ความพร้อมอุตฯชิ้นส่วน กับเทรนด์ใหม่…รถอีวี

ถือเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่มีสไตล์การบริหารงานที่ดุดันถึงลูกถึงคนรวมทั้งมีความชัดเจนกับทุกเหตุการณ์คนหนึ่งสำหรับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานหนุ่มจาก “ไทยซัมมิท กรุ๊ป”

วันก่อน “ประชาชาติธุรกิจ” จับเข่าคุยถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเป้าหมายของไทยซัมมิทในช่วง 5 ปี ที่ระบุชัดเจนว่าจะผลักดันรายได้ให้ทะลุ 1.1 แสนล้านบาท

แต่อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย คือ รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี เทรนด์ของโลกยานยนต์ที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะต้องกระโดดเกาะให้ทัน

“ธนาธร” ตอบคำถามความพร้อมและโอกาสสำหรับประเทศไทยด้วยการสะท้อนมุมมองอย่างตรงไปตรงมา

ผมคิดว่าที่ชัดเจน ก็คือ ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นนั้นยังเป็นรองในเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับตัวรถยนต์ไฟฟ้า สังเกตได้ว่า กลุ่มผู้ประกอบการญี่ปุ่นยังพูดกันถึง

แต่ปลั๊ก-อิน ไฮบริด PHEV น้อยรายจริง ๆ ที่จะมี เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ทันสมัย และที่น่าเป็นห่วงคือ รัฐบาลไทยยังมีความเกรงใจผู้ประกอบการญี่ปุ่นอยู่เยอะ จึงไม่ได้ผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

ส่วนการปรับตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วน”ธนาธร” ยังเชื่อว่า โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีแนวโน้มดี มองแบบอนุรักษนิยมก็น่าจะโตสัก 3-5% ต่อปี แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือเมื่อตลาดบ้านเราโตไม่มาก ก็ต้องหาตลาดอื่นมาทดแทนโดยเฉพาะตลาดโลก ไทยซัมมิทเลือกขยายตลาดในต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายประเทศที่รุกหนักจริงจัง ทั้ง อินเดีย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น อเมริกา ตอนนี้ผลประกอบการในต่างประเทศถือว่าค่อนข้างดี ยกเว้นในจีนที่ขาดทุน

“เรามองการเติบโตในตลาดโลกมากกว่า สเต็ปแรกเราเริ่มจากส่งออกชุดสายไฟจากฐานการผลิตที่ชลบุรีไปอเมริกาปีละ 30-40 ล้านบาท ถัดมาก็มีการนำเสนอผลงานให้เทสล่า”

“ธนาธร” กล่าวอย่างมั่นใจว่า เทสล่าเห็นถึงศักยภาพในการทำตัวถังรถของไทยซัมมิท ด้วยเทคโนโลยี “น้ำหนักเบา” ซึ่งสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

เพราะโดยหลักการคือ น้ำหนักเยอะก็ทำให้วิ่งได้ระยะทางน้อย ถ้าอยากวิ่งได้ไกลแบตเตอรี่ก็ต้องใหญ่ ยิ่งแพงหนักเข้าไปอีก

โจทย์คือ ทำอย่างไรให้น้ำหนักของรถยนต์เบาขึ้น เพื่อใช้แบตเตอรี่เท่าเดิมแต่รถวิ่งได้ไกลขึ้น

และชาร์จไฟ 1 ครั้งต้องวิ่งได้ถึง 300 กิโลเมตร

นี่คือ คำตอบที่ต้องทำไปให้ถึงตรงนั้น

ธนาธรย้ำว่า ตอนเสนอเทคโนโลยี “น้ำหนักเบา” ของตัวถังรถ ซึ่งไทยซัมมิทใช้เวลากับเทคโนโลยีตรงนี้ค่อนข้างมาก

มีการลงทุนถึง 500 ล้านบาท สร้างห้องทดสอบ ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาและต่อยอดกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังวิ่งเข้ามา

ปรากฏว่าเทสล่า ชื่นชมกับเทคโนโลยีและผลงานจึงตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีของไทยซัมมิท ใช้ฐานการผลิตของเรากับรถยนต์เทสล่า โมเดล 3

และนั่นหมายความว่า เทคโนโลยีของคนไทย ที่จะก้าวไปกับพร้อมรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกจะมีอย่างน้อยถึงปีละครึ่งล้านคัน

เห็นสเต็ปการก้าวย่างของผู้ผลิตชิ้นส่วนยักษ์ใหญ่สัญชาติไทยที่เดินควบคู่ไปพร้อม ๆ กับเบอร์หนึ่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบนี้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นคงสบายใจขึ้น