ค่ายรถอุ้มดีลเลอร์หั่นเป้า 30% ปรับแผนสู้โควิดกำเงินสด-บุกออนไลน์

ค่ายรถปรับแผนสู้วิกฤตโควิดระลอก 3 ยอมเฉือนเนื้ออุ้มดีลเลอร์ลดเป้ารายเดือนลง 30% ฮอนด้าเร่งเพิ่มกระแสเงินสดปรับบาลานซ์ธุรกิจให้แข็งแกร่ง ขณะที่ซูซูกิเดินหน้าเจรจาแบงก์ช่วยลูกค้าหาแพ็กเกจให้ตรงกลุ่ม มาสด้ายันไม่ปรับเป้าทั้งปีมั่นใจเร่งฉีดวัคซีนตลาดฟื้นตัวแน่

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกที่ 3 ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างพยายามพลิกเกมเพื่อรับมือกับตลาดที่ซบเซา

แหล่งข่าวฝ่ายบริหารจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เกือบทุกโชว์รูมทราฟฟิกของลูกค้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ยอดจองรถยนต์ใหม่ตกลงมากกว่าครึ่ง กิจกรรมทดสอบรถยนต์ไม่มีให้เห็น แถมยอดจองเดิมยังถูกยืดเวลารับรถ บางรายยกเลิกก็มี

ในภาวะวิกฤตแบบนี้สิ่งที่ฮอนด้าพยายามบอกดีลเลอร์ก็คือให้ตุนเรื่องกระแสเงินสดไว้ให้ดี และเร่งมือกับการทำตลาดแบบออนไลน์ให้มากขึ้นแม้จะไปไม่ถึงปิดการขาย แต่อย่างน้อยก็ทำให้มีคอนแท็กต์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย สร้างทราฟฟิกให้เกิดขึ้นได้

พร้อมทั้งสนับสนุนให้ความรู้เซลส์เพื่อเข้าใจในตัวโปรดักต์สามารถตอบคำถามลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ส่วนมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ตอนนี้ก็มีออกมาเป็นระยะ เช่น ลดสต๊อกรถยนต์แต่ละรุ่นเพื่อบาลานซ์ดีมานด์-ซัพพลาย รวมถึงขั้นตอนการทำงานพยายามทำให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เช่น การเบิกจ่าย เงินโบนัสพิเศษจากการขาย เรียกว่าเร็วขึ้นกว่าช่วงปกติมาก

“เราเป็นห่วงว่าตลาดจะถูกกระทบ ก่อนหน้านี้ ฮอนด้าคาดว่ายอดขายโดยรวมเติบโตขึ้นอย่างน้อย 7% ขายได้ถึง 850,000 บาท และเชื่อว่าตลาดรถยนต์นั่งจะกลับมาเติบโตอย่างน้อย 15% และมีสัดส่วนการขายกลับมาอยู่ที่ 50% ของตลาด ดังนั้นต้องร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างเราและดีลเลอร์ให้มากขึ้น”

ขณะที่นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการการบริหารการขาย และการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเข้าไปดูแลคู่ค้าและลูกค้าในช่วงวิกฤต รวมถึงพนักงานให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ด้วยกัน โดยได้ตัดสินใจลดเป้าการขายให้กับดีลเลอร์เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และความเป็นจริงมากที่สุด

ขณะเดียวกันก็พยายามหารือเจรจาร่วมกับสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรเพื่อหามาตรการร่วมกันให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว อาทิ ยืดอายุสัญญาอนุมัติให้ยาวขึ้น พร้อมทั้งประสานไปยังผู้จำหน่ายให้ช่วยเหลือลูกค้าเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม เป้าปีนี้ที่ตั้งไว้ 30,000 คัน ยังเหมือนเดิม รวมทั้งแผนขยายโชว์รูมศูนย์บริการให้ครบ 140 แห่งด้วย

แหล่งข่าวดีลเลอร์รถยนต์ญี่ปุ่นในเขตพื้นที่ กทม. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบโควิดระลอก 3 นี้ ดีลเลอร์เกือบทุกแบรนด์ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทแม่ โดยหั่นเป้าเดือนพฤษภาคมลงประมาณ 30% และให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ซึ่งทำให้สามารถประคับประคองการทำธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งตัวดีลเลอร์เองก็พยายามลดค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้ต้นทุนทุกอย่างต่ำลง

ไม่ต่างจาก นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้แม้จะชะลอตัวในช่วงต้นปี แต่มาสด้ายังเชื่อและมีความหวังว่า มาตรการต่าง ๆ ของทางภาครัฐโดยเฉพาะวัคซีนที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาและประคับประคองให้เศรษฐกิจโดยรวมสามารถเดินหน้าต่อไปได้

มาสด้าได้ปรับกลยุทธ์ทั้ง 4 ด้าน 

1.การบริหารธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

2.กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดและนำเสนอแต่สิ่งที่ดีให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะหลังจากมาสด้าได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

3.กลยุทธ์ด้านการขายและบริหารเครือข่ายผู้จำหน่าย เร่งพัฒนาศักยภาพสร้างผลกำไรที่ดี และความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ปัจจุบันมีโชว์รูมศูนย์บริการ 138 แห่ง จะเพิ่มเป็น 150 แห่ง ภายในปีงบประมาณนี้ และ

4.กลยุทธ์ด้านบริการหลังการขาย เพื่อตอบสนองความต้อการของลูกค้าอย่างทันท่วงที เช่น ด้วยการเปิดตัวบริการแบบเร่งด่วนแก่ลูกค้าที่มีเวลาจำกัดภายในระยะเวลา 60 นาที

ส่วนประเด็นการปรับเป้ายังยึดเป้าหมายเดิมที่ 45,000 คันเหมือนเดิม ทั้งนี้ อาจจะต้องดูสถานการณ์อีกสักระยะ