รถจีนทยอยอวดโฉมไตรมาส 4 “ดีเอฟเอ็ม” ผนึกสิงคโปร์ปลุกตลาดอีวี

ทัพรถยนต์จีนทยอยบุกตลาด “กลุ่มธนาดำรงศักดิ์” คัมแบ็กคว้าแบรนด์ “DFSK” ลงสู้ศึก ประเดิมส่งเอสยูวี 7 ที่นั่ง GLORY ก่อนถล่มด้วยอีวีอีกหลายรุ่น เร่งมือตั้งดีลเลอร์ทั่ว ปท. จัดโปรฯพิเศษ 100 คันแรกทุบราคาลงเฉียดแสนบาท จับตาอีเวนต์ใหญ่ปลายปี มีอีกหลายยี่ห้อ “ฉางอัน-เฌอรี่-จีลี่” ส่วนยักษ์ ปตท.ผนึกฟ็อกซ์คอนน์จากจีน เร่งสร้างสังคมอีวีเต็มรูปแบบ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานบรรยากาศตลาดรถยนต์ในประเทศไทย แม้จะหดตัวจากกำลังซื้อที่หดหายด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด แต่ความเคลื่อนไหวในตลาดยังมีให้เห็นไม่ขาดสาย โดยเฉพาะกลุ่มรถจีนที่ตั้งท่าถล่มตลาดบ้านหลังจาก 2 แบรนด์ใหญ่เอ็มจี โดยบริษัท เอสเอไอซีมอเตอร์-ซีพี (SAIC Motor) หรือเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสตรี คอร์ปอเรชั่น จับมือกับกลุ่ม ซี.พี. ใช้เวลาเพียง 5 ปีกวาดลูกค้าไปกว่า 5 หมื่นราย และเกรท วอลล์ฯเปิดตัวฮาวาล เอช6 ไฮบริด แค่เดือนเดียวกวาดยอดขายไปกว่า 300 คัน และเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอีก 400 คัน

“เร็ว ๆ นี้ก็จะมีทยอยคลอดออกมาเรื่อย ๆ ทั้งจีลี่, เฌอรี่ และฉางอัน ซึ่งคงต้องรอรายละเอียดจากบีโอไอ” แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุดแหล่งข่าวจากบริษัท ดี เอฟ เอ็ม มอเตอร์เซลส์ (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดี เอฟ เอ็ม ซึ่ง บริหารงานโดยนายพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ได้ร่วมทุนกับนักลงทุนสิงคโปร์นำรถยนต์แบรนด์ DFSK เข้ามาทำตลาดอีกครั้ง แต่จะเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้า โดยจดทะเบียนตั้งบริษัท อีวี ฮาลิโคนิก จำกัด เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 ภายใต้ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท

DFSK มีแผนจะเปิดตัวบริษัทและแบรนด์เพื่อแนะนำให้ลูกค้าชาวไทยได้รู้จักก่อนหน้านี้ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังรุนแรง และหลายพื้นที่ถูกล็อกดาวน์ทำให้บรรยากาศโดยรวมไม่เอื้ออำนวย จึงตัดสินใจเปิดทำตลาดเลยแล้วค่อยแกรนด์โอเพ่นนิ่งอีกครั้งในช่วงปลายปีในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป

โดยแผนธุรกิจในประเทศไทย ขณะนี้ได้แนะนำรถยนต์เอสยูวี GLORY ขนาด 7 ที่นั่ง เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ยังไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้าหรือไฮบริด ตั้งราคาขาย 959,000 บาท ช่วงเปิดตัว 100 คันแรกมีโปรฯพิเศษเหลือ 8.99 แสนบาท รับประกัน 5 ปี 150,000 กิโลเมตร พร้อมเซอร์วิสแพ็กเกจ โดยสามารถส่งมอบให้กับลูกค้าที่สนใจได้ทันที เป็นการนำเข้าทั้งคันมาจากอินโดนีเซีย ซึ่งได้สิทธิพิเศษการนำเข้าไม่เสียภาษีจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และอนาคตจะทยอยส่งรถยนต์ไฟฟ้า 100% เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติม

