ผลิตรถสะดุดคลัสเตอร์ชิ้นส่วน พิษโควิดลามตัวแทนจำหน่าย

ชิ้นส่วนขาดแรงงานติดโควิดยังป่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ไม่เลิก “โตโยต้า” แจ็กพอตโรงงานเกตเวย์ ฉะเชิงเทรายังไม่สามารถกลับมาผลิต ขณะที่ “มิตซูบิชิ” เผชิญภาวะขาดแคลนชิปจากมาเลเซียล็อกดาวน์ “ดีลเลอร์” อ่วมกำลังซื้อหด สภาพคล่องหาย ลูกค้าเบื่อรอรถนาน มาตรการล็อกดาวน์ทุบรายได้ศูนย์บริการหายกว่าครึ่ง

แหล่งข่าวผู้ผลิตรถยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิดในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ฯลฯ ยังกระทบโรงงานผลิตรถยนต์ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งโรงงานในเขตพื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบางโรงงานผลิตที่ใช้ชิ้นส่วนจากต่างประเทศประสบปัญหาด้านโลจิสติกส์ทำให้การผลิตไม่เป็นไปตามเป้า

โตโยต้ายอมลดเป้าผลิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานผลิตรถยนต์ของโตโยต้า จำนวน 3 โรง ได้แก่ สำโรง บ้านโพธิ์ และเกตเวย์ ซึ่งได้หยุดไลน์ผลิตชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม จากปัญหาโรงงานไทยแอโรว์มีแรงงานติดโควิด และถูกมาตรการคุมเข้มจากสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทราสั่งปิดโรงงาน แม้ว่าเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม จะกลับมาผลิตได้แต่ก็ทำได้เพียง 2 โรงงาน คือ โรงงานบ้านโพธิ์ และโรงงานสำโรงซึ่งทำได้บางส่วนเท่านั้น (เฉพาะกะกลางวัน) ส่วนโรงงานเกตเวย์ ยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้ คาดว่าน่าจะลากยาวไปจนถึงสุดสัปดาห์นี้

“ปัญหาขาดชิ้นส่วนตอนนี้เป็นกันทั่วโลก แต่บ้านเรายังไม่รุนแรงเหมือนในอเมริกา ซึ่งตรงนั้นมาจากปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ ถือว่าสะเทือนฐานผลิตกันเลยทีเดียว โตโยต้าต้องประกาศลดเป้าผลิตเดือนกันยายนลงถึง 40%” แหล่งข่าวจากโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้ากล่าว

มิตซูบิชิเร่งบริหารจัดการชิป

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทจับตาชิ้นส่วนบางตัวที่ต้องนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย เพราะเริ่มมีปัญหาล่าช้าและอาจจะทำให้ไลน์การผลิตสะดุดได้ แต่ถึงวันนี้โรงงานผลิตรถยนต์มิตซูบิชิที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ยังผลิตได้ต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นเหมือนค่ายรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่น เพราะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ประกอบกับโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่มาเลเซียหยุดผลิต จากมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ขณะนี้บริษัทได้ใช้วิธีบริหารจัดการจนสามารถกลับมาเดินหน้าผลิตได้ทั้ง 2 กะในปัจจุบัน แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดควบคู่ไปกับการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศไทย

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับบริหารในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ยังคงเป็นปัญหาหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งอุตสาหกรรมไอที และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาการผลิตของค่ายรถยนต์ในแต่ละประเทศ และการบริหารจัดการของบริษัทแม่ที่จะต้องจัดสรรปันส่วนชิ้นส่วนเพื่อป้อนให้กับฐานการผลิตแต่ละประเทศ

ไทยแอโรว์เพิ่มแรงงานฝีมือ

แหล่งข่าวฝ่ายบริหาร บริษัท ไทยแอโรว์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ขณะนี้โรงงานที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นโรงงานหลักป้อนชิ้นส่วนให้กับโตโยต้าสามารถกลับมาผลิตได้แล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาคือขาดแรงงานฝีมือ ซึ่งขณะนี้บริษัทประกาศรับคนเพิ่มเพื่อเร่งสปีดผลิตชิ้นส่วนส่งมอบกับลูกค้าให้เร็วและเต็มคำสั่งซื้อ

