“โตโยต้า” ชูบริการนำการขาย เร่งหาเซอร์วิสใหม่เสริม “คินโตะ-eWallet”

โตโยต้า

โตโยต้าลั่น ปีหน้าชูนโยบาย “บริการ” นำการขาย เร่งเครื่องขับเคลื่อนองค์กรด้วยเซอร์วิสรูปแบบใหม่ต่อเนื่อง เผยตลาดรถยนต์เริ่มฟื้นตัวส่งผลมาร์เก็ตแชร์โตพรวด 2 เดือนติด ขอโทษลูกค้าส่งมอบช้า “ฟอร์จูนเนอร์-ครอส” ผลิตไม่ทัน หลังลูกค้าตอบรับดีเกินคาด

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนธุรกิจของโตโยต้าในประเทศไทยปีหน้าจะเน้นบริการที่หลากหลายนำการขาย เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น “องค์กรแห่งการขับเคลื่อน” (Mobility Company) แบบเต็มตัวหลังจากช่วงที่ผ่านมาได้มีการแนะนำบริการรูปแบบใหม่ ทั้งบริการ “คินโตะ” (KINTO) อิสรภาพใหม่ของการใช้รถจากโตโยต้า และ e-Wallet แอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินดิจิทัลที่พัฒนาโดยโตโยต้า ควบคุมดูแลโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ให้บริการช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย สะดวก ปลอดภัย ไปตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับและความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคินโตะ หลังจากเปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีลูกค้าให้ความสนใจเลือกใช้บริการนี้ถึง 180 คัน และยังมีผู้สนใจเข้าชมเว็บไซต์ถึง 700-800 คนต่อวัน

“จะเห็นว่าจริง ๆ เราได้ทดลองทำคินโตะมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 แล้ว และเปิดตัวพร้อมให้เช่าได้เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีรถยนต์โตโยต้าให้บริการเกือบทุกรุ่น และเราพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่สนใจบริการนี้มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ส่วน TOYOTA Wallet กระเป๋าเงินดิจิทัล ก็จะเข้ามามอบความสะดวก ปลอดภัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์วิถีใหม่ในแอปพลิเคชั่นเดียว ผู้ใช้งานสามารถเลือกชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ในเครือของโตโยต้า ตัวแทนจำหน่ายโตโยต้า รวมถึงร้านค้าอื่น ๆ อีกมากมาย ผ่าน e-Money บัตรเครดิต”

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เพิ่มบริการในส่วนของการรับจองรถยนต์ออนไลน์นั้น แม้ว่าบริษัทจะยังไม่มีนโยบายนำกลยุทธ์ดังกล่าวเข้ามาใช้กับตลาดประเทศไทยอย่างเต็มระบบ แต่ก็ได้เริ่มทดลองใช้กับรถยนต์รุ่นพิเศษ “ยาริส จีอาร์” เพียงรุ่นเดียวก่อน ส่วนอนาคตจะเพิ่มจำนวนรุ่นคาดว่าจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

“ตอนนี้เราให้ดีลเลอร์ได้ทำในส่วนของขายรถยนต์ออนไลน์เอง เพราะเราเชื่อว่าการที่เซลส์ได้พูดคุยกับลูกค้าโดยตรงน่าจะจบการขายได้ง่ายกว่า รวมถึงการปล่อยสินเชื่อด้วย แต่อนาคตคงจะหนีแนวทางนี้ไม่พ้น ซึ่งคงจะต้องลงรายละเอียดกันมากขึ้น”

ทั้งนี้ โตโยต้าใช้นโยบายบริการที่หลากหลายนำการขายโดยจะมีการประกาศแผนงานอย่างชัดเจนในปีหน้า เนื่องจากโตโยต้าต้องการสร้าง ecology ให้ลูกค้าก่อน ส่วนการผันตัวมาเป็นผู้ให้บริการมากขึ้น โตโยต้าต้องปรับทัศนคติใหม่จากเดิมที่อาจจะมองว่าทุกคนเป็นคู่แข่ง วันนี้ต้องปรับมุมมองใหม่ว่าทุกคนเป็นคู่ค้าสามารถจับมือกับทุกคนได้

เช่น ต่อไปลูกค้าที่ต้องการเดินทางไปต่างจังหวัด อาจจะซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านโตโยต้า แล้วไปเช่ารถของโตโยต้าใช้งานต่อ หรืออาจจะเป็นบริการด้านต่าง ๆ ผ่านโตโยต้า ซึ่งตอนนี้โตโยต้าคอนเน็กพัฒนาไปมากขึ้น

และแน่นอนว่าบริษัทจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการให้ได้ตามมาตรฐานของโตโยต้าด้วย ควบคู่ไปกับการรักษาจุดแข็งหลักคือ เครือข่ายการจัดจำหน่าย หรือดีลเลอร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ให้สามารถปรับตัวและยังคงความแข็งแกร่งไว้ให้ได้

นายสุรศักดิ์กล่าวถึงภาพรวมของตลาดในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน โตโยต้ามีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นไปอยู่ระดับ 37% ขณะที่เดือนตุลาคมมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 34.7%

เนื่องจากมีรถยนต์ในหลากหลายเซ็กเมนต์มากขึ้น และทำให้คาดว่าทั้งปียอดขายรถยนต์น่าจะสูงถึง 750,000-800,000 คัน

ส่วนโตโยต้านั้นยอดขายทั้งปีต้องลดลงจากปีก่อนแน่ แต่จะเป็นเท่าไรคงต้องรอดูยอดขายในเดือนสุดท้าย

ขณะที่สถานการณ์ด้านการผลิต แม้ว่าขณะนี้จะเริ่มกลับมาเดินหน้าผลิตรถยนต์ได้แล้ว แต่จากความต้องการโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ที่มีเพิ่มขึ้นจากเดิมขายเดือนละ 1,800 คัน แต่ความสำเร็จของฟอร์จูนเนอร์เลเจนเดอร์ใหม่ ทำให้มียอดขายสูงถึง 2,600 คันต่อเดือน ส่งผลลูกค้าที่จองรถวันนี้ต้องใช้ระยะเวลาเพื่อรอรับรถนาน 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย เช่นเดียวกับโคโรลล่า ครอส ที่ต้องรอรถ 2-3 เดือน โดยเฉพาะรุ่นไฮบริดที่ต้องใช้เวลาในการรอซัพพลายแบตเตอรี่พอสมควร