รัฐ-เอกชน ปูพรมสถานีชาร์จ กดมิดไมล์ปลุกตลาด “ยานยนต์ไร้มลพิษ”

รัฐ-เอกชนโหมขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารับลูกบอร์ดอีวี “ค่ายอีเอ” ลุยเฟสที่ 5 เพิ่มอีก 11 สถานี “เอ็มจี” ผนึก กฟน.-บางจาก ปูพรมแหล่งท่องเที่ยว ด้าน ส.ยานยนต์ไฟฟ้าคาดปี 2573 ความต้องการทั่วโลกพุ่ง 140 ล้านคันเร่งแยกอีวีออกจากไฮบริด และปลั๊ก-อินเรียกชื่อใหม่เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ (ZEV) หรือซีโร่ อิมิชั่น

เป็นที่แน่นอนว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับนโยบายผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าให้สามารถแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วมีความคืบหน้าไปเยอะมาก โดยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติครั้งล่าสุดมีมติกำหนดให้ภายในปี 2573 ต้องผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ จำนวน 725,000 คัน จักรยานยนต์ 675,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุกอีก 34,000 คัน และผลักดันการแจ้งเกิดให้เร็วขึ้นโดยจะมีมาตรการด้านภาษีเข้าไปสนับสนุนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในรูปแบบชาร์จเร็ว 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้าอีก 1,450 แห่ง

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวบนเวทีเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ZEV@35 ยานยนต์ไฟฟ้า 100% ปี ค.ศ. 2035 จุดเปลี่ยนสำคัญอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย เเละบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าคาดการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 140 ล้านคัน จากปี 2562 ที่มีแค่ 10 ล้านคันทั่วโลก

ส่วนประเทศไทย มีแนวโน้มใช้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติได้เสนอให้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 จะมียอดจดทะเบียนใหม่ภายในประเทศที่เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ในสัดส่วน 100% โดยเร่งผลักดันให้เพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ก่อนภายใน 9 ปีจากนี้

“ปี 2562 ที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนใหม่เป็น BEV มีแค่ 2,999 คัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1% เทียบกับยานยนต์จดทะเบียนใหม่ทั้งหมด เเต่มีการเติบโตสูงมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับในปี 2561 ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีมาก”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แนวคิดของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี ต้องการแยกความชัดเจนของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ที่ก่อนหน้านี้ใช้คำย่อ xEV ซึ่งจะรวมรถยนต์ประเภทไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริดซึ่งมีเครื่องยนต์สันดาปภายในรวมอยู่ด้วย เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ปล่อยมลพิษ

ดังนั้นจึงมีความพยายามเรียกชื่อใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็น
ยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV)

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งสถานีชาร์จ ล่าสุด นายสมบัติ วัฒนหงษ์ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายใต้เครื่องหมายการค้า EA Anywhere จะเปิดให้บริการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าระบบ DC (Fast Charge) 150 kW เฟสที่ 5 เพิ่มอีก 11 สถานี ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้ปัจจุบันที่เปิดให้บริการไปแล้วกว่า 136 สถานี ทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

โดยมีอัตราค่าบริการ 6.50 บาท/kWh

นอกจากนี้ สถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere กำลังดำเนินการเรื่องการขออัตราค่าไฟฟ้าพิเศษจากการไฟฟ้านครหลวง เพื่อจะให้บริการลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

ขณะที่นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า บางจากมีแผนจะเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA (EV Charging Station) 56 สาขา ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ มีเป้าหมายว่าบนเส้นทางหลักทุกระยะ 100 กิโลเมตร จะต้องมีจุดชาร์จครอบคลุมทั่วประเทศ รองรับรถอีวีหลากหลายรุ่น จากหลากหลายแบรนด์ และอนาคตจะขยายคู่ขนานไปกับ PEA ให้ครบ 263 แห่งตามแผนในปี 2566

ทั้งนี้ บางจากร่วมมือกับ PEA ในการพัฒนาบริการการติดตั้ง EV Charging Station เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย Greenovative Destination สำหรับนักเดินทาง

เช่นเดียวกับ นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เปิดเผยว่า เอ็มจีมีแผนจะขยายสถานีชาร์จของเอ็มจี ว่าได้บรรลุแผนระยะที่ 1 มีการติดตั้งสถานีชาร์จจำนวน 108 สถานี ที่โชว์รูมและศูนย์บริการเอ็มจีเรียบร้อยแล้ว และเปิดให้บริการแล้ว 67 สถานี โดยคิดราคาค่าบริการในช่วงไม่พีก 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงและในช่วงเวลาพีก 7.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง

ส่วนแผนระยะที่ 2 ภายใต้งบฯลงทุนมูลค่า 500 ล้านบาท ในการติดตั้งสถานีชาร์จอีก 500 จุดทั่วประเทศด้วย และคาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้


ขณะที่นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เปิดเผยว่า เดลต้าฯได้พัฒนาหัวชาร์จแบบธรรมดา สำหรับรถยนต์ EV สำเร็จเรียบร้อยแล้ว และจะนำไปติดตั้งในห้างสรรพสินค้าหลัก ได้แก่ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ 6 เครื่อง, เดอะมอลล์ บางกะปิ 4 เครื่อง, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน 3 เครื่อง, เดอะมอลล์ บางแค 3 เครื่อง, สามย่านมิตรทาวน์ 4 เครื่อง, อิมแพ็ค เมืองทองธานี 8 เครื่อง และเตรียมขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม