ปูพรม อีวีอีโคซิสเต็ม เอกชนลุยตั้งสถานีชาร์จ

สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วง สำหรับประเทศที่อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

นั่นก็คือ การสร้าง “อีวีอีโคซิสเต็ม” และอินฟราสตรักเจอร์ โดยเฉพาะสถานีชาร์จ

ซึ่งเรื่องนี้ ถกเถียงกันมานาน ว่าอะไรควรมีก่อนกัน รถยนต์ไฟฟ้า หรือ สถานีชาร์จ

มาวันนี้ เรากำลังเห็นภาพ ความร่วมมือกันระหว่าง รัฐและเอกชน ที่กำลังขานรับรถอีวี ลุยตั้งสถานีชาร์จ

2 หน่วยงานนี้กางแผนว่า ปี 2030 ประเทศไทยจะต้องมีหัวจ่ายไฟทะลุ 1.3 หมื่นตัว กระจายตามหัวเมืองใหญ่และเส้นทางหลัก

นโยบายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ 30@30 เมื่อ 24 มี.ค. 2564 ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2573 ให้ได้ 30%

และขยับขึ้นเป็น 100% ในปี 2578 ซึ่งหมายถึงไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 18.41 ล้านคัน

ตามมาด้วยมติส่งเสริมให้เกิดการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ก่อนที่จะมีการผลิตจริง ทั้งลดอากรขาเข้า ลดภาษีสรรพสามิตและแจกเงินอุดหนุน 1.5 แสน

สำหรับซื้อรถอีวีที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าปรับลดลงและสามารถแข่งขันกับรถยนต์สันดาปได้

ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ “อีวีอีโคซิสเต็ม” เดินไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น

จากตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีคู่พันธมิตรสถานีชาร์จรวมกว่า 7 คู่ ที่มีการลงทุนสถานีชาร์จต่อเนื่อง

โดยคาดว่าเฉพาะในปี 2565 จะมีจำนวนสถานีชาร์จรวมกันเกิน 600 สถานี คิดเป็นจำนวนหัวชาร์จมากกว่า 1,200 หัวชาร์จ

อาทิ กฟผ.ผนึกกับปั๊มน้ำมันพีที ของค่ายพีทีจี ติดตั้งสถานี EleX

ขณะที่ กฟภ. (PEA) ร่วมกับสถานีบริการบางจาก แต่หากแยกเฉพาะของ กฟภ.เอง มีเป้าหมายจะพัฒนาให้ครบ 263 สถานี ในปี 2566

ส่วนบางจากมีเป้าหมายจะขึ้นให้ครบ 250 สถานี ในปีนี้ และบางจากได้ร่วมกันกับทางค่ายรถเอ็มจีอีกส่วนหนึ่ง

ขณะที่ กฟภ.ก็มีความร่วมมือกับ DELTA ขณะที่ค่าย OR ในเครือ ปตท.ได้มีเป้าหมายขึ้นสถานี 300 สถานี บวกกับนอกสถานีบริการน้ำมันอีก 150 แห่ง

ส่วน ค่ายคาลเท็กซ์ ได้ร่วมกับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จัดตั้งสถานีชาร์จ EA Anywhere ซึ่งเดิมวางเป้าหมายไว้ที่ 20 สถานี และยังไม่นับรวมค่ายรถต่าง ๆ เป็นต้น

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า

ในปีนี้โออาร์ตั้งเป้าพัฒนาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station (ปั๊ม) เพิ่มอีก 200 แห่งโดยอยู่ระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าภายในสิ้นปีจำนวนสถานีจะเป็นไปตามเป้าหมาย 300 แห่ง และยังมีการขยายจำนวนสถานีชาร์จนอกสถานีบริการ PTT Station อีก 150 แห่ง

ขณะที่ นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุถึงแผนงานการขยาย EV Charging Station ในสถานีบริการน้ำมันบางจากว่า บริษัทยินดีสนับสนุนนโยบายรัฐในการส่งเสริมการใช้รถอีวีอย่างเต็มที่

โดยมีแผนการขยายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ในปี 2565 อีกมากกว่า 100 แห่ง ซึ่งรวมแล้วในปี 2564-2565 บางจากจะมีสถานีชาร์จมากกว่า 250 แห่ง

สำหรับแผนการขยาย EV Charging Station นี้ไม่เพียงช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐ แต่ยังสอดคล้องกับแนวคิด Greenovative Destination ที่บริษัทมุ่งสู่การเป็นจุดหมายที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต เป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero สร้าง ecosystem รองรับผู้ใช้อีวีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA กล่าวว่า เดลต้าร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันความร่วมมือนี้กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี

เดลต้ามุ่งมั่นจะตอบสนองเป้าหมายของรัฐบาลไทยในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเชื่อว่ามาตรการจูงใจด้านภาษีของรัฐบาลสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นภายใน 2 ปีข้างหน้านี้

เช่นเดียวกับประเทศเยอรมนีที่เคยออกมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจนประสบความสำเร็จ
ทุกวันนี้ประเทศเยอรมนีไม่ได้มีมาตรการจูงใจเหล่านั้นแล้ว แต่ผู้คนก็ยังคงใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อ ส่งผลให้ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนที่สุดในโลก

เช่นเดียวกับ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ที่จะร่วมกับ กฟผ.พัฒนาสถานีชาร์จ EleX ซึ่งคาดว่ามกราคม 2565 จะมีจำนวน 30 จุด เน้นพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น เขาใหญ่ เขาย้อย เมืองกาญจน์ ชลบุรี นครสวรรค์ และอาจจะขยายเพิ่มหาดใหญ่ ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา ตาก เชียงใหม่ ลำพูน

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย และในฐานะนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT กล่าวว่า ปัจจุบันบีเอ็มดับเบิลยูมีสถานีชาร์จ ChargeNow อยู่ 130 หัวจ่าย กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ใน 48 โลเกชั่นและภายในไตรมาสที่ 2 บริษัทร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรอย่าง EA Anywhere ขยายเพิ่มเป็น 600 จุดชาร์จ

จากการสำรวจเมื่อ ส.ค. 2564 พบว่ามี 2,200 หัวจ่ายทั่วประเทศ 660 โลเกชั่น แบ่งเป็น DC quick charge 700 กว่าหัวจ่าย หรือ 300 กว่าตู้ทั่วประเทศ

ตามแผนของคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2025 จะมี DC quick charge 4,400 สถานี ปี 2030 จะมีระดับหนึ่งหมื่นกว่าตู้ เพราะสถานีชาร์จไฟฟ้าถือเป็นตัวสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างดี และเสริม “เป้าหมาย” ของทางภาครัฐมากขึ้น

ตอนนี้สมาคมพยายามผลักดันตรงนี้อยู่ เราทำ MOU เกี่ยวกับ charging consortium มา 2 ปีแล้ว พยายามหารือระหว่างผู้ให้บริการทั้งหมด ทั้ง EA, การไฟฟ้าฯทั้ง 3 และ OR หรืออรุณ พลัส และหน่วยงานต่าง ๆ

โดยสิ่งที่ทำกันอยู่คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการด้วยกัน เราพยายามทำให้ตู้แต่ละตู้คุยกันรู้เรื่อง เหมือนการใช้บัตร “ATM” บัตรเดียวใช้ได้ทุกตู้


ขั้นแรกต้องทำให้ตู้ชาร์จไฟคุยกันรู้เรื่องก่อน และทำระบบการชำระเงินให้สามารถรองรับทุกเครือข่ายคล้าย ๆ “EV roaming” เราหวังว่าอนาคตจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์อีวี