ค่ายรถยนต์-ชิ้นส่วนฯ พลิก 360 องศา รับเทรนด์ “ไฮบริด-อีวี”

รายงานพิเศษ

ยังเป็นประเด็นร้อนแรง ในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์

สำหรับการเปลี่ยนผ่านนวัตกรรมยานยนต์ จากโลกของเครื่องยนต์สันดาปภายใน มาสู่ระบบการขับเคลื่อนด้วยพลังงานลูกผสม ที่มีทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าและก้าวไกล ไปถึงพลังงานไฟฟ้าล้วน ๆ หรือรถอีวี

หลายค่ายรถยนต์ออกมาประกาศความพร้อมของตัวเอง เพราะไม่ยอมตกขบวนเด็ดขาด

จากข้อมูลของสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) แสดงให้เห็นว่ารถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า มีสัดส่วน 1% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกยิ่งทำผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างเชื่อกันว่า รถยนต์ในกลุ่มนี้อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% ในปีอีก 10 ปีข้างหน้า

เมื่อยักษ์ใหญ่ไม่ยอมหลับ

ล่าสุด ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น อย่างโตโยต้า มอเตอร์ ที่พยายามมองไม่ถึงรถยนต์ไฟฟ้า เพ่งสายตาอยู่แค่ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และพลังงานไฮโดรเจน ออกมาแถลงถึงทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจว่า บริษัทมีแผนที่จะยุติการผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเพียงอย่างเดียวราวปี พ.ศ. 2568 จากนั้นโตโยต้าจะผลิตรถยนต์ที่ออกจำหน่ายทั่วโลกทั้งหมด เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ไฮบริด หรือรถยนต์รุ่นดั้งเดิมที่จะมีให้เลือกเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โตโยต้ามีแผนที่จะทำรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 10 รุ่นทั่วโลกในต้นปี 2563 และตั้งเป้ายอดขายไว้สูงถึง 4 เท่า

“ชิเงกิ เทราชิ” รองประธานบริหารโตโยต้า กล่าวว่า โตโยต้าจะเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่อย่างเดียวในจีนเป็นตลาดแรก จากนั้นจะทยอยเปิดตัวในญี่ปุ่น อินเดีย อเมริกา และยุโรป

ที่สำคัญ โตโยต้าเองได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากการประกาศเพิ่มรถยนต์ประเภทนี้เข้าไว้ในสายการผลิต

ล่าสุด โตโยต้า ประกาศจับมือกับพานาโซนิค ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญให้กับค่ายเทสล่า ผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอเมริกา ซึ่งก็ทำให้หลายคนมองว่าโอกาสของรถยนต์ไฟฟ้ามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะราคาขายที่จะทำให้จับต้องได้ง่ายขึ้นจากต้นทุนแบตเตอรี่ที่ต่ำลง

ในขณะที่พานาโซนิคเองก็มีแผนเพิ่มรายได้ในธุรกิจรถยนต์เป็นเกือบ 2 เท่า มาอยู่ที่ 22,050 ล้านดอลลาร์ ภายในปีงบประมาณเดือนมีนาคม 2565 โดยเร่งขยายศักยภาพการผลิตแบตเตอรี่ไปทั่วโลก มีแผนเปิดโรงงานเมืองต้าเหลียนในจีน และเพิ่มไลน์ผลิตที่ญี่ปุ่น

ยุโรปขีดเส้นใต้เลิกใช้น้ำมัน

ปี 2560 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าทิศทางของรถยนต์ไฟฟ้าชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ จากประเทศแถบยุโรปประกาศกรอบระยะเวลาที่จะเลิกขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง โดยใช้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้ค่ายรถยนต์ยุติการผลิตและขาย พร้อมทั้งหันมาส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยมลพิษแทน โดยเยอรมนีประกาศภายในปี 2573 ขณะที่ฝรั่งเศส และอังกฤษ ตั้งเป้าราวปี 2583

ส่วนโซนเอเชียอย่างจีน ที่ถือเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอินเดียเองก็หวังว่า ภายในปี 2573 นั้นจะมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้งานกันเป็นที่แพร่หลาย ประเทศไทยก็มีความมุ่งหวังว่าจะเพิ่มสัดส่วนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริด และรถไฮบริด ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น โดยได้จูงใจผู้ผลิตด้วยการออกแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนให้กับรถยนต์ประเภทนี้