ตอนนี้ได้คัดเลือกตัวแทนจำหน่าย 10 ราย กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศแบ่งเป็นกรุงเทพฯ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท วี ริช มอเตอร์ จำกัด, และศรีนครินทร์ ออโตในเครืออีตั้น กรุ๊ป ส่วนต่างจังหวัดได้แก่ สระบุรี, ลพบุรี ไทยรุ่งเรืองฯ, นครราชสีมา บริษัท เทพนคร ออโต้เซอร์วิส จำกัด, จ.อุดรธานี บริษัท อุดร ออโต้ ซิตี้ จำกัด, เชียงใหม่ บริษัท นิธิบูรณ์ ออโต้เซลส์ จำกัด และนครศรีธรรมราช บริษัท จ.วินิต จำกัด

“อนาคตจะพยายามให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เราเลือกผู้จำหน่ายที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญในธุรกิจค้าปลีกรถยนต์ มีความตั้งใจจริง ซึ่งกลุ่มผู้นำเข้ารถยนต์อิสระจากต่างประเทศให้ความสนใจเยอะมาก”

สำหรับรถยนต์เอสยูวี DFSK GLORY i-AUTO Super City SUV มาพร้อมเทคโนโยีอัจฉริยะ มีระบบอำนวยความสะดวกสบายตลอดการขับขี่ ทั้งปรับเบาะไฟฟ้า, เปิดฝาท้ายอัตโนมัติ, กล้อง 360 องศา, ไฟหน้ารถปรับแสงอัตโนมัติ ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เดิมค่ายรถจีนหลายยี่ห้อมีแผนเปิดตัวในไทยปีนี้ แต่ต้องชะลอไปจากสถานการณ์โควิด อาทิ รถยนต์นั่งของบีวายดี ซึ่งกลุ่มสยามกลการจับมือกับกลุ่มเอสซีจี (ปูนซิเมนต์ไทย) หรือ “เฌอรี่” ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มยนตรกิจนำเข้ามาขาย ก็มีข่าวว่าจะเปิดตัวเพื่อทำตลาดอีกครั้งรวมถึง “ฉางอัน ออโตโมบิล” ที่ถึงขั้นเข้ามาเจรจาหารือกับนิคมอุตสาหกรรมย่านปราจีนบุรี

ความเคลื่อนไหวในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดกลุ่ม ปตท.ประกาศความชัดเจนว่านโยบายการพัฒนาธุรกิจอีวีได้ลงนามตั้งบริษัทร่วมทุนกับ “ฟ็อกซ์คอนน์”ยักษ์ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของจีนเพื่อตั้งโรงงานผลิตแพลตฟอร์มชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวี รวมถึงการเป็นโรงงานประกอบรถอีวี โดยจะถือเป็นฐานผลิตอีวีแห่งที่ 2 ของฟ็อกซ์คอนน์ที่อยู่นอกประเทศจีน

มี ปตท.ถือหุ้นสัดส่วน 60% ฟ็อกซ์คอนน์ถือหุ้น 40% ด้วยงบฯลงทุนช่วงแรก 31,000 ล้านบาท และมีโอกาสจะขยายการลงทุนได้ถึง 62,000 ล้านบาท โรงงานอยู่ในพื้นที่อีอีซีแล้วเสร็จปี 2565 มีกำลังผลิต 30,000 คันต่อปีในช่วงเริ่มต้น และตั้งเป้าว่าในปี 2573 จะมีกำลังการผลิต 120,000 คันต่อปี จากที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะผลักดันให้ตลาดรถยนต์ในประเทศ 30% หรือประมาณ 700,000 คัน โดยในช่วงแรกจะเร่งปูพื้นฐานเพื่อก้าวสู่สังคมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