ค่ายรถเมินศูนย์ทดสอบยางล้อ ชี้เกณฑ์ตปท.สูงกว่า-หวั่นกระทบส่งออก

ค่ายรถเมินทำเอ็มโอยู ส่งยาง-ล้อเข้าศูนย์ทดสอบแห่งชาติ ยันผ่านเมืองนอกมาตรฐานสูงกว่า แค่ผ่านเกณฑ์ในไทยหวั่นมีปัญหาตลาดส่งออก “ทาทา-เอ็มจี-มาสด้า” ไม่สน นำร่องเซ็นให้ความร่วมมือ ด้าน “สมอ.” ยันกฎหมายใหม่ทุกยี่ห้อต้องปฏิบัติ

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการก่อสร้างสนามทดสอบยานยนต์และยางล้อรถยนต์แห่งชาติ บนพื้นที่เขตสวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามขัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา คืบหน้าไปมาก ภายในสัปดาห์นี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมทำการเซ็นสัญญากับผู้รับจ้างบริษัทคนไทย เพื่อปรับพื้นที่ 300 ไร่ หลังจากได้ประเทศสเปนเป็นที่ปรึกษาและออกแบบโครงการเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งตามแผนของโครงการเฟสแรกจะเริ่มก่อสร้างศูนย์ทดสอบยางล้อรถยนต์ตามมาตรฐาน UN R 117 ในเดือน ส.ค. 2560 นี้ ด้วยงบลงทุนของรัฐบาล โดยศูนย์ทดสอบยางล้อรถยนต์ฯแห่งนี้จะใช้สำหรับการทดสอบยางล้อรถยนต์ที่จะประกาศเป็นมาตรฐานบังคับตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2561 ที่พร้อมจะประกาศใช้ในปี 2561

“เป้าหมายของศูนย์นี้ทำขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาของผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศไทย”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แต่ขณะนี้กลับเจอปัญหาการลงนามความร่วมมือหรือเอ็มโอยูกับค่ายรถที่ผลิตในประเทศหลายยี่ห้อ เนื่องจากการลงนามดังกล่าวจะเป็นการยินยอมว่าเอกชนค่ายนั้น ๆ ยินดีและพร้อมที่จะปฏิบัติตามภายใต้เงื่อนไขที่ สมอ.กำหนด ซึ่งนั่นหมายถึงค่ายรถจะต้องนำยางล้อรถยนต์มาทดสอบยังศูนย์แห่งนี้ และถ้าผ่านการทดสอบจะถูกประทับ

รอยนูน มอก. แต่ขณะนี้มีเพียง 3 ค่าย คือทาทามอเตอร์ เอ็มจีจากจีน และมาสด้าเท่านั้นที่ลงนามเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา

“ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าได้ส่งไปทดสอบยังต่างประเทศแล้วทั้งยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ไม่จำเป็นต้องส่งทดสอบอีกซึ่งซ้ำซ้อน ส่วนเครื่องหมายรอยนูนก็ขายได้เพียงในประเทศไทยได้อย่างเดียว ไม่สามารถส่งออกขายต่างประเทศ ทำให้ต้องผลิตสินค้าเป็น 2 ลอตยุ่งยากและมีต้นทุนเพิ่ม”

ดังนั้นค่ายรถจึงจะขอให้รัฐทำการรับรองยางล้อรถยนต์ที่ผ่านการทดสอบจากต่างประเทศมาแล้วโดยไม่ต้องทดสอบซ้ำ และยังขอแสดงสัญลักษณ์เป็นเพียงสติ๊กเกอร์แทนรอยนูนบนตัวสินค้า

“ตอนนี้กลุ่มซัพพลายเออร์ก็ไม่พอใจ บังคับค่ายรถก็เหมือนบังคับซัพพลายเออร์ หลายคนก็ห่วงว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาลามไปถึงการย้ายฐานผลิตไปประเทศอื่น”

นายสุธน นิคมเขต ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า การแก้กฎหมายใหม่ก็เพื่อใช้บังคับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะยางล้อรถยนต์มีความสำคัญต่อตัวรถและชีวิตมาก ยางจำเป็นที่ต้องมีมาตรฐาน มีความปลอดภัยสูง ไม่สามารถหลบเลี่ยงหรือละเลยด้วยเหตุผลใด ๆ ทั้งนั้น แม้ว่าวันนี้ค่ายรถจะยังไม่เซ็นเอ็มโอยู แต่ในท้ายที่สุดเมื่อกฎหมายประกาศใช้ค่ายรถก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากยังผลิตขายในประเทศไทย

“ยอมรับว่าจากกรณีนี้แม้จะไม่ทำให้โครงการสร้างสนามทดสอบยานยนต์และยางล้อรถยนต์แห่งชาติสะดุด แต่จำเป็นต้องดูถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย ประเทศไทยคือฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกค่ายรถทั่วโลกรวมอยู่ที่นี่ รวมถึง 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตยางล้อทั้งมิชลิน บริดจสโตน ดันล็อป กู๊ดเยียร์ โยโกฮาม่า ลงทุนตั้งโรงงานผลิตที่นี่เพื่อขายในประเทศ อาเซียน และทั่วโลก ดังนั้นอาจต้องมีการหารือกับค่ายรถกันใหม่ถึงประโยชน์และเป้าหมายที่แท้จริง