ตั้งเป้าขายรถไฟฟ้า

สิ่งที่ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ถูกถามบ่อยคือ รถยนต์ไฟฟ้าจะทำได้จริงหรือเปล่า จากข้อมูลที่ค่ายรถยนต์ตั้งเป้าขายรถยนต์ไฟฟ้า วอลโว่ระบุชัดว่า ปี 2563 จะขายให้ได้ 1 ล้านคัน, เรโนลต์-นิสสัน 1.5 ล้านคัน ในปี 2563, เทสล่า 1 ล้านคัน ในปี 2563, ฮอนด้า 1 ล้านคัน ในปี 2573 โฟล์คสวาเกน 3 ล้านคันในปี 2568 และแบรนด์จีนทุกแบรนด์รวมกัน 4.52 ล้านคัน ในปี 2563 ถ้าเราพูดถึงการลงทุนที่เยอะขนาดนี้ นั่นหมายถึงการลงทุนของชิ้นส่วนที่มากมายมหาศาล ไม่นับเฉพาะค่ายรถยนต์ แต่เราพูดถึงซัพพลายเชนทั้งระบบ พูดถึงกำลังคน มันสมอง เทคโนโลยี

เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนลงทุนมากมายขนาดนี้ รถยนต์ไฟฟ้าไม่มาไม่ได้แล้ว ส่วนบ้านเราเท่าที่ดูจากนโยบายของรัฐบาล และค่ายรถยนต์ต่าง ๆ มั่นใจได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้ามาแน่

ดังนั้นคาดการณ์ตัวเลขยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2583 ทั่วโลกจะมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าถึง 65 ล้านคันทั่วโลก ถือเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญมาก เนื่องจากยอดขายรถยนต์ทุกประเภทปัจจุบันมี 90 ล้านคัน แปลว่าใน 20 ปีข้างหน้า ยอดตรงนี้จะเพิ่มขึ้นเกือบจะ 100% เป็น 60 ล้านคัน และ 90 ล้านคันจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า นั่นแปลว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมาแน่นอน

ซัพพลายโลกยานยนต์เปลี่ยน

เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามา ผลกระทบที่จะตามมาก็คือ ผู้ร่วมวงการอาจจะต้องล้มหายตายจาก เพราะชิ้นส่วนที่ใช้กับรถยนต์จะน้อยลง หลัก ๆ คือ เครื่องยนต์ ท่อไอเสีย คาร์บูเรเตอร์ หัวฉีด ฯลฯ หรือไม่บางรายอาจจะต้องปรับตัว โดยหันไปผลิตให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ทดแทน หรือพลิกตัวไปสู่ชิ้นส่วนยานยนต์อื่น ๆ ชดเชย เช่น สายไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า

โลกอาจจะมีผู้ร่วมวงการรายใหม่ ๆ ซึ่งเป็นคนสำคัญในซัพพลายเชนมากขึ้นด้วย อีกส่วนที่ต้องคำนึงคือ น้ำหนักของตัวรถ ทุกค่ายพยายามพัฒนาทำให้มีน้ำหนักเบามากที่สุด เพราะถ้าตัวถังเบาลงจะทำให้ระยะทางวิ่งต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งไปได้ไกลที่สุด ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนการผลิตบางส่วน รวมถึงระบบซัพพลายเชนด้วยวัตถุดิบใหม่ ผู้ที่จะอยู่รอดในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้นั้นจะต้องปรับตัว

อย่าลืมว่าหัวใจที่ทำให้รถขับเคลื่อนได้จะเป็นซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์จะมีความสำคัญที่สุด เราคงได้เห็นความร่วมมือระหว่างค่ายรถยนต์และบริษัทซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้น และจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา

 

ทำความรู้จักกับ ประเภท “รถยนต์”

ประเภทรถที่มีในปัจจุบัน คือ 1.กลุ่มรถที่พึ่งพาเครื่องยนต์เป็นหลัก หรือเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ (Internal Combustion Engine : ICE)

2.เครื่องยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles : HEV) หรือรถที่มีทั้งเครื่องยนต์และแบตเตอรี่อยู่ในคันเดียว และสลับการใช้งาน

3.ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicles : PHEV) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่เหมือนกับรถยนต์ไฮบริด เพียงแต่ว่ามีสายสำหรับการชาร์จไฟ

4.รถไฟฟ้า (Battery Electric Vehicles : BEV) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ไม่มีเครื่องยนต์แล้ว และรถยนต์เทสล่าทุกรุ่นก็อยู่ในกลุ่มนี้ นิสสัน ลีฟ ก็คือรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในโลกสำหรับรถยนต์กลุ่มนี้ และมิตซูบิชิ ไอ-มีฟ ก็อยู่ในกลุ่มนี้

5.รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนในการขับเคลื่อน หรือ Fuel Cell Electric Vehicles : FCEV ซึ่งค่ายรถยนต์ที่สนใจจะเป็นเฉพาะค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น คือ โตโยต้า และฮอนด้า