“เรามีโรงงาน 2 แห่ง ฉะเชิงเทรากับสมุทรปราการ แต่โรงงานที่สมุทรปราการก็มีออร์เดอร์ล้นทั้งจากนิสสันและอีซูซุ ไม่พอแบ่งให้โรงงานอื่นได้”

ห่วงกระทบตลาดส่งออก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ไลน์การผลิตรถยนต์ซึ่งได้รับผลกระทบจากคลัสเตอร์ชิ้นส่วน ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะส่งผลต่อเป้าหมายส่งออกรถยนต์รวมในปี 2564 ซึ่งกำหนดไว้ 8.5 แสนคัน แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะสามารถตุนตัวเลขส่งออกไว้ได้แล้วถึง 486,237 คันก็ตาม

ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่าครึ่งปีหลังยังคาดว่ายอดการผลิตรถยนต์จะทำได้สูงสุดถึง 1.6 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดส่งออก 8.5 แสนคัน และขายในประเทศ 7.5 แสนคัน เพราะประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม แต่ละโรงงานต้องมีมาตรการควบคุม ป้องกัน และดูแลอย่างเคร่งครัด ด้วยการทำตรวจเชิงรุก ทำแฟกตอรี่ไอโซเลชั่น ปรับการทำงานใหม่เพื่อไม่ให้กระทบกับช่วงเวลาการผลิต

ดีลเลอร์จ้องลดค่าใช้จ่าย

ปัญหาการผลิตที่ล่าช้า ยังกระทบเป็นวงกว้างในอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มดีลเลอร์และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หลายรายออกมาแสดงความกังวล เพราะนอกจากตลาดรถยนต์จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่หดหายด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยังเจอปัญหาไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าได้ บางรายมีความต้องการใช้รถเร่งด่วนไม่แฮปปี้ที่จะรอก็เปลี่ยนไปซื้อยี่ห้ออื่น

แหล่งข่าวดีลเลอร์รายใหญ่ขายรถยนต์หลายยี่ห้อในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิกฤตครั้งนี้หนักกว่าทุกครั้ง กำลังซื้อในตลาดหดลงมากกว่าครึ่ง คนกังวลเรื่องการแพร่ระบาดโควิด ลูกค้าเดินเข้าโชว์รูมน้อยจนน่าตกใจ ส่วนใหญ่ที่ขายได้จะเป็นการขายแบบออนไลน์ หรือถ้ากรณีรถหรูสามารถนัดหมายลูกค้ามาชมรถก่อน เตรียมพนักงานต้อนรับเป็นแบบส่วนตัว ซึ่งแต่ละเดือนก็มีไม่กี่ราย

และที่กระทบหนักคือ รายได้ของโชว์รูมมากกว่าครึ่งมาจากบริการหลังการขาย ตอนนี้ กทม. ปริมณฑลถูกล็อกดาวน์ ลูกค้าใช้รถน้อยลง เซอร์วิสก็ลดน้อยตามไปด้วย ลูกค้าบางรายครบกำหนดเช็กระยะไม่ยอมเอารถเข้าศูนย์ยืดเวลาออกไปอีก รายได้จากบริการหลังการขายหายไปมากกว่า 50% ทางออกตอนนี้คือต้องเร่งทำแคมเปญเพื่อดึงลูกค้ากลับเข้าศูนย์ ทั้งลดค่าแรง หรือกรณีลูกค้าจ่ายผ่านบัตรเครดิตก็สามารถผ่อนชำระ 0% ได้ถึง 10 เดือน

“ทุกดีลเลอร์ตอนนี้ต้องพยายามลดค่าใช้จ่าย บางแห่งลดคน บางแห่งก็ใช้วิธีให้พนักงานหยุดโดยไม่รับเงินเดือน สัก 5-7 วันต่อเดือน ก็พอเซฟค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง”