ดีลเลอร์โจทย์ใหญ่ค่าย “รถจีน” รุมจีบเกรย์มาร์เก็ตขยายตลาด

โจทย์ใหญ่กลุ่มทุนรถจีนเฟ้นหาดีลเลอร์ช่วยทำตลาด ไล่จีบบรรดาตัวแทนรถนำเข้าหลังโควิดทุบตลาดหดตัว นักลงทุนตัวจริงเบรกลงทุน ย้ำการแข่งขันสูง กำลังซื้อร่วง ขายยาก หวั่นไฟแนนซ์ลังเลไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ

กระแสรถจีนที่ทยอยบุกทำตลาดในบ้านเราหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่ค่ายเอ็มจี ตามมาด้วยเกรท วอลล์ มอเตอร์ ไล่เรียงมาถึงกลุ่มตงฟง มอเตอร์ ที่หันใช้เป็นแบรนด์ DFSK บุกตลาด กลุ่มฉางอัน บีวายดี เฌอรี่ เริ่มเคลื่อนไหวหนักขึ้น ทำให้เกิดภาวะการแข่งขันในตลาดสูงมาก จนทำให้การเฟ้นหาตัวแทนจำหน่ายของหลาย ๆ แบรนด์กลายเป็นประเด็นใหญ่ในการบุกตลาด และยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าแต่ละแบรนด์จะซักเซสแค่ไหน

โจทย์ใหญ่เฟ้นหาดีลเลอร์

แหล่งข่าวในวงการรถยนต์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้นักลงทุนหน้าใหม่ค่ายจีนกำลังเจอด่านหิน คือการหาตัวแทนจำหน่ายมาช่วยทำตลาด ซึ่งถ้าผ่านด่านนี้ไปได้ก็มีโอกาสสำเร็จ เพราะด้วยตัวโปรดักต์และเทคโนโลยีของจีนระยะหลังนี้แข่งขันกับแบรนด์ญี่ปุ่นได้สบาย ๆ

“ทั้งเอ็มจีและเกรท วอลล์ฯ ถือว่าผ่านด่านแรกนี้ไปได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่รายใหม่ ๆ ที่ประกาศตัวตามมาตอนนี้ ทั้ง DFSK ฉางอัน, บีวายดี, เฌอรี่ น่าจะผ่านด่านแรกนี้ยากหน่อย”

ปัญหาคือไทมิ่งในการเข้ามาทำตลาดตรงกับช่วงวิกฤตโควิดพอดี ตลาดรถยนต์ถูกกระทบอย่างหนักหดตัวไปเยอะมาก ปีที่แล้วยอดขายรวมไม่ถึง 8 แสนคัน ปีนี้แย่ลงไปอีก เศรษฐกิจตกต่ำก็เป็นเรื่องปกติที่ไม่มีใครกล้าควักเงินมาลงทุน เพราะการตัดสินใจเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งนั้นต้องใช้เงินหลายสิบล้าน ต้องมีที่ดินทำโชว์รูม ศูนย์บริการและต้องลงทุนกับเครื่องไม้เครื่องมือรวมถึงบุคลากรด้วย

ลดเงื่อนไขทาบเกรย์มาร์เก็ต

แหล่งข่าวตัวแทนจำหน่ายรถนำเข้า (เกรย์มาร์เก็ต) กล่าวว่า ช่วงนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการรถจีนหลายแบรนด์ติดต่อขอให้ร่วมเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเที่ยวนี้มาแปลก เงื่อนไขไม่มีอะไรซับซ้อน ซื้อรถเดือนหนึ่งประมาณ 3-4 คัน โชว์รูมไม่ต้องใช้พื้นที่มาก สามารถทำเป็น
มัลติแบรนด์ซีกหนึ่งขายรถนำเข้า อีกซีกหนึ่งขายแบรนด์จีนที่เสนอมา ศูนย์บริการสามารถใช้ร่วมกับรถนำเข้าได้ ซึ่งถ้ามองเป็นโอกาสก็น่าจะใช่ แต่ต้องคิดให้รอบคอบ เนื่องจากมาร์จิ้นที่ได้ใกล้เคียงกับรถญี่ปุ่นเกินไป และไม่แน่ใจว่าช่วงนี้จะขายได้มากน้อยแค่ไหน เพราะตลาดรถยนต์การแข่งขันสูงมาก และมู้ดจับจ่ายหดหายไปเยอะ

“ถ้าให้มาร์จิ้นดี ๆ หน่อยเชื่อว่าเกรย์มาร์เก็ตหลายเจ้าน่าจะสนใจ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ รถจีนเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรถญี่ปุ่น ไฟแนนซ์จะให้เครดิตรถญี่ปุ่นมากกว่า ในขณะที่รถจีนมีหลายรายปฏิเสธปล่อยสินเชื่อ หรือไม่ก็ปรับเงื่อนไขเยอะมาก เช่น เม็ดเงินจัดปกติ 80% ของราคารถ อาจจะต้องลดลงอีก ลูกค้าต้องดาวน์สูงขึ้น ทำให้ขายยาก

