ค่ายรถแห่ลงทุนรับกำลังซื้อฟื้น รับแพ็กเกจใหม่บีโอไอกระตุ้น “อีวี”

รถไฟฟ้า(EV)

ตลาดรถยนต์ปีวัวพลิกกลับ บิ๊กโตโยต้าฟันธงกำลังซื้อมาเต็มโตขึ้น 15% ขายทะลุ 9 แสนคัน ปลุกค่ายรถกระหน่ำลงทุน จ้องคลอดโปรดักต์ใหม่ ทั้งไฮบริด, ปลั๊ก-อินฯและอีวี ชี้ผ่านปี’63 มาได้ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกแล้ว “บีโอไอ” เปิดตัวเลขอนุมัติส่งเสริมลงทุนแตะแสนล้านเปิดแพ็กเกจใหม่ “เกรทวอลล์” ทัพใหญ่จากจีนเท 2 หมื่นล้านปั้นไทยฮับรถยนต์ไฟฟ้า “มิตซูบิชิ” ระบุอีก 5 ปี หว่านอีก 3.6 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2563 ถือเป็นปีอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรง ยอดขายทั้งปีลดลงจากปี 2562 ซึ่งทำไว้ 1,007,552 คัน ถึง 21.4% โดยทำได้ 792,146 คัน หดหายไป 215,406 คัน กว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ปีนี้น่าจับตาเพราะตลาดแข่งขันสูง ทุกค่ายต้องเรียกคืนยอดขาย

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดรถยนต์ปี 2564 ดีขึ้นแน่ จากการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ประเมินว่ายอดขายจะทำได้ราว 900,000 คัน เพิ่ม 14% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา

ค่ายรถโหมลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงทุนของค่ายรถปีนี้คึกคักเห็นได้ชัด หลังคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นชอบมาตรการการส่งเสริม และเปิดให้ส่งเสริมรอบใหม่อีก 2 ประเภทกิจการ หนึ่งในนั้นคือกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หลังหมดระยะเวลายื่นคำขอรับการส่งเสริมตั้งแต่ปี 2561 การเปิดในรอบนี้ ได้เปิดให้ส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร และรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จากเดิมส่งเสริมเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้า

นายโมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2564-2569 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า มิตซูบิชิ มอเตอร์สเตรียมลงทุนในไทยไม่น้อยกว่า 36,000 ล้านบาท เพื่อขยายด้านการผลิตในประเทศเพิ่ม พร้อมเปิดตัวรถยนต์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่องให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์และยังคงเดินหน้าตามแผนธุรกิจระยะกลางของมิตซูบิชิ โดยเน้นบริหารจัดการด้านทรัพยากรในไทย การสร้างความแข็งแกร่งด้านการผลิต เพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาดในไทย

แหล่งข่าวจากบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า มูลค่าการลงทุนจะเป็นการลงทุนที่ได้ขอรับการอนุมัติส่งเสริมไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว รวม 5,480 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสายการผลิตรถยนต์เดิมที่โรงงานนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า กำลังผลิต 39,000 คันต่อปี แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า100% (อีวี) 9,500 คันต่อปี รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (พีเอชอีวี) 29,500 คันต่อปี รองรับตลาดในไทยและอาเซียน ซึ่งช่วงปลายปี 2563 มิตซูบิชิได้นำรถยนต์เอาท์แลนเดอร์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ออกสู่ตลาด เม็ดเงินที่เหลือจะนำมาปรับปรุง2 โรงงานผลิต รวมปรับปรุงไลน์ผลิตสำหรับรถยนต์ประเภทอื่น โดยเฉพาะรถปิกอัพไทรทัน ที่จะเปลี่ยนโมเดลใหม่และรุ่นไมเนอร์เชนจ์รถยนต์รุ่นต่าง ๆ

“ทุกค่ายพร้อมเทงบฯลงทุนเรียกคืนกำลังซื้อเต็มที่ ไม่มีค่ายไหนกังวลเพราะผ่านปี 2563 มาแล้ว ที่เหลือไม่มีอะไรน่ากลัวอีกต่อไป”

