ส่องอุตสาหกรรมรถยนต์ “ปีเสือ” ลุ้น “กำลังซื้อ-ความเชื่อมั่น” ฟื้น

อุตสาหกรรมยานยนต์
แฟ้มภาพ

ในรอบปี 2 ที่ผ่านมา (2563-2564) ประเทศไทยรวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างเผชิญกับภาวะความปั่นป่วนของกระแสการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างหนัก ส่งผลกระทบเป็นระลอก แม้รัฐบาลจะตัดสินใจประกาศมาตรการคุมเข้มขั้นสูงสุด แต่ด้วยความรุนแรงของเจ้าไวรัสโควิดก็ทำให้อุตฯรถยนต์เสียหายไปหลายหมื่นล้าน

งัดสารพัดกลยุทธ์เรียกกำลังซื้อ

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เดิมคาดการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2564 ว่ายอดขายรถยนต์จะกลับมาฟื้นตัวหลังจากปี 2563 ต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด ส่งผลให้ยอดขายในปี 2563 เปรียบเทียบปี 2562 ลดลงถึง 21.4% โดยทำได้เพียง 792,146 คัน

ทุกคนตั้งความหวังประกาศเป้าหมายว่าปี 2564 ยอดขายน่าจะกลับมาแตะ 9 แสนคัน โดยมีมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาล รวมถึงความสามารถในการจัดหาวัคซีน มั่นใจว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเป็นลำดับ

โดยมียักษ์ใหญ่โตโยต้านำร่อง “โนริอากิ ยามาชิตะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ประเมินตลาดว่า น่าจะดีดกลับไปในระดับ 850,000-900,000 คัน เช่นเดียวกับผู้บริหารจากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่ประเมินไปในทิศทางเดียวกัน ว่ายอดขายทั้งปี 2564 น่าจะทะลุ 850,000 คันแน่นอน

อีเวนต์แรกกวาดเพิ่ม 2.7 หมื่นคัน

ระหว่างที่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป แต่โควิดไม่ได้เบาบางลงดันกลับมาคุกรุ่นขึ้นอีกครั้ง จนเกือบทำให้อีเวนต์ใหญ่ของวงการรถยนต์อย่าง “มอเตอร์โชว์” เกือบไม่ได้จัด

แต่ด้วยมาตรการที่เข้มงวดของผู้จัดงานและความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข มอเตอร์โชว์ก็อุบัติขึ้นและผ่านพ้นไปด้วยดี ทำให้ค่ายรถยนต์รถจักรยานยนต์กระชุ่มกระชวยขึ้นมาอีกครั้ง

บิ๊กเต้ “จาตุรนต์ โกมลมิศร์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) รองประธานจัดงานมอเตอร์โชว์เปิดเผยความสำเร็จการจัดงานตลอด 14 วันว่า ทำยอดจองรถยนต์-จักรยานยนต์พุ่งสูงถึง 27,868 คัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 30,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 51.5% จากปีที่ผ่านมา และมีตัวเลขผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.34 ล้านคน จากเดิม 1.049 ล้านคนหรือมีมากกว่าเดิมราว ๆ 3 แสนคน เพิ่มขึ้น 28.6%

สงกรานต์กลับมาระบาดหนัก

หลังจากจบงานในช่วงต้นเดือนเมษายน ต่อเนื่องเทศกาลสงกรานต์ โควิดกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหญ่อีกครั้ง ช่วงนั้นมีคลัสเตอร์ใหญ่ เช่น แรงงานรวมถึงแรงงานต่างด้าว แถมระหว่างวันหยุดยาวยังมีการเดินทางกลับบ้านยิ่งทำการควบคุมโรคยากมากขึ้น เมื่อตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง กิจกรรมต่าง ๆ ถูกแช่แข็งอีกครั้ง อีเวนต์รถยนต์หลายงานที่กำลังเข้าคิวจัดแสดงต้องเลื่อนยาวไปเป็น 2565