“อีตั้น” พร้อมขาย DFSK

นางอัจฉรีย์ ตันติยันกุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท อีตั้น อิมปอร์ท คาร์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อีตั้นกรุ๊ปตัดสินใจมาเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์สัญชาติจีนแบรนด์ DFSK โดยตั้งบริษัท ศรีนครินทร์ ออโต้ จำกัดขึ้นทำตลาด เพราะเห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะการเติบโตและศักยภาพของแบรนด์รถยนต์จากจีน และรถเอสยูวี รถอีวีที่กำลังเข้ามาทำตลาดและเติบโตในประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกของอีตั้นเหมือนกันที่เข้ามาเป็นดีลเลอร์ขายรถจีน และแบรนด์ DFSK จัดเป็นรถคนละกลุ่มกับที่อีตั้นทำตลาดอยู่ ปีแรกบริษัทยังไม่ได้ตั้งเป้ายอดขาย เบื้องต้นใช้พื้นที่เดียวกับโชว์รูมอีตั้น สำนักงานใหญ่ บนถนนศรีนครินทร์ ซึ่งมีการแยกพื้นที่โชว์รูม แบ่งโซนออกจากกันอย่างชัดเจน

เกรท วอลล์ฯ เร่งเพิ่มเครือข่าย

ด้านนายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายในการจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายว่า ปีนี้มีแล้ว 30 แห่ง และภายในไตรมาสแรกของปี 2565 จะเพิ่มเป็น 50 แห่ง นโยบายคือ 1 จังหวัด 1 พาร์ตเนอร์

“เราเน้นพาร์ตเนอร์ที่มีประสบการณ์, ไมนด์เซต และโลเกชั่นเหมาะสม แต่ถ้าจังหวัดใหญ่ ๆ ที่ได้พาร์ตเนอร์แข็งแรงมาก สามารถดูแลลูกค้าได้เกินกว่าที่กำหนดก็สามารถตั้งเป็นคลัสเตอร์ วันนี้มีนักลงทุนทั้งผู้ที่อยู่ในแวดวงค้าปลีกรถยนต์ ผู้ที่เคยเป็นดีลเลอร์รถยนต์ยื่นใบสมัครมาค่อนข้างมาก ธุรกิจอื่น ๆ เราก็ยินดี”

ขณะที่นายพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีวี ฮาลิโคนิก จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย (sole distributor) รถยนต์ DFSK กล่าวว่า หลังจากเข้ามาทำตลาดปัจจุบัน DFSK มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการแล้ว 8 แห่ง ภายในปีนี้จะเพิ่มเป็น 12 แห่งทั่วประเทศ และในปี 2565 จะมีโชว์รูมและศูนย์บริการ DFSK Motors เป็น 30 แห่งทั่วประเทศ

“เราจะเน้นเจาะกลุ่มไปยังดีลเลอร์รถยนต์รายเดิมของเราก่อน และดีลเลอร์ค่ายรถต่าง ๆ หรือพวกผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์เป็นหลัก เนื่องจากเขามีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจดี”

เช่นเดียวกับนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันเอ็มจีมีโชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์ 170 แห่งทั่วประเทศ เอ็มจีเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ซึ่งได้รับการตอบรับและยอมรับจากลูกค้าชาวไทย รวมทั้งนักลงทุนพันธมิตรทางธุรกิจเป็นอย่างดีทั้งดีลเลอร์และสถาบันการเงิน

ไฟแนนซ์เข้มปล่อยสินเชื่อ

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด และในฐานะประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อหรือจัดไฟแนนซ์ให้กับกลุ่มรถยนต์ค่ายจีนทั้งระบบ ยอมรับว่ามีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการเช่าซื้อบางรายไม่รับหรือปล่อยสินเชื่อบางยี่ห้อจริง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเด็นในเรื่องของราคารถที่ตกลงค่อนข้างเร็ว โดยหากดูราคารถที่ตกลงจะเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50% จากราคารถเฉลี่ย 6 แสนบาทต่อคัน หากเป็นรถมือสอง จะเหลือราคาราว 2 แสนบาท ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายให้กับสถาบันการเงินได้ ทำให้เกิดการชะลอหรือไม่ปล่อยสินเชื่อในกลุ่มรถยนต์ดังกล่าว

ขณะที่บางส่วนที่ยังคงรับปล่อยสินเชื่อ อาจจะมีเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่มากกว่ารถยนต์ประเภทอื่น เช่น พิจารณาการวางวงเงินดาวน์ กลุ่มอาชีพและความมั่นคงรายได้ของลูกค้า รวมถึงประวัติการชำระหนี้จากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ โดยจะมีการโฟกัสการปล่อยสินเชื่อมากเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรุ่นรถยนต์ด้วย เช่นเดียวกับซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ ยังคงปล่อยสินเชื่อให้กับรถยนต์จีนอยู่ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ลูกค้าจะต้องวางเงินดาวน์ และพิจารณาเลือกกลุ่มลูกค้าที่จะปล่อยเป็นพิเศษ ซึ่งปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อกลุ่มนี้จะมีไม่เยอะมาก สอดคล้องกับภาพรวมตลาดรถยนต์ใหม่