แหล่งข่าวจาก บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานผลิตรถมาสด้าได้รับส่งเสริมการลงทุนให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊กและรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ มูลค่า 3,247 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) ปีละ 5,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปีละ 1,000 คัน ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เมื่อปลายปี 2561 บีโอไอได้อนุมัติในกิจการผลิตรถยนต์ไฮบริดแล้ว วงเงิน 11,481.6 ล้านบาท

ทุนจีนประเดิมเท 2 หมื่นล้าน

ล่าสุดยังมีทัพลงทุนจากจีน โดยเฉพาะ เกรทวอลล์ มอเตอร์ ซึ่ง นายจาง เจียหมิง ประธานกลุ่มบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย กล่าวยืนยันกับรัฐบาลไทยว่า มีแผนการลงทุนผลิตรถยนต์ที่คาดว่าจะเริ่มปรับสายการผลิตเดิมที่ซื้อโรงงานผลิตรถของจีเอ็มที่ จ.ระยอง และได้ปรับปรุงนำระบบสมองกลเข้ามาใช้ในโรงงาน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งไฮบริด,ปลั๊ก-อิน ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า กำลังการผลิต 80,000 คันต่อปี คาดว่าจะเกิดการลงทุน 22,600 ล้านบาท จ้างงาน 3,435 คน คาดว่าจะมีซัพพลายเออร์จากจีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิต ชิ้นส่วนยานยนต์ป้อนให้กับเกรทวอลล์อีก

บีโอไอเปิดกรอบลงทุนใหม่

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกล่าวว่าการกระตุ้นลงทุนในปีนี้ บีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขสำหรับกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ แต่ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ด้วย กรณีที่มีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็จะได้รับสิทธิเพิ่ม

กรณีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ได้รับสิทธิเพิ่มหากทำได้ตามหลักเกณฑ์ เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงกว่า 10,000 คันต่อปี

ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก หรือ PHEV จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้ต้องผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น ส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่, ผลิตสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ได้รับสิทธิเพิ่มหากทำได้ตามเกณฑ์เช่น เริ่มผลิตในปี 2565 มีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจาก module มีการผลิตชิ้นส่วน traction motor และลงทุนงานวิจัย

เข้มข้น 4 ชิ้นส่วนหลัก

ทั้งนี้ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ทุกประเภท ผู้ลงทุนต้องเสนอแผนงานเป็นแพ็กเกจ ทั้งยังปรับปรุงขอบข่ายและสิทธิประโยชน์ของประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยเพิ่มรายการชิ้นส่วนอีก 4 รายการ ได้แก่ 1) high voltage harness 2) reduction gear 3) battery cooling system และ 4) regenerative braking system พร้อมปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากขึ้น

ฝากความหวังค่ายรถจีน

นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังบอร์ดบีโอไออนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนรอบใหม่กับรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมรอบแรกที่สิ้นสุดเมื่อ 31 ธ.ค. 2561 กรอบเวลาเดิมค่ายรถที่สมัครร่วมโครงการต้องมีการผลิตรถยนต์ออกหลังได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วไม่เกิน 3 ปี หรือหากค่ายรถที่สมัครแล้วเกิดสนใจในเงื่อนไขแพ็กการส่งเสริมการลงทุนรอบที่ 2 ก็เข้าร่วมได้ แต่แพ็กเกจนี้ไม่ได้กำหนดเวลากรอบการลงทุนและการผลิต เมื่อเกรทวอลล์ มอเตอร์ สมัครลงทุนในแพ็กเกจที่ 2 คาดว่าจะมีค่ายรถจีนเข้ามาลงทุนเพิ่มอีกจำนวนมาก

สำหรับการลงทุนในไทย มีรายงานจากบีโอไอว่า ตั้งแต่ปี 2560-2562 มีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับอนุมัติรวม 26 โครงการ มูลค่า 78,099 ล้านบาท มี 7 โครงการที่มีการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว เป็นไฮบริด 3 ราย ได้แก่ นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า ประเภทปลั๊ก-อิน ไฮบริด 2 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู และมีอีก 2 ค่าย ได้แก่ เอ็มจีและมิตซูบิชิ

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า 100% มี 2 ราย ได้แก่ ฟอมม์ และ ทาคาโน นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว จำนวน 14 โครงการ โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า 10 โครงการ