อุตจี้รับมือระบบออโตมัติ หวั่นล่าช้าเสียโอกาสผู้นำ

รายงาน

รัฐ-เอกชน เร่งเครื่องผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อัตโนมัติ หวั่นปรับตัวไม่ทันกระทบฐานผลิตใหญ่ในอาเซียน

นางสาวฐิติภัทร ดอกไม้เทศ ผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ ผศ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ปาษาณ กุลวานิช ผู้ชำนาญการด้านการพัฒนารถไร้คนขับและระบบหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกันเปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคม รวมทั้งรูปแบบการเดินทางในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไป โดยต้องมีความอัจฉริยะ มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดเป็นยานยนต์สมัยใหม่ที่ประกอบด้วยยานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ ยานยนต์มีความสามารถขับขี่อัตโนมัติ (ออโตมัติ) การใช้งานยานยนต์ร่วมกัน และการใช้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือเรียกโดยรวมว่า C-A-S-E technology

จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียานยนต์ดังกล่าว ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในด้านโอกาสและความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ เทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติจะมาควบคู่กับเทคโนโลยียานยนต์เชื่อมต่อ ที่เรียกรวมกันว่ายานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ

ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะส่งผลต่อการใช้งานยานยนต์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ลดความสูญเสียจากการชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ช่วยลดความคับคั่งจากการจราจร ลดการปล่อยมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งจากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งทำให้ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเดินทางได้สะดวก ช่วยทำให้การใช้พื้นที่เมืองมีประสิทธิภาพ ทำให้เมืองน่าอยู่ และเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว

“การใช้งานไม่เพียงแต่ต้องเตรียมความพร้อมด้านยานยนต์ แต่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องอาทิ ถนนและสัญญาณจราจรต่าง ๆ สัญญาณสื่อสาร 5G กฎหมายขนส่ง และความปลอดภัยของข้อมูล”

ดังนั้น การจัดทำแผนยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากประเทศไทยปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีใหม่นี้ในเวลาไม่เกิน 10 ปี จะส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของภูมิภาค และการเติบโตของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการสื่อสาร และอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

“สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้สถาบันยานยนต์ดำเนินโครงการ ‘การจัดทำแนวการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อัตโนมัติ’ โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อให้การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งดำเนินกิจกรรมสร้าง ‘ภาคีเครือข่ายทางธุรกิจ’ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการต่อยอดไปสู่การผลิตยานยนต์ต้นแบบไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์”