ค่ายรถเบรกไลน์ผลิต

จากความพยายามที่จะควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด แต่ยิ่งตีกรอบยิ่งกระจายวงกว้าง โดยเฉพาะโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และโรงงานประกอบรถยนต์ แม้ทุกหน่วยงานจะพยายามตั้งการ์ดรับมือ แต่ก็มีหลุดรอดหลายโรงงานมีพนักงานติดเชื้อ โดยเฉพาะไทยแอร์โร่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่หลายแบรนด์

ช่วงนั้นทั้งโตโยต้า ฮอนด้า ฯลฯ ต้องประกาศหยุดไลน์ผลิตเป็นช่วง ๆ มีการจัดทำแผน bubble and seal ตั้งโรงพยาบาลสนามกันเองภายในโรงงาน แต่ก็ทำให้ไลน์การผลิตได้รับผลกระทบไปพอสมควร แถมระหว่างทางยังมีปัญหาการขนส่งผ่านคลองสุเอซ

และที่กระทบหนัก คือโรงงานผลิตชิปในไต้หวันไฟใหม่ กลายเป็นวิกฤตชิปขาดที่ลามไปทั่วทุกอุตสาหกรรม

หั่นเป้าขายเหลือ 8 แสนคัน

จากหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดรถยนต์ในปี 2564 โควิดสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงขึ้น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้บิ๊กโตโยต้าต้องประกาศปรับตัวเลขประมาณการใหม่ ลดเหลือแค่ 800,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาหลังจากทำงานกันไปได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น

ค่ายรถกัดฟันเปิดตัวรถใหม่

ในทางกลับกันแม้แผนธุรกิจ หรือกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ จะถูกแช่แข็ง แต่ในแง่ผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวมาบุกช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น โดยเริ่มทยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ตามแผนทั้งโมเดลเชนจ์ ไมเนอร์เชนจ์ วิ่งตามกันออกมาแบบรั่ว ๆ ทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน กลุ่มรถยนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด เรื่อยไปจนถึงกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100%

ล่าสุดในช่วงปลายปียังได้แรงส่งจากบิ๊กอีเวนต์มอเตอร์เอ็กซ์โป ดีดยอดขายขึ้นไปได้อีก 31,583 คัน รถจักรยานยนต์อีก 3,253 คัน ทำให้ผู้บริหารค่ายรถยนต์หลาย ๆ ค่ายเชื่อว่าจะสามารถก้าวผ่านตัวเลข 850,000 คันไปได้อย่างแน่นอน

แต่จะไปจบที่เท่าไรนั้นยังต้องลุ้นให้ผ่านสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2565 ไปก่อน

ส่องตลาดปีเสือลุ้นกันเหนื่อย

ส่วนตลาดในปี 2565 ถามหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเหนื่อยแน่ แถมต้นปียังมีแพ็กเกจส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าที่รัฐบาลตั้งใจเอามาเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนอยากซื้อรถอีวี ที่ฟากผู้ประกอบการกังวลว่าจะกระทบกับตลาดรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน ความไม่พร้อมของซัพพลายเออร์ รวมถึงปัญหาขาดแคลน “เซมิคอนดักเตอร์” ที่ยังคงหนักหนาสาหัส ไม่รู้ว่าจะได้รับการแก้ไขไปได้มากน้อยแค่ไหน

ยอดที่รับจองกันไปก่อนหน้านี้บรรดาค่ายรถยนต์จะสามารถเดินหน้าผลิตเพื่อส่งมอบให้ทันกับออร์เดอร์ที่เริ่มกลับเข้ามาได้หรือไม่ กำลังซื้อที่หดหายไปจะกลับจะฟื้นกลับมาได้มากน้อยเพียงใด

ส่วนความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลโดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันไปกับโควิด ยิ่งทำให้เป้าหมายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีเสือ ดุดันเอาเรื่อง…ไม่อยากให้กะพริบตา