ปิดสนามทดสอบ KENBUCHI ตะลุยหิมะ…ไปกับฝูง “มาสด้า”

คอลัมน์ เทสต์ คาร์ โดย วุฒิณี ทับทอง

อุณหภูมิบ้านเราช่วงเดือนเมษายนที่กำลังจะก้าวผ่านอีกไม่กี่วัน ต้องบอกว่า “ร้อน” ปรอทแถบแตก ทำให้ต้องนึกย้อนกลับไปภาพจำของการทดสอบรถยนต์ “มาสด้า” บนสภาพภูมิประเทศ ทางตอนเหนือสุดของเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ท่ามกลางหิมะที่มีอุณหภูมิติดลบ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ที่นั่น ทีมมาสด้า คอร์ปอเรชั่น และทีมมาสด้า อาเซียน จัดทริปทดสอบครั้งใหญ่ หวังให้สื่อมวลชนจากทั่วทุกประเทศในอาเซียนได้สัมผัสประสบการณ์อันท้าทาย และแตกต่างอีกหนึ่งรูปแบบกับรถยนต์มาสด้า

การตัดสินใจปิดสนามทดสอบ 1 ใน 4 แห่งของมาสด้า ในประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ ทำให้ได้สัมผัสกับอีกหนึ่งสุดยอดประสบการณ์การขับขี่ที่เกินคาดหมาย

KENBUCHI Provivg Ground สนามทดสอบรถยนต์ของมาสด้าแห่งนี้ ปีหนึ่งจะเปิดทำการเพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น และเลือกเปิดเฉพาะในช่วงเวลาที่เย็นยะเยือกเท่านั้น

สำหรับการทดสอบครั้งนี้ ทีมวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญได้มาแนะนำตัวสนาม และสภาพเส้นทางที่จะต้องเผชิญ สนามแห่งนี้อย่างที่บอก ใน 1 ปีจะเปิดใช้ทดสอบรถยนต์มาสด้า ในสภาพภูมิประเทศที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ

สภาพพื้นผิวของเส้นทางค่อนข้างลื่น มองจากภาพจะเห็นขาวโพลนไปด้วยหิมะ อุณหภูมิไม่ต้องพูดถึง ติดลบจ้า รถยนต์มาสด้าเกือบทุกโมเดลที่วางขายทั่วโลกจะต้องผ่านการทดสอบจากสนามแห่งนี้

เพื่อให้มั่นใจได้ว่า รถมาสด้าที่ส่งถึงมือลูกค้า ไม่ว่าจะนำไปใช้ในสภาพภูมิประเทศ หรือภูมิอากาศแบบใด จะร้อนสุดขีด หรือหนาวสุดขั้ว จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเด็ดขาด สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เกินกว่าที่ลูกค้าคาดหมาย และยังต้องทำหน้าที่ในการส่งผ่านความสุขและความสนุกให้กับลูกค้าทุกรายได้อย่างมั่นใจ

สนาม Kenbuchi แบ่งได้เป็น 12 สนาม และ 12 รูปแบบ รวมระยะทางทั้งสิ้น 12 กิโลเมตร ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการควบคุมทิศทาง การทรงตัวของรถ การตอบสนองของช่วงล่าง สมรรถนะการขับขี่บนสภาพผิวที่ลื่น

แต่การทดสอบครั้งนี้ มาสด้าได้เซตไว้ให้เรา ได้ทดสอบกัน 4 สนาม 4 รูปแบบ พร้อมรถ 4 รุ่น ได้แก่ ซีเอ็กซ์-3 โฉมปัจจุบัน รวมทั้งโฉมใหม่ที่กำลังจะคลอดบ้านเราเร็ว ๆ นี้ รวมทั้ง ซีเอ็กซ์-5, ซีเอ็กซ์-8 และมาสด้า 3

การทดสอบในสถานีแรกนั้น เป็นการขับเปรียบเทียบระหว่างรถรุ่นที่มีเทคโนโลยี i-ATIV AWD เทคโนโลยีล่าสุด ด้วยการทำงานของระบบที่จะถ่ายกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังล้อต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์

ถ้าผิวทางลื่นหรือมีหลุมบ่อระบบจะคำนวณแล้วส่งกำลังไปที่ล้อแบบ 50 ต่อ 50 เพื่อช่วยให้รถมีความมั่นคง แต่หากขับอยู่บนสภาพพื้นผิวที่ปกติ กำลังจะอยู่ที่ล้อหน้าแค่ 1% เท่านั้น ทีมวิศวกรแจ้งว่า ระบบทำงานด้วยเซ็นเซอร์ ถึง 27 จุดรอบคัน และนำไปประมวลผล 200 ครั้งต่อวินาที มั่นใจได้เลย ไม่ว่าจะขับขี่บนสภาพพื้นผิวแบบใด จะได้รับการตอบสนองที่มั่นคง และปลอดภัย

