“ซูซูกิ” ดัน 4 กลยุทธ์หลักสู้ศึก ยกระดับพึงพอใจลูกค้ากวาด 3 หมื่นคัน

“ซูซูกิ” ส่องตลาดรถยนต์ปีนี้ยังโตต่อเนื่อง 5% ลั่นขอโตเหนือตลาด เดินหน้าชู 4 กลยุทธ์เพิ่มความแข็งแกร่งรอบด้าน รักษามาร์เก็ตแชร์ เพิ่มแวลูโปรดักต์ ผลักดันสินเชื่อ และขยายเน็ตเวิร์กหวังทั้งปีทะลุ 30,000 คัน

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงแผนธุรกิจของบริษัทในปีนี้ว่า ซูซูกิจะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ 4 กลยุทธ์หลักเพื่อเป็นการสานต่อความสำเร็จของปี 2563 ที่ผ่านมา และผลักดันสู่เป้าหมายยอดขาย 30,000 คัน โต 17% ในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงกว่ายอดขายของตลาดโดยรวมที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 5% หรือมีปริมาณขายที่ 840,000 คัน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากกลยุทธ์หลักโดยมีแนวทางเจาะเข้าไปยังกลุ่มลูกค้าชัดเจน

สำหรับ 4 กลยุทธ์หลักเพิ่มความแข็งแกร่งของซูซูกิจะประกอบไปด้วย รักษามาร์เก็ตแชร์ เพิ่มแวลูโปรดักต์ ผลักดันสินเชื่อ และโหมขยายเน็ตเวิร์ก

โดยในเดือนกุมภาพันธ์จะมีการเปิดตัวรถยนต์ซูซูกิ สวิฟท์ ใหม่ โมเดล 2021 ออกสู่ตลาด และมีการส่งรถรุ่นพิเศษมาเพิ่มสีสันในตลาด ควบคู่ไปกับการเดินหน้าทำตลาดร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อนำเสนอแพ็กเกจทางการเงินให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย

ทั้งนี้ จะเห็นว่าสัดส่วนโปรแกรมพิเศษเริ่มตั้งเเต่กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาเริ่มที่ 7% จนจบที่ 42% ในเดือนธันวาคม หรือทั้งปีมียอดลูกค้าจากโปรแกรมพิเศษสูงถึง 36% ขณะที่ยอดยกเลิกการจองจาก 42% เหลือแค่ 12%

“เท่าที่ได้คุยกับสินเชื่อสถาบันการเงินไม่แพนิกเหมือนปีที่แล้ว และรถยนต์ 80% ต้องใช้สินเชื่อดีขึ้น ต่างจากปีที่แล้วที่ถูกแช่แข็ง”

สำหรับสวิฟท์ ใหม่ โมเดล 2021 SWIFT POWER YOU UP ตั้งเป้าขายไว้เดือนละ 1,000 คัน หรือขายสวิฟท์ปีละ 10,000 คันอย่างน้อย ที่เหลือจะเป็นเซเลริโอและเซียสอย่างละ 4,000 คัน ที่เหลือเป็นรุ่นอื่น ๆ

ปัจจุบันหลังจากซูซูกิเปิดตัวสวิฟท์ในปี 2555 จนถึงปัจจุบันมียอดขายไปแล้วกว่า 290,000 คัน และซูซูกิยังเชื่อมั่นว่าจุดแข็งของสวิฟท์จะช่วยยอดขายให้ขับเคลื่อนไปได้ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ซูซูกิยังคงมีเป้าหมายที่จะเดินหน้าเพื่อพยายามรักษาส่วนแบ่งยอดขายของรถรุ่นอื่น ๆ ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเซเลริโอ และเอ็กซ์แอล 7

นอกจากนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นกลยุทธ์ในการขยายเครือข่ายการจัดจำหน่าย จำนวนเยอะไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ยอดขายเยอะ เนื่องจากนักลงทุนถ้าเยอะเขาอาจจะไม่ได้กำไร เน้นเพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมกับบริเวณที่ยังไปไม่ถึงมีครบ 76 จังหวัด ยกเว้นแม่ฮ่องสอนปัจจุบันมี 130 แห่ง ตั้งเป้าภายใน มี.ค. 2565 มี 140 แห่ง ควบคู่การพัฒนาความเป็นเลิศด้านบริการ เราต้องการพัฒนาดีลเลอร์ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

