“ฮอนด้า ซิตี้ แฮตช์แบ็ก” ขับชิวลงตัวแบบอเนกประสงค์

เทสต์คาร์
วุฒิณี ทับทอง

มาตามสัญญา…เมื่อโอกาสเหมาะ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้นำ ฮอนด้า ซิตี้ แฮตช์แบ็ก รถยนต์นั่ง 5 ประตู หนึ่งในตระกูล “เดอะ ซิตี้ ซีรีส์” มาบอกเล่าประสบการณ์การขับขี่

หากนึกย้อนกลับไปเมื่อครั้งฮอนด้าทำตลาดซีวิค รุ่น 3 ประตู รถแฮตช์แบ็กตัวแรกของฮอนด้า ต้องยอมรับว่าร้อนแรงมาก และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

ดังนั้น การที่ฮอนด้าตัดสินใจคลอด ซิตี้ แฮตช์แบ็กครั้งนี้ แน่นอนลูกค้าส่วนใหญ่จึงคาดหวังว่ารถยนต์ที่เฝ้ารอจะตอบโจทย์ตรงกับจริตกับตัวเอง

แต่โดยส่วนตัวแล้วยังไม่ถึงกับจี๊ดที่ใจ…นัก แต่ก็รับได้

รุ่นที่รับมาทดสอบครั้งนี้เป็นแฮตช์แบ็ก RS สีใหม่ สีเทาเมทิเออรอยด์ (เมทัลลิก) ตัวนี้ใส่ชุดแต่งมาครบ ตั้งแต่กระจังหน้าแบบ gloss black และสัญลักษณ์ RS กันชนหน้าและกันชนหลังสไตล์สปอร์ต ไฟหน้าแบบ LED

พร้อมไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED ไฟท้ายแบบ LED และไฟตัดหมอกแบบ LED กระจกมองข้างสีดำแบบสปอร์ต ปรับและพับไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยวในตัว

สปอยเลอร์หลังตกแต่งสีดำแบบสปอร์ต ล้ออัลลอยดีไซน์สปอร์ต ขนาด 16 นิ้ว ที่ขับไปทางไหนก็มีทุกสายตาจับจ้อง

ส่วนภายในห้องโดยสารนั้น ฮอนด้าเพิ่มความสปอร์ตอีกขั้นด้วยเบาะนั่งหนังกลับดีไซน์ใหม่ตกแต่งด้วยแถบสีแดง

อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสารครบครัน ทั้งระบบความบันเทิง และระบบเชื่อมต่อ หน้าจอ 8 นิ้ว แบบ advanced touch รับกับแอปเปิล คาร์เพลย์ และระบบสั่งการด้วยเสียง SIRI ช่องจ่ายไฟแบบ USB 1 ช่องด้านหน้า และแบบที่จุดบุหรี่ 2 ช่องสำหรับผู้โดยสารแถวหลัง

เบาะนั่งหลังปรับพับเรียบได้ถึง 4 รูปแบบ คือ Utility Mode : เบาะด้านหลังทั้ง 2 ด้านปรับพับเรียบ เพิ่มพื้นที่เก็บของด้านหลัง, long mode : เบาะด้านหน้าและด้านหลังปรับพับ เพิ่มพื้นที่เก็บของในแนวยาว, tall mode : เบาะด้านหลังพับขึ้น เพิ่มพื้นที่เก็บของในแนวสูง, refresh mode : เบาะด้านหน้าพับเชื่อมต่อกับเบาะด้านหลังสร้างพื้นที่ผ่อนคลายสะดวกสบายสูงสุด เรียกว่าสามารถตอบรับกับหลากหลายรูปแบบการใช้งาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของฮอนด้า

ฮอนด้ายังเพิ่มออปชั่นพิเศษสำหรับรุ่น RS คือ เทคโนโลยีเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างผู้ขับขี่และรถยนต์ผ่านแอปพลิเคชั่น Honda CONNECT ที่ช่วยแสดงข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งพฤติกรรมการขับขี่ สถานะต่าง ๆ เมื่อเกิดความผิดปกติของรถยนต์ และยังสามารถที่จะสั่งสตาร์ตพร้อมเปิดแอร์ เปิดไฟหน้า ได้จากสมาร์ทโฟนด้วย

แถมยังเพิ่มฟังก์ชั่นแอปพลิเคชั่น Find My Car ช่วยให้สามารถตรวจสอบพิกัดบนแผนที่ล่าสุด เพื่อให้รับทราบว่าขณะนั้นรถยนต์อยู่ที่ใด ช่วยเพิ่มความสบายใจได้ในการติดตามรถหากเกิดการถูกโจรกรรม

สำหรับเส้นทางทดสอบวันนี้ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ จ.ลพบุรี ขับกันยาว ๆ ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

เครื่องยนต์ 3 สูบ 1 ลิตร เทอร์โบ ทำงานได้อย่างราบรื่น วิ่งความเร็วเฉลี่ย 110-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเสียงของเครื่องยนต์เล็ดลอดเข้ามาภายในห้องโดยสารบ้าง แต่พอรับได้

การยึดเกาะถนน และการทรงตัวของรถซิตี้ แฮตช์แบ็ก ถือว่าดีพอสมควร

ยิ่งจังหวะของการเข้าโค้ง พวงมาลัยควบคุมได้ง่าย เบามือและแม่นยำ แต่หากจะเข้าโค้งด้วยความเร็วอาจต้องเติมความกระชับไปที่น้ำหนักมือในการจับพวงมาลัย เพิ่มความมั่นใจกันอีกหน่อย ไม่กระชับดุดันเหมือนรุ่นซีดาน

ตามลักษณะความเข้าใจแล้ว รุ่นแฮตช์แบ็กน่าจะมีความกระชับดุดันกว่า แต่จากการทดสอบไม่ใช่ กลายเป็นรถคันนี้ไปเน้นที่ความอเนกประสงค์ ให้คนขับและผู้โดยสารสบาย ๆ สไตล์รถครอบครัวมากกว่า

บางจังหวะของการกระชากความเร็วเพื่อเร่งแซงนั้น อาจจะต้องใช้เวลารอแรงฮึดเล็กน้อย รอให้เครื่องยนต์รีดกำลังออกมากขึ้น

แต่โดยรวมหากจะใช้รถคันนี้ในแบบการขับขี่ในชีวิตประจำวันที่ไม่ต้องเค้นพลังแบบเอาเป็นเอาตาย ก็ถือได้ว่าขับสนุก ไปได้เรื่อย ๆ สามารถเค้นความเร็วขึ้นไประดับ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ถึงตรงนี้หากใครที่กำลังมองหารถในตระกูล “เดอะ ซิตี้ ซีรีส์” ฮอนด้าได้พัฒนารถออกมาได้มีบุคลิกที่ชัดเจน ชอบแบบไหนลองสัมผัสดู

ส่วนราคาค่าตัวฮอนด้า ซิตี้ แฮตช์แบ็ก รุ่น RS คันนี้อยู่ที่ 749,000 บาท