เริ่มที่สถานีแรก “ประชาชาติธุรกิจ” รับโอกาสเป็นผู้โดยสาร มาสด้า CX-5 รุ่นที่มีระบบ i-ATIV AWD และไม่มีระบบ

โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ขับให้ เริ่มกันที่รุ่นธรรมดา วิ่งเข้าไประหว่างกำแพงหิมะ ด้วยความเร็วเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสังเกตอาการของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ด้านหลังพวงมาลัยนั้น ต้องออกแรงประคองพวงมาลัยไว้พอสมควร

บางจังหวะมีอาการท้ายดิ้น พอให้จับได้ ถ้าสังเกตดี ๆ ก่อนที่จะสลับไปนั่งคันที่ติดตั้งระบบ i-ATIV AWD ตำแหน่งยังเป็นผู้โดยสาร แต่ครั้งนี้ ดูเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมพวงมาลัยผ่อนคลายขึ้นมาก แถมควบคุมรถได้ง่ายขึ้น มีบางจังหวะกดแป้นเพิ่มความเร็วเพิ่มขึ้นได้อย่างมั่นใจ

เข้าสู่สถานีต่อไป ใช้รถมาสด้า CX-3 รุ่นที่ทำตลาดอยู่ปัจจุบัน เปรียบเทียบรุ่นปรับปรุงใหม่ รุ่นปัจจุบันนั้นพอรู้มือกันอยู่บ้าง ค่อย ๆ ควบคุมรถให้ซิ่ง ผ่านสภาพพื้นผิวแทร็กที่ขาวโพลนและลื่นไถลได้อย่างไม่ยากนัก

ก่อนที่จะกระโดดมาขับ ซีเอ็กซ์-3 โฉมใหม่ ตัวนี้ปรับปรุงหลาย ๆ จุด แต่ครั้งนี้ทีมงานกำชับหนักแน่น ห้ามถ่ายภาพหรือนำเสนอข้อมูล บอกได้คำเดียวว่า เนียนกว่ารุ่นปัจจุบันเป็นกอง โดยเฉพาะช่วงล่าง หนึบหนับจับใจเลยทีเดียว

มาถึงตัวสุดท้าย มาสด้า ซีเอ็กซ์-8 รถเอสยูวีขนาด 7 ที่นั่ง รูปร่างหน้าตาไม่ต่างจากรุ่นน้อง ซีเอ็กซ์-5 มากนักเพียงแค่จับยืดขนาดตัว และเพิ่มที่นั่งเต็ม 3 แถว การทดสอบเป็นการขับไปบนทางปกคลุมด้วยหิมะ ประมาณ 3 กิโลเมตร

ความเร็วที่คิดว่าปลอดภัยกับเส้นทางที่ลื่นแบบนี้ แต่รถคันนี้ควบคุมได้ง่าย สบายมือ ช่วงล่างไว้ใจได้ ถ้ามาทำตลาดบ้านเราได้ตามแผน รับรองยอดขายฉลุย

ก่อนที่เข้าสู่สถานีสุดท้าย การขับแบบ “จิมคาน่า” กับรถมาสด้า3 ติดตั้งระบบ i-ATIV AWD แน่นอนว่าสภาพพื้นผิวแบบนี้ บวกกับการขับขี่แบบจิมคาน่า แค่ออกตัวล้อก็ฟรีแล้ว เพราะความลื่นของพื้นผิว ต้องใช้เวลาและอาศัยจับจังหวะเพื่อรถออกตัวในหิมะให้ได้ การควบคุมพวงมาลัยอาจต้องออกแรง และตั้งสติพอสมควร เพราะสภาพพื้นผิวค่อนข้างลื่น

รอบแรกเป็นการวอร์ม ทั้งคนและรถ รอบที่ 2-3 เป็นการขับขี่จริง ระหว่างรอคิวที่สถานีจิมคาน่า ทีมงานให้ลองนั่งรถมาสด้า 3 ที่ทีมงานขับให้ เป็นการขับแบบปิดโหมด DSC : dynamic stability control ระบบช่วยควบคุมเสถียรภาพ และการทรงตัวของรถบนลานกว้าง ๆ เปรียบเทียบกับการขับขี่แบบเปิดระบบ

ต้องบอกเลยว่า เจ้า DSC ช่วยเรื่องการควบคุมรถให้ง่ายขึ้น อย่างเห็นได้ชัดเจน ถึงบรรทัดนี้… บอกได้คำเดียวว่า ประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกันในวันนี้ เพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่ง

ที่ทีมงานมาสด้าตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก่อนส่งผ่านความสุขมาถึงมือลูกค้ามาสด้าทั่วโลก