ถอดรหัสความสำเร็จ “โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์”

คอลัมน์ ออโตสปอร์ต

กว่าที่ “ทีมกีฬา” สักทีมหนึ่งจะพัฒนาศักยภาพกระทั่งสามารถสร้างทีมจนประสบความสำเร็จระดับชาติ คว้าถ้วยรางวัลระดับโลกย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ “Toyota Gazoo Racing Team Thailand” (โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์) หนึ่งในทีมรถแข่งระดับท็อปของประเทศไทย ภายใต้การบริหารและคุมทีมโดย “อาร์โต้” สุทธิพงศ์ สมิตชาติ หรือบรรดาคอมอเตอร์สปอร์ตเรียกเขาว่า “พี่อัต” อะไรคือ คีย์ซักเซส ไปดูกัน

“อาร์โต้” เผยถึงหัวใจของการทำทีม “Toyota Gazoo Racing Team Thailand” ว่า ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ นั่นคือ 1.รถแข่งที่พร้อมและสู้ได้ 2.นักแข่ง 3.ทีมงาน ทั้ง 3 ส่วนต้องผสานเป็นเนื้อเดียวไปด้วยกัน ไม่มีส่วนไหนสำคัญที่สุด แต่ทุกส่วนต้องทำงานพร้อมกันหมด

อีกเรื่องคือวางแผนและคัดเลือกรายการแข่งขันที่มีการวางแท็กติกอย่างชัดเจน อย่างการวางทีมนักแข่งว่าจะลงแข่งรุ่นอะไร การเลือกรายการแข่งคุณภาพในประเทศต้องเป็นรายการที่ “ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทยฯ” (ร.ย.ส.ท.) หรือ FIA รับรอง และต้องลงแข่งในรุ่นที่ชิงแชมป์ประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมี 2 รายการ ได้แก่ Thailand Super Series และ RAAT Thailand Endurance Championship

“อาร์โต้” สุทธิพงศ์ สมิตชาติ

ส่วนรายการต่างประเทศ ทีมเลือกการแข่งขัน ADAC Total 24h-Race Nurburgring ที่เยอรมนี เพราะเป็นรายการแข่งขันที่ยากและท้าทายระดับตำนานของโลก ซึ่งสนามนี้ทีมได้พัฒนารถยนต์จากสายการผลิตในประเทศไทยไปร่วมแข่งขันต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมได้ไปเรียนรู้การแข่งระดับโลกและเข้าใจถึงปัญหาต่าง ๆ ที่นำมาสู่การพัฒนาทั้งรถและทีมงานอย่างสม่ำเสมอ

หัวใจสำคัญของทีม “Toyota Gazoo Racing Team Thailand” ที่สำคัญอีกข้อ คือ เน้นการสร้างนักแข่งใหม่ ในทุก ๆ ปีจะมีพื้นที่สำหรับแชมป์รุ่น “โคโรลล่า อัลติส จีอาร์ สปอร์ต วันเมคเรซ” จากการแข่ง โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง มอเตอร์สปอร์ต ขึ้นมาเป็นนักแข่งในสังกัด โดยปีแรกที่เข้าทีมจะให้ลงแข่งในรุ่น Endurance ซึ่งหนึ่งปีจะได้ลงแข่งแน่นอน 4 สนาม และเมื่อทำผลงานได้ดีก็จะขยับให้ไปแชลเลนจ์ในรุ่นใหญ่ขึ้น คือ Supercar พวก GTM GTC

ในสถานการณ์ปกติ ทีมแข่งจะมีตารางฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ แต่ช่วงโควิด “นิวนอร์มอล” เลือกไปฝึกซ้อมผ่านเครื่อง “ซีมูเลเตอร์” ที่ Toyota Driving Experience Park โดยตัวเครื่องนี้เป็น Motorsport Simulator สำหรับนักแข่งฝึกซ้อมโดยเฉพาะ ซึ่งจะแตกต่างจากเครื่องซีมูเลเตอร์ทั่วไป เพราะสามารถเซตข้อมูลรถของนักแข่งคนนั้นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่าง เครื่องรุ่นไหน จูนยังไง กี่แรงม้า ลมยางเท่าไหร่ สภาพอากาศยังไง ใส่เข้าไปได้หมด คือ เสมือนจริงมาก

หนึ่งในวิสัยทัศน์การทำทีมที่น่ายกย่องของ อาร์โต้-สุทธิพงศ์ คือ การส่งทีมไปแข่งขันในรายการของต่างประเทศ เช่น ADAC Total 24h-Race Nurburgring และ Super GT เราต้องไปดูให้รู้ให้เห็นว่า การแข่งระดับโลกแข่งกันอย่างไร โดยเฉพาะสนามระดับตำนานที่ต้องไปอย่าง “นูร์เบอร์กริง” อนาคตถ้ามีโอกาส อยากร่วมลงแข่งในรายการ Le Mans อยากไปแชลเลนจ์

กีฬามอเตอร์สปอร์ตเป็นกีฬาที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เช่นเดียวกับการทำทีมแข่งรถ อาร์โต้ยอมรับว่าการทำทีมในแต่ละปี ๆ ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาท ส่วนเรื่องการสนับสนุนจำเป็นต้องได้รับทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันการกีฬาแห่งประเทศไทยได้บรรจุกีฬามอเตอร์สปอร์ตเข้าเป็นกีฬาอาชีพ นับว่าเป็นกีฬาที่นักแข่งสามารถสร้างรายได้และความมั่นคงให้ตัวเอง ไม่ต่างจากกีฬายอดนิยมอื่น ๆ คนไทย คนรุ่นใหม่มีศักยภาพที่จะไปถึงระดับโลกได้ เพียงแต่ยังขาดโอกาสและการสนับสนุนอยู่อีกมาก


ทั้งนี้ “โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์” นับว่าเป็นทีมแข่งรถของค่ายรถยนต์ทีมเดียวในประเทศไทยที่ยังเดินหน้าทำทีมอยู่ ส่วนหนึ่งอาร์โต้เผยว่า เพราะ “ผมคิดแทนผู้สนับสนุน” คือ เวลาไปแข่งนอกจากผลการแข่งขันที่ต้องทำให้ชนะแล้ว ต้องเสริมด้านภาพลักษณ์และแบรนดิ้งให้กับแบรนด์สินค้าที่สนับสนุนทีมด้วย