เอ็มจี เเซดเอส อีวี คุ้มค่าแค่ไหน (แล้ว) ทำไมจะไม่เลือก

คอลัมน์ เทสต์ คาร์ โดย วุฒิณี ทับทอง

ถือเป็นอีกหนึ่งความซักเซสที่น่าสนใจ สำหรับค่ายเอ็มจีหลังจากตัดสินใจเดินเกมเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในบ้านเราด้วยการส่งรถครอสโอเวอร์อย่าง เอ็มจี เเซดเอส อีวี

เพียงระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน กวาดยอดขายทะลุทะลวงเป้าหมายจากเดิมที่ “พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจีเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า..เดิมตั้งเป้ายอดขายในทั้งปี ไว้ที่ 1,000 คัน
แต่ปรากฏว่า ยอดจองวันนี้วิ่งไปเเตะระดับ 1,600 คัน ไปแล้ว มีรถส่งมอบถึงมือลูกค้าไปแล้วกว่า 600 คัน

อะไรทำให้รถคันนี้ได้รับการตอบรับจากลูกค้า ชนิดที่เรียกว่า “เกินความคาดหมาย” ไม่รอช้า… เอ็มจีจัดทริปทดสอบ โดยเลือกใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-กรุงเทพฯ ระยะทางวิ่งไป-กลับไม่เกิน 400 กิโลเมตร เรียกว่าขับไปเช้า แวะชาร์จพลังงานไฟฟ้า แล้วขับกลับกรุงเทพฯได้แบบสบาย ๆ

ออกสตาร์ตจากสนามทดสอบ MG Driving Experience Centre บนถนนศรีนครินทร์ หลังจากนัดแนะเส้นทาง ทีมงานเปิดสนามให้ทดสอบความคล่องตัวของเจ้าแซดเอส อีวี คันนี้ด้วยการขับแบบสลาลอม และอัตราเร่งในช่วงทางตรง ว่ารถไฟฟ้าคันนี้ทำออกมาได้ค่อนข้างดี การทำงานของ “มอเตอร์ไฟฟ้า” พร้อมตอบสนอง ไม่ต้องรอรอบ กดปุ๊บเรียกว่ามาได้ทันใจ

ลองเรียกความมั่นใจของระบบช่วงล่างกันหน่อย ผลทดสอบมีความรู้สึกว่ารถค่อนข้างเบาไปเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับน่าเกลียด ซึ่งถือเป็นอาการปกติของรถยนต์ประเภทนี้

นอกจากนี้ ยังได้ทดลองระบบหน่วงตัวรถ ซึ่งนอกจากช่วยชะลอความเร็วแล้ว ยังสามารถนำพลังงานจากแรงเฉื่อยมาแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าไปเก็บในแบตเตอรี่ได้อีกด้วย ซึ่งเราสามารถตั้งระดับความหน่วงได้ 3 ระดับก่อนออกไปวิ่งจริง ใช้งานจริงจากศรีนครินทร์ เพื่อเบนหัวออกมอเตอร์เวย์ สำรวจตรวจตรา เอ็มจี แซดเอส อีวี คันนี้ แทบไม่ได้เเตกต่างจาก เอ็มจี เเซดเอส รุ่นเครื่องยนต์ปกติ มีจุดที่แตกต่างภายนอก คือ ล้ออัลลอยลายพิเศษ กระจังหน้า และโลโก้ด้านหลัง

อีกจุดที่เอ็มจี ไทยเเลนด์ ต้องการสร้างความเเตกต่างอย่างสิ้นเชิง คือ สีของตัวรถ เเซดเอส อีวี ซึ่งนำเข้ามาทำตลาดเพียงสีเดียว คือ สีฟ้า “โคโปเฮเก้นบลู” ที่ต้องการสื่อ และตอกย้ำถึงความเป็นรถยนต์ “รักษ์โลก” ต่างจากเเซดเอส อีวี ที่ก่อนหน้านี้

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้ไปทดสอบยังยานเเม่ สำนักงานใหญ่ของเอ็มจี เเซคมอเตอร์ ที่เซียงไฮ้ ซึ่งจะมีความหลากหลายของสีให้เลือกมากกว่า

