สี กับ ฤษี

สี เจิ้นผิง-ริชี ซูแน็ก
สี เจิ้นผิง-ริชี ซูแน็ก
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ผู้นำสองประเทศที่รับตำแหน่งพร้อม ๆ กัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ สี จิ้นผิง แห่งจีน และ ริชี ซูแน็ก แห่งสหราชอาณาจักร เส้นทางของทั้งสองมีสีสันและสถิติที่น่าสนใจ ทั้งมีมุมเปรียบเทียบได้ในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงความเป็นประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์

สี จิ้นผิง วัย 69 ปี อยู่ในตำแหน่งเดิม คือเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีสมัยสาม ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างที่ใคร ๆ เห็น และวิจารณ์คืออำนาจ ที่มีผู้สนับสนุนและผู้ภักดีอยู่รายล้อมในกลุ่มผู้บริหารสูงสุด หรือคณะโปลิตบูโรถาวร

ส่วน ริชี ซูแน็ก วัยเพียง 42 ปี รับตำแหน่งใหม่พร้อมกัน คือหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม หรือคอนเซอร์เวทีฟ และเป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร คนแรกที่มีเชื้อสายอินเดีย คนแรกที่นับถือศาสนาฮินดู และเป็นนายกฯที่อายุน้อยที่สุดในรอบสองร้อยปี

ความที่เป็นคนอินเดียและฮินดู ชื่อของริชี ซูแน็ก จึงเป็นที่พูดถึงมากเช่นกันในด้านความหมายของภาษาที่เชื่อมโยงถึงคนไทย ซึ่งนักภาษาศาสตร์ระบุว่า หากดูตามภาษาสันสกฤตแล้ว ชื่อของนายกฯอังกฤษคนใหม่ Rishi ตรงกับคำว่า ฤษี ภาษาบาลีคือ อิสิ หมายถึงผู้แสวงหาคุณธรรม

ส่วนนามสกุล Sunak สุนัค แปลได้ทั้ง ปราชญ์ และผู้รับฟัง แต่การออกเสียง สุนัค สำหรับคนไทยออกจะไม่เหมาะ การที่ราชบัณฑิตฯ แนะนำให้เขียนว่า ซูแน็ก น่าจะเป็นทางออกที่สบายใจ

เรื่องที่เหมือนกันระหว่างสี จิ้นผิง กับริชี ซูแน็ก คือได้รับเลือกจากสมาชิกภายในพรรค เพียงแต่พรรคคอมมิวนิสต์ใหญ่โตมากด้วยสมาชิกทั่วดินแดน และมีการปกครองที่แตกต่างกับระบอบประชาธิปไตย

การที่สีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และการทิ้งตำแหน่งก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

สี จิ้นผิง เป็นลูกของ สี จงซุน หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์และอดีตรองนายกรัฐมนตรี จึงมีภูมิหลังที่คนเรียกว่า “นายน้อย” หมายถึงลูกเจ้าหน้าที่ระดับสูง

แต่เมื่อการเมืองพลิกผัน พ่อเพลี่ยงพล้ำจนหลุดจากวงจร นายน้อยสี ในวัย 15 ปี จึงต้องออกจากกรุงปักกิ่งไปอยู่ชนบท ถูกใช้แรงงานอย่างหนัก แต่กลับซึมซับการเรียนรู้นี้ จนเมื่อเข้าร่วมพรรคได้แล้วจึงไต่เต้าและมีความก้าวหน้า กระทั่งมาจ่อถึงตำแหน่งสำคัญระดับ “นายใหญ่”

เมื่อสีได้เป็นประธานาธิบดีต่อจาก หู จิ่นเทา เมื่อปี 2555 จึงสะสางเรื่องที่มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ของพรรคและการบริหารประเทศ คือการกวาดล้างทุจริต เล่นงานตั้งแต่ระดับแมลงวันไปจนถึงหัวเสือ นอกจากนี้ยังจัดการกับธุรกิจที่เห็นว่า ล้ำเส้น สังคมนิยมเกินงาม

ผลงานของนายสีเหล่านี้น่าจะเป็นที่ส่งเสริมและเชิดชูมากกว่าใคร ๆ ถ้าหยุดไว้ที่การดำรงตำแหน่งสองสมัย หรือ 10 ปี แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้เป็นผู้นำชั่วนิรันดร์ได้ เพื่อจะสานต่อผลงานให้เกรียงไกรต่อไป จึงทำให้เกิดคำถามว่า “จะดีหรือ”

ยิ่งมีฉากที่อดีตผู้นำหูจิ่นเทาถูกนำตัวออกจากห้องประชุมสมัชชาจนเป็นที่อื้ออึง แม้อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับนายสี แต่ก็ทำให้คำถามนี้เป็นที่คาใจยิ่งขึ้น

เมื่อหันไปดูนายซูแน็ก ผู้เป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวย และเติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นที่ยอมรับและได้รับโอกาสในพรรคอนุรักษนิยม ทั้งที่ไม่ใช่อังกฤษแท้ หรืออังกฤษจ๋า ทำให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตย ช่วยทำให้สังคมค่อย ๆ เปิดกว้างขึ้น และการตัดสินใจคล่องตัวขึ้น

เห็นได้จากกรณี บอริส จอห์นสัน และลิซ ทรัสส์ อดีตสองนายกฯที่พ้นจากตำแหน่งแบบไม่ต้องดิ้นรนมาก พอเกิดเรื่องที่บ่งบอกว่าคุณจะเป็นผู้นำต่อไปไม่ได้ หรือเป็นได้ไม่ดี ทั้งสองก็ยอมไปด้วยดี

คุณซูแน็กก็อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันว่า หากทำงานไม่เข้าตาประชาชน อยู่แล้วเป็นอุปสรรคมากกว่าก็ต้องไปเช่นกัน

เมื่อเทียบกันแล้ว น่าสนใจว่าคนไทยส่วนใหญ่คิดว่าแบบสี หรือฤษี ดีกว่ากัน