“โคมัตสุ” ฝ่าวิกฤตโควิด ดันเป้า 3.6 พันล้าน

สัมภาษณ์

พูดถึง “สยามกลการ” ถือเป็นกลุ่มบริษัทที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมาอย่างยาวนาน

และหนึ่งในแบรนด์ที่สร้างความแข็งแกร่งและชื่อเสียงให้กับกลุ่มนี้ “บางกอกโคมัตสุ” บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มสยามกลการและแบรนด์โคมัตสุ ประเทศญี่ปุ่น จัดอยู่แถวหน้าเลยทีเดียว ร่วมหัวจมท้ายกันมากกว่า 65 ปี

ล่าสุด “ประณิธาน พรประภา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลล์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ในสภาวการณ์ที่หลากหลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ผลกระทบปีนี้จะเป็นอย่างไร ไปฟังคำตอบ

ยัน “โควิด” ไม่สะเทือน

ปีที่ผ่านมาและปีนี้ ทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 แต่สำหรับ “โคมัตสุ” นั้น เนื่องจากเราอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมหนักของประเทศไทยมากกว่า 65 ปี และยังมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมตอบโจทย์แต่ละประเภทการใช้งานมากขึ้น และพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป ชี้อุตสาหกรรมเครื่องจักรหนักยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยภาพรวมจากปัญหาโควิด-19 แต่โครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่สำคัญตามแผนงานยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับช่องทางการขายสู่ออนไลน์มากขึ้นตามกระแส มั่นใจยอดขายเป็นไปตามเป้า 3,600 ล้านบาท

จักรกลหนักโตต่อเนื่อง

สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนักของไทย เติบโตขึ้นจากปี 2563 ถึง 41% โดยเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงการก่อสร้างในส่วนของภาครัฐ ทั้งโครงการสาธารณูปโภค เมกะโปรเจ็กต์ รวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ (โครงการโคก-หนอง-นา) ทำให้มีการเติบโตในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีการลงทุนด้านการก่อสร้าง จากการก่อสร้างทั่วไปตามงบประมาณ และโครงการเมกะโปรเจ็กต์สำคัญ ซึ่งสัดส่วนการลงทุนในภาครัฐคาดการณ์เติบโตขึ้นประมาณ 12% ในปี 2564 บวกกับการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม โดยการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมระบบรางหลายโครงการมีกำหนดเริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2564 ที่สำคัญ ทั้งในส่วนต่อขยาย การเชื่อมต่อระบบขนส่งครอบคลุมพื้นที่สู่ภูมิภาคกว้างขวางขึ้น

ขณะเดียวกัน โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ล้วนแต่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน

อุ้ม พนง.สร้างขวัญกำลังใจ

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทางโคมัตสุได้รับผลกระทบในส่วนที่ต้องปรับตัวเพื่อมั่นใจว่าลูกค้า คู่ค้า และพนักงานของเราจะปลอดภัยจากโควิด-19 แต่ในส่วนของธุรกิจนั้นกลับกลายเป็นตลาดเครื่องจักรกลหนักเติบโตขึ้น เนื่องมาจากเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่การเกษตร แหล่งน้ำ ทำให้เครื่องจักรกลหนักมีความต้องการในตลาดค่อนข้างมาก เพื่อรองรับกับการขยายงานโปรเจ็กต์ต่าง ๆ โคมัตสุเน้นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เน้นย้ำคือการดูแลพนักงานให้มีขวัญและกำลังใจในการบริการลูกค้า บวกกับตลาดเครื่องจักรกลหนักเติบโตขึ้น มีความต้องการในตลาดค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้ในการก่อสร้างและรองรับกับการขยายงานโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ทำให้โคมัตสุได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้น้อยมาก ก็ถือว่าธุรกิจของเรายังมีความโชคดีตรงจุดนี้อยู่

ปรับแผนบุกออนไลน์เต็มสูบ

ทั้งนี้ บริษัทเองก็ต้องการปรับตัวการดำเนินธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัย และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด อย่างช่องทางการจัดจำหน่ายก็มีการปรับตัว พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนมาสนใจช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยมีการขยายช่องทางการติดต่อผ่านทางออนไลน์สำหรับลูกค้าที่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line OA และ Call Center

อย่างปีนี้ก็มีแผนที่จะมุ่งเน้นลูกค้าตามประเภทธุรกิจ เพื่อจะได้ตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งแต่เดิมไม่ได้มีตัวเลือกที่หลากหลายให้แก่ลูกค้า แต่ปัจจุบันได้พัฒนาทั้งเครื่องจักรและบริการให้ตรงใจลูกค้ามากขึ้นเช่น สำหรับลูกค้างานเหมือง ก็ต้องเสนอสินค้าและบริการที่มั่นใจว่าลูกค้าจะต้องทำงานได้ตามเป้าหมายในแต่ละวัน รวมถึงการพัฒนาเครื่องจักรรุ่นใหม่ ๆ ต้นปีที่ผ่านมา โคมัตสุได้เปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ PC130-10M0 ที่ได้มีการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยปรับปรุงเครื่องจักรให้ทำงานได้ไวขึ้น และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงมากขึ้น แข็งแรง ทนทาน และเรายังมีการมุ่งเน้นในเรื่องประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับกับโปรแกรม B-Connect Warranty การรับประกันเครื่องจักรตลอดอายุการใช้งาน, โปรแกรม KOTS ซึ่งเป็นโปรแกรมฝึกคนขับ เพื่อให้คนขับใช้เครื่องจักรได้ถูกวิธี และมีประสิทธิภาพสูงสุด, ระบบ KOMTRAX ที่เป็นระบบที่ช่วยในการบริหารเครื่องจักร อีกทั้งเรายังมีการพัฒนา application เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการดูแลเครื่องจักรด้วยตัวเอง

มั่นใจทะลุเป้า 3.6 พันล้าน

ปีนี้บริษัทมีแผนจะขยายศูนย์บริการเพิ่มในปีนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดอีกต่อไป ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการวางแผนการลงทุน ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น เรามั่นใจว่าจะสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 900 คัน หรือประมาณ 3,600 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน ปัจจุบันโคมัตสุในประเทศไทยมีศูนย์บริการทั้งสิ้น 23 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศคือ ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ สำนักงานใหญ่, นวนคร, สระบุรี, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ระยอง, สระแก้ว และชลบุรี ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง, พิษณุโลก, นครสวรรค์, เชียงใหม่ และเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น, นครราชสีมา, อุดรธานี, สุรินทร์, อุบลราชธานี และมุกดาหาร ภาคใต้ ได้แก่ ทุ่งสง, สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่ และภูเก็ต

ซึ่งหากมีโอกาสเราก็พร้อมจะลงทุนขยายสาขาเพิ่มเติมอย่างแน่นอน