นิสสันจี้ดีลเลอร์เลิกไพรซิ่งวอร์ หวั่นกระทบแบรนด์รื้อโครงสร้างราคาใหม่

“นิสสัน” จับมือดีลเลอร์เลิกตัดราคาขาย ใช้ความแกร่งโปรดักต์เป็นตัวทำตลาด เพิ่มศักยภาพแบรนด์ ยันไทยเป็นฐานผลิตสำคัญ ปรับไลน์ “เอ็กซ์เทรล ซิลฟี่ เทียน่า” เทกำลังผลิตซัพพอร์ต “คิกส์”เต็มสูบ

นายราเมช นาราสิมัน ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดเปิดเผยว่า นโยบายนิสสันจากนี้จะใช้ผลิตภัณฑ์เป็นตัวรุกตลาดไม่ใช้แคมเปญเหมือนแต่ก่อน และผนึกกำลังกับดีลเลอร์ทุกรายเลิกวิธีตัดราคาขาย (ไพรซิ่งวอร์) ซึ่งกระทบภาพลักษณ์แบรนด์”เราพยายามทำความเข้าใจกับดีลเลอร์ ซึ่งทุกรายให้ความร่วมมืออย่างดี นอกจากนี้ เรายังได้พยายามปรับราคาขายให้สมเหตุสมผล โดยเริ่มจากนิสสัน อัลเมร่า และคิกส์ เป็นต้นมา หรืออย่าง โน๊ต ก็เพิ่งมีการปรับราคาไปเมื่อช่วงโควิดที่ผ่านมา และราคาที่เราปรับนั้นก็คือเป็นราคาที่มีส่วนลด มาเป็นราคาขายเลย นอกจากนี้ บริษัทก็อยู่ระหว่างการศึกษาว่ารถยนต์โมเดลใดควรจะมีการปรับราคาอีกต่อไปด้วย” นายราเมชกล่าว

ส่วนการตัดสินใจยกเลิกการผลิตและการขายรถยนต์ 3 รุ่น คือ ซิลฟี่ เทียน่า และเอ็กซ์เทรลนั้น เนื่องจากปัจจุบันนิสสันมียอดขายทั้ง 3 รวมกันแล้ว มีประมาณ 100 คันเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างต่ำ ประกอบกับรถทั้ง 3 โมเดลผลิตที่โรงงาน 1 ซึ่งผลิตนิสสัน คิกส์ ที่ปัจจุบันมีความต้องการค่อนข้างสูง และบริษัทต้องใช้วิธีการผลิตรถล่วงเวลาเพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าในประเทศและตลาดส่งออก ดังนั้น นิสสันต้องตัดสินเลือกโฟกัสในสินค้าที่อยู่ในความต้องการของลูกค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ประกอบกับลูกค้ามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อรถยนต์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยเฉพาะรถเอสยูวี นิสสันมีเทอร์ร่า ขณะที่บี-เอสยูวีมี คิกส์ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตสำหรับภูมิภาคอาเซียน เอเชีย โอเชียเนีย โดยนิสสันมีการลงทุนในปี 2562 ที่ผ่านมา มูลค่าถึง 5,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ลงทุนเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการยืนยันที่ดีที่ว่า นิสสันยังคงทำธุรกิจต่อในประเทศไทย

ขณะที่กำลังผลิตของนิสสัน ส่วนของโรงงานแห่งที่ 1 ซึ่งผลิตรถยนต์นิสสัน เอ็กซ์เทรล, ซิลฟี, เทียน่า, โน๊ต และมาร์ช ขณะนี้ผลิต 110% ของกำลังผลิต มีโอทีเพื่อผลิตให้ทัน

ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งผลิตเทอร์ร่า,นาวารา ซึ่งตลาดใหญ่คือ ไทย, ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันในออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ ยังอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการของตลาดส่งออกลดลงดังนั้น โรงงาน 2 กำลังผลิตยังไม่เต็ม 100% ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.ลดลง และขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มฟื้นกลับมา แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 20-25%

ส่วนนิสสันเริ่มเห็นผลกระทบจากโควิดตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. ลูกค้าได้มีการถอนจองรถยนต์บางรุ่น และชัดเจนตั้งแต่ มี.ค.-มิ.ย. ทำให้นิสสันและผู้ประกอบการรายอื่นต่างตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ขณะนี้เริ่มดีขึ้นอย่างอัลเมร่า มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 10% ในเซ็กเมนต์นี้ จากเดิม 6% เท่านั้น สำหรับนโยบายของนิสสัน

ในปัจจุบันไม่ได้ต้องการไล่ตามในเรื่องยอดขาย จะเห็นว่าคู่แข่งมีความพยายามใช้แต่แคมเปญเข้ามาทำตลาดค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ใช่นโยบายของนิสสัน เนื่องจากต้องการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ไว้ รวมถึงมาร์ช โน๊ต และนาวารา ที่นิสสันเชื่อว่ายังมีโอกาสในการทำตลาดได้มากกว่าปัจจุบัน

ส่วนนิสสัน คิกส์ หลังจากมีการส่งมอบในเดือนสิงหาคม ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังไม่ใช่ตัวเลขที่นิสสันอยากได้

นิสสันได้มีการหารือกับดีลเลอร์เพื่อคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาวางแผนสต๊อกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด รวมทั้งความกังวลของลูกค้าในเรื่องเทคโนโลยี อี-เพาเวอร์ ซึ่งนิสสันต้องสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับลูกค้า

ขณะที่ยอดขายรถยนต์โดยรวมปีนี้ คาดว่าขยับไป 680,000-700,000 คันโดยนิสสันไม่ได้มองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นเป้าหมายหลักในปีนี้และปีหน้า แต่ต้องการสร้างแบรนด์นิสสันให้แข็งแกร่ง จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งอยู่ราว 6.5%


ส่วนความเป็นไปได้ของรถยนต์ไฟฟ้า อารียา ในการนำเข้ามาทำตลาดในไทย โดยส่วนตัวอยากให้นิสสันนำรถรุ่นนี้เข้ามาทำตลาด เนื่องจากเป็นรถที่มีเทคโนโลยีที่สุดของนิสสัน และน่าจะเป็นตัวที่ทำให้ยอดขายมีการเติบโต เพียงแต่การนำรถรุ่นนี้เข้ามาต้องมีหลายปัจจัยเพื่อทำให้ลูกค้าได้สินค้าดีในราคาที่เหมาะสมที่สุด