สรรพสามิตถก 20 ค่ายรถยนต์ รื้อโครงสร้างภาษี “อีวี” รอบใหม่

สรรพสามิตรับลูกคลังเรียกค่ายรถยนต์ถกรื้อโครงสร้างภาษีรถยนต์รอบใหม่ ชี้นโยบายรัฐบาลต้องการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หลังปีใหม่ทยอยหารือผู้ประกอบการแบบรายตัวทีละค่าย ก่อนเคาะโครงสร้างใหม่ในปีหน้า ให้เวลาเอกชนปรับตัว 3-4 ปี เสนอรัฐยืดเวลาสนับสนุนกลุ่มXev ทั้งระบบอีก 2 ปี

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 กรมสรรพสามิตได้เชิญผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ มาประชุมหารือเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษีรถยนต์ เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ หากเกิดรถยนต์อีวี ก็ต้องพิจารณาโครงสร้างภาษีใหม่ ว่าจะจัดเก็บจากฐานใด จากปัจจุบันที่โครงสร้างภาษียึดตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแนวทางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นแนวที่ถูกต้องของโลกและประเทศไทย ยังไม่เคาะยืดลดภาษีรถอีวี 0%

“โครงสร้างภาษีรถยนต์ในปัจจุบัน กรมสรรพสามิตมีการลดอัตราภาษีสำหรับรถยนต์อีวีเป็น 0% จากปกติที่มีอัตราจัดเก็บที่ 2% สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ส่วนจะพิจารณายืดเวลาออกไปอีกหรือไม่นั้น ต้องมาพิจารณาก่อนว่าแนวทางส่งเสริมรถอีวีของประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร” นายลวรณกล่าว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตกล่าวว่า กรมได้เชิญค่ายรถยนต์กว่า 20 รายเข้ามาหารือถึงการที่กรมสรรพสามิตกำลังจะเริ่มศึกษาปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์รอบใหม่ เนื่องจากโครงสร้างภาษีปัจจุบันที่ยังเป็นแพ็กเกจส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด ที่เก็บภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะมีไปจนถึงปี 2568 ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายจะส่งเสริมรถอีวี

รื้อโครงสร้างภาษี

“การจะพัฒนาไปทางไหน ก็คงต้องฟังเสียงจากเอกชนผู้ประกอบการด้วยว่าพร้อมจะไปทางไหน โดยการประชุมครั้งนี้เหมือนเป็นการคิกออฟ ว่าเราจะปรับโครงสร้างภาษีรอบใหม่ ยังเป็นเพียงการหารือเบื้องต้น หลังจากนี้เอกชนก็ต้องกลับไปทำการบ้านของตัวเอง แล้วกลับมาคุยกับกรมสรรพสามิตเป็นราย ๆ ไป ซึ่งน่าจะเริ่มหลังปีใหม่ไปแล้ว อย่างไรก็ดี โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่คงต้องทำให้เสร็จในปีหน้า จากนั้นก็ประกาศให้เวลาเอกชนปรับตัว 3-4 ปี”

ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน หากได้รับการส่งเสริมจาก BOI อัตราภาษีจะอยู่ที่ 0% เป็นเวลา 3 ปี คือ ช่วงปี 2563-2565 และจากนั้นในปี 2566-2568 ภาษีจะอยู่ที่ 2% แต่หากไม่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI อัตราภาษีจะอยู่ที่ 8% ไปจนถึงสิ้นปี 2568

ขานรับนโยบาย รมว.คลัง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้มอบนโยบายกรมสรรพสามิตให้ศึกษาโครงสร้างภาษีรถยนต์ โดยระบุว่า ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นั้น ปัจจุบันนี้ได้มีการปรับลดอัตราภาษีลงมา อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ และให้ความมั่นใจกับนักลงทุน จะมีการพิจารณาต่อในเรื่องขององค์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมที่จะสามารถทำได้

