ชู “โปรดักต์-ไพรซ์” มัดลูกค้า BMW กดมิดไมล์ป้องกันแชมป์ตลาดรถหรู

บีเอ็มดับเบิลยู ลั่นใช้แค่ 2 พี “โปรดักต์-ไพรซ์” เดินหน้ารักษาแชมป์ตลาดรถพรีเมี่ยม ส่วน “เซอร์วิส-เน็ตเวิร์ก” เกินร้อย ทำเซอร์ไพรส์ส่งรถ “ตระกูลเอ็ม” ลงตลาดปลายเดือนนี้

นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงกลยุทธ์เพื่อสานต่อความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในปีนี้ว่า จะเน้น 2 ด้านหลัก ๆ คือตัวโปรดักต์และการกำหนดราคา ควบคู่ไปกับการสร้างความพึงพอให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องโดยมั่นใจว่าทั้งเซอร์วิสและดีลเลอร์เน็ตเวิร์ก บริษัทได้ยกระดับและการสร้างความเข้มแข็งมาเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ บริษัทประเดิมส่งรถยนต์-จักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอีก 4 รุ่น ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู X7 xDrive30d M Sport ใหม่ ซึ่งประกอบที่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และบีเอ็มดับเบิลยู 330Li M Sport, มินิ คูเปอร์ เอส คันทรีแมน, มินิ จอห์น คูเปอร์ เวิร์กส์ GP Inspired Edition และรถจักรยานยนต์บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด R 18 Classic First Edition รถทัวริ่งครุยเซอร์ ก่อนที่จะมีการทยอยเปิดตัวรุ่นอื่น ๆ ตามมาอีกตลอดทั้งปี

สำหรับโปรดักต์ใหม่ที่ออกสู่ตลาดนอกจากจะเน้นออปชั่นและแวลูแล้ว บีเอ็มดับเบิลยูยังเพิ่มความหลากหลาย หรือ “พาวเวอร์ชอยซ์” ซึ่งมีทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างเดียว, เครื่องยนต์ผสมมอเตอร์ไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก ไว้ให้ลูกค้าเลือกตามความต้องการใช้งาน ขณะที่ในตลาดโลก มีรถอีวีให้เลือกด้วย ซึ่งได้เริ่มจากโมเดลเอ็กซ์ 3 ซึ่งมีครบ 3 รูปแบบพลังงานขับเคลื่อนให้ลูกค้าเลือก ส่วนประเทศไทยนั้นน่าจะนำเข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมซึ่งไม่นานเกินรอ ปัจจุบันบีเอ็มดับเบิลยูมีสัดส่วนการขายรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด กว่า 30% ของยอดขาย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการทำราคาขาย ตอนนี้มีการนำเสนอแพ็กเกจทางการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของรถของบีเอ็มดับเบิลยูได้ง่ายขึ้น

“เรานำเสนอ BMW FREEDOM CHOICE ทางเลือกทางการเงินที่หลากหลาย ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เชื่อว่ากลยุทธ์แค่ 2 ตัวก็น่าจะทำให้เรารักษาแชมป์ในตลาดพรีเมี่ยมคาร์ไว้ได้”

ส่วนแผนขยายงานด้านบริการให้สอดรับกับปริมาณรถที่มากขึ้น จะเน้นศูนย์บริการแบบ SOO (service only outlet) หรือ BMW Service Outlet เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เป็นหลัก จากปัจจุบันที่มีโชว์รูมและศูนย์บริการแบบฟูลแฟลกซ์อยู่ 24 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์บริการ SOO อีก 3 แห่ง และมินิ 11 แห่ง และมินิ เออร์เบิน 1 แห่ง ที่ไอคอนสยามส่วนมอเตอร์ราดนั้นปัจจุบันมี 14 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับยอดการจำหน่ายในปี 2563 ที่ผ่านมา บีเอ็มดับเบิลยูมียอดขายทั้งสิ้น 12,426 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 51.2% แบ่งเป็น รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูรวม 11,242 คัน ลดลง 4.3% จากปีก่อนหน้า ขณะที่มินิ มียอดการส่งมอบ 1,184 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย 1.7% ด้านบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด มียอดส่งมอบ 1,224 คัน

ด้านการผลิตนั้น ปีที่ผ่านมา โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย สามารถประกอบรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยูรวมกว่า 32,052 คัน เพิ่มขึ้น 0.3% แบ่งเป็นยอดประกอบรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู 23,177 คัน ลดลง 10% ยอดประกอบมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ที่ 8,875 คัน เพิ่มขึ้น 43%

และส่งออกรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยูรวม 23,143 คัน เพิ่มขึ้น 24% โดยแบ่งเป็นรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูกว่า 15,079 คัน เพิ่มขึ้น 3% และส่งออกมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด กว่า 8,064 คัน เพิ่มขึ้นถึง 97% นับเป็นสถิติการส่งออกที่สูงที่สุด

ปัจจุบันโรงงานประกอบยานยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยู จ.ระยอง สามารถประกอบรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยูในประเทศได้ถึง 17 รุ่น โดยรวมถึงรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด 5 รุ่น และมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราดอีก 9 รุ่น

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าแผนการทำตลาดรถยนต์ในกลุ่มเพอร์ฟอร์มานซ์ (ตระกูลเอ็ม) รวมทั้งแผนการนำรถยนต์กลุ่มนี้มาประกอบที่โรงงานระยอง ได้รับคำตอบว่าภายใน 2 สัปดาห์ บีเอ็มดับเบิลยูจะให้รายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประเด็นนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” เคยรายงานว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บีเอ็มดับเบิลยูจะคลอดเอ็ม 3 รุ่นผลิตในประเทศ

สำหรับบีเอ็มดับเบิลยูมีการลงทุนในประเทศไทยตลอดช่วงระยะเวลา 20 ปี มูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท