พยายามปรับโครงสร้างหนี้กันอยู่ โดยถึงกลางปี 2563 เอ็นพีแอลทั้งระบบอยู่ที่ 1.88% ซึ่งก็มีโอกาสปรับขึ้นมาอยู่สูงกว่า 2% ในช่วงปลายปี

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบแบงก์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะสินเชื่อรถยนต์ที่เข้าพักชำระหนี้ก็มากอยู่ แบงก์ก็ต้องดูแลความเสี่ยงให้เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ดี ทิศทางการชำระออกมาดี ผมว่าตรงนี้เป็นข่าวดี และรถใหม่ก็ยังกลับมาขายดีขึ้นได้” นายนริศกล่าว