ในตำแหน่งที่นั่งหลังพวงมาลัย ปรับเบาะอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เหมาะสม ได้เวลาเดินทางกว่าจะผ่านย่านจราจรอันหนาเเน่นบนถนนศรีนครินทร์ออกมาได้ เรียกว่าใช้เวลา และต้องชิงจังหวะพอสมควร บางช่วงต้องกระชากขึ้นขวา มุดลงซ้าย ซึ่งรถคันนี้ถือว่าให้ความคล่องตัวดี พวงมาลัยสั่งการได้อย่างใจ อาการโยนของตัวรถถือว่า นิ่งและนุ่ม มาจากการเซตช่วงล่างที่ดี เมื่อเทียบกับแซดเอสรุ่นเครื่องยนต์ถือว่า ดีกว่าเห็น ๆ

เมื่อออกสู่นอกเมือง มีจังหวะกดแป้นคันเร่งเรียกความเร็ว ไม่ต้องรอรอบ มอเตอร์ไฟฟ้าตอบสนองอัตราเร่งวิ่งขึ้นตามแรงกดของปลายเท้า สู่จุดหมายปลายทางที่ 7-Eleven ธาราพัทยา เพื่อเป็นจุดแวะพักรถเเละเติมพลังชาร์จไฟฟ้า ซึ่งมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าของทาง EA ไว้ค่อยให้บริการ ในบริเวณของ 7-Eleven เรียกว่าจุดนี้ใครขับรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือรถอีวี ไปพัทยา สามารถเเวะเข้าไปใช้บริการได้

แซดเอส อีวี มีโหมดการขับขี่ให้เลือกใช้ 3 โหมด ใครชอบความแรง ช่วงล่างแน่น ๆ มีโหมดสปอร์ตให้เลือก แต่ต้องเตรียมใจ เพราะหากเลือกขับขี่ในโหมดนี้ต้องยอมรับสภาพว่า พลังงานไฟฟ้าในเเบตเตอรี่อาจจะหมดไปเร็วกว่าการใช้งานในโหมดอีโค และโหมดนอร์มอล

โดยส่วนตัวเเล้วขอขับในโหมดนอร์มอลก็เพียงพอ ทั้งจังหวะของการออกตัว วิ่งบนย่านความเร็วตามกฎหมายกำหนด ไปได้เหลือเฟือกับขุมกำลัง 150 แรงม้า บางจังหวะทางด้านหน้าโล่ง กดแป้นความเร็วขึ้นไปไม่ถึงอึดใจที่ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สบาย ๆ

ส่วนใครที่ยังกังวลเรื่องของขุมกำลังกระเเสไฟฟ้าที่จะนำมาใช้หล่อเลี้ยงระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในห้องโดยสาร ทั้งแอร์คอนดิชั่น เครื่องเสียง ระบบไฟฟ้า ทีมงานเอ็มจีชี้แจงว่าหายห่วง

เพราะรถคันนี้ใช้เเบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ แยกต่างหากเพื่อหล่อเลี้ยงระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ต้องมาดึงกำลังจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งใช้ในการขับเคลื่อนตัวรถแต่อย่างใด นอกเสียจากกรณีแบตเตอรี่ 12 โวลต์ จะอ่อนพลังงานถึงจะดึงไฟฟ้าจากแบตขับเคลื่อนไปป้อน

เมื่อนั่งคำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อการเดินทางต่อการชาร์จพลังงานเต็ม 100% อยู่ที่ประมาณ 150-200 บาท ส่วนค่าดูแลบำรุงรักษาที่ 100,000 กม. ใช้เงินอยู่ที่ 8,545 บาทเท่านั้น

ถึงบรรทัดนี้ต้องบอกว่า เอ็มจี เเซดเอส ถือเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่น่าสนใจ และยังสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ยิ่งคุณมีเส้นทางการขับขี่ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะใช้งานในเมือง นอกเมือง ถือว่าสะดวกสบายพอสมควร ยิ่งถ้ามีสถานีชาร์จไฟในเส้นทางแล้ว บอกเลยว่ารถคันนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ยิ่งทีมงานเคลมว่าการชาร์จไฟ 1 ครั้งรถคันนี้จะวิ่งได้ 330 กิโลเมตร หากใช้ควิกชาร์จ ที่มีข้อดีคือใช้เวลาน้อย เพียงแค่ประมาณครึ่งชั่วโมงจากแบตเตอรี่ 0% ก็ได้ประจุไฟฟ้าเข้าไปในแบตเตอรี่ 80% กับราคาค่าตัวที่ 1.19 ล้านบาท ถามว่าคุ้มค่าไหม ลองถามใจคุณดู