สำหรับยอดขายรถยนต์ในปีที่ผ่านมามียอดขายที่ 793,000 คัน ลดลง 21% จากเดิมคาดว่าจะมียอดขายลดลงไปมากถึง 25% และมากกว่านั้นเมื่อครั้งเผชิญกับสถานการณ์ของโควิดที่หลายค่ายประเมินว่ายอดขายจะลดลงไปมากถึง 40%

“ปีที่แล้วถ้าดูจากตัวเลขมีค่ายรถเพียง 3 ค่ายเท่านั้นที่มียอดขายโตขึ้น คือ อีซูซุ โต 7% ซูซูกิ โตเกือบ 7% ซึ่งใกล้เคียงกับเอ็มจี ซึ่งซูซูกิทำได้ 32,528 คัน จากปี 2562 ที่ทำได้ 29,908 คัน ซึ่งสถาบันการเงินเริ่มเข้มงวดมาตั้งแต่ปลายปี 2562 สะท้อนมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็ก อีโคคาร์ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ต่างจากรถปิกอัพที่ต้องใช้เพื่อการขนส่ง พาณิชย์ต่าง ๆ”

ปัจจัยที่ทำให้ซูซูกิหดตัวน้อยกว่าตลาดรวมนั่นคือ สิ่งที่ซูซูกิทำความสัมพันธ์ไฟแนนซ์ การทำแคมเปญเข้าถึงลูกค้า ทำให้อัตราการปล่อยสินเชื่อต่ำลง และมีการมอนิเตอร์ดีลเลอร์ลูกค้าที่จองในเดือนธันวาคม เพื่อเร่งเจรจากับลูกค้าเพื่อส่งมอบรถให้กับลูกค้า เพราะเริ่มมีสัญญาณระบาดของโควิดรอบสอง

ทั้งนี้ จะเห็นว่ายอดที่ทำให้ซูซูกิโต คือ เซเลริโอ โตถึง 228% ราคาพิเศษในช่วงฉลอง 100 ปีราคาลดลง จนปัจจุบันราคาอยู่ที่ 328,000 บาท บวกกับในช่วงโควิดที่คนเริ่มมองหารถยนต์ไว้ใช้ในการเดินทาง เข้าถึงง่ายโดยสามารถเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก ประหยัดน้ำมัน ปัจจุบันรถรุ่นนี้มีแบ็กออร์เดอร์ 3 เดือน มียอดจองกว่า 1,196 คัน

อีกรุ่นคือ เอ็กซ์แอล 7 มียอด 3,518 คันส่งมอบไปแล้ว 2,560 คัน เปิดเซ็กเมนต์ใหม่ช่วยเพิ่มยอดขาย และเพิ่มทางเลือกให้กลุ่มลูกค้าอีโคคาร์ที่ขยับขยายกลุ่ม ทำให้มีแบ็กออร์เดอร์ 958 คัน ราคา 779,000 บาท

“ลูกค้าอีโคคาร์ของเรามีซื้อบ้างแต่เราได้จากยี่ห้ออื่น ซึ่งมาจากบีคาร์ เครื่อง 1.5 ลิตร มาเปลี่ยนเป็นครอสโอเวอร์ เอ็กซ์แอล 7 ที่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งมีราคา 8 แสน ช่วยให้ลูกค้าผ่อนต่อเดือนได้ลดลง”

นอกจากนี้ พฤติกรรมของลูกค้าและโควิดทำให้เปลี่ยนธุรกิจ คนหลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้น หันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้น และซูซูกิได้ประโยชน์ตรงนั้น คนยังเลือกรถรุ่นได้เหมาะสมกับการใช้งานจริงมากขึ้น สวิฟท์ จีแอล แม็กซ์ เอดิชั่น โดยมามองตัวกลางมากขึ้น ซื้อให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น

และออนไลน์แพลตฟอร์มมีบทบาทสูงขึ้น คนตัดสินใจซื้อรถผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น 20% โดยไม่เคยมาโชว์รูมเลย เมื่อปี 2561มียอดลูกค้าที่สนใจมุ่งหวังสูงขึ้น 55% และปัจจุบันน่าจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ราคารถที่จับต้องได้เข้าถึงลูกค้าได้จริง รุ่นเริ่มต้น 328,000-437,000 บาท ต่างจากคู่แข่งเริ่มต้นที่ 474,000 บาท