ชงยืดสิทธิอีวี 0% อีก 2 ปี

ขณะที่นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังร่วมหารือกับอธิบดีกรมสรรพสามิตถึงแนวทางการส่งเสริม อุตสาหกรรมยานยนต์ในด้านภาษีเพื่อสนับสนุและส่งเสริมรถยนต์อีวี ในประเทศไทย ในฐานะตัวแทนกลุ่มเสนอให้รัฐพิจารณาเพื่อขยายระยะเวลาสนับสนุนส่งเสริมรถยนต์อีวีให้ได้รับสิทธิภาษี 0% จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2568 ออกไปอีก 2 ปี เป็น 31 ธ.ค. 2570 รวมทั้งภาษีสรรพสามิตรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดและไฮบริดด้วย

ชี้นโยบายรัฐยังสับสน

นายองอาจกล่าวว่า ปัจจุบันรถยนต์ในกลุ่ม Xev สับสนนโยบายส่งเสริมของรัฐในด้านภาษีและการแยกประเภทรถ ที่ไปนับรวมรถยนต์ไฮบริดมาอยู่ในกลุ่มรถประเภทนี้ เนื่องจากรถไฮบริดส่วนใหญ่จะใช้เครื่องยนต์เป็นหลัก ส่วนแบตเตอรี่เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนน้อยมาก และทั่วโลกไม่ได้จัดให้รถไฮบริดอยู่ในประเภทยานยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ กรมสรรพสามิตจึงต้องทำนโยบายให้ชัดเจน โดยเฉพาะรถยนต์ไฮบริดที่ไทยได้นับรวมเข้าเป็นรถยนต์ในกลุ่มแบตเตอรี่ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ มองรถยนต์ประเภทแบตเตอรี่ตั้งแต่รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดขึ้นไป

ระบุชัด “ดีมานด์เทียม”

จากจำนวนรถยนต์ทั่วโลก 90 ล้านคันต่อปี ปัจจุบันมีรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวีเพียง 2 ล้านคัน และส่วนใหญ่เป็นยอดที่มาจากดีมานด์เทียมจากการสนับสนุนของภาครัฐในแต่ละประเทศ แต่ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ สถานีชาร์จ, ระยะเวลาการชาร์จ ฯลฯ เชื่อว่าความพร้อมของผู้บริโภคยังมองเรื่องความคุ้มค่าเป็นหลัก ภายในปี 2030 จะมีรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด, ฟิวเซล และอีวี 20% จากจำนวนรถยนต์ทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคัน และปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ตลาดรถอีวีและปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่สำคัญต้องไม่ทำลายโปรดักต์แชมเปี้ยนอย่างรถปิกอัพและอีโคคาร์

จับตารถอีวีจีนทะลัก

ด้านนายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีรถยนต์เพียง 2 ยี่ห้อที่ผลิตและได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ได้แก่ “ฟอร์ม” และ “ทากาโน่” จะเห็นว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามาทำตลาดในไทย โดยใช้สิทธิประโยชน์ของเอฟทีเอภาษีเป็นศูนย์ อนาคตจะมีรถยนต์อีวีจากจีนเข้ามาทำตลาดอีกหลากหลายยี่ห้อ จึงต้องหาแนวทางปกป้องกลุ่มผู้ผลิตภายในประเทศให้รถยนต์อีวีของบริษัทเหล่านี้สามารถแข่งขันได้

รื้อภาษีไฮบริด/ปลั๊ก-อิน ไฮบริด

แหล่งข่าวจาก บจ.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า อยากให้รัฐพิจารณาโครงสร้างการจัดเก็บภาษีรถยนต์อีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดและรถยนต์ไฮบริดให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน โดยเสียภาษีอัตรา 8%

สำหรับค่ายรถที่ไม่ได้ขอรับส่งเสริม BOI และ 4% สำหรับที่ขอรับส่งเสริม BOI ขณะที่รถยนต์อีวี 100% ได้รับสิทธิเก็บภาษี 2% แต่หากค่ายรถยนต์ที่ขอส่งเสริม BOI และต้องมีการผลิตรถตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563-31 ธ.ค. 2565 จะได้รับสิทธิภาษีเป็นศูนย์

และมองว่าจะเป็นเรื่องดีหากรัฐปรับเปลี่ยนเกณฑ์การจัดเก็บภาษีใหม่ โดย นำรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ไปอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับรถอีวี เนื่องจากต้องการการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่มากกว่ารถยนต์ไฮบริด