งานใหญ่ ๆ ท้ายปี

APEC
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

พฤศจิกายนเป็นช่วงท้ายปีที่งานใหญ่ต่าง ๆ จะเลือกจัดงานในเดือนนี้ เพื่อไม่ให้ไปวุ่นมากในเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปีที่ใคร ๆ ก็อยากเคลียร์งานให้จบและเข้าสู่ช่วงเวลาพักผ่อนและสังสรรค์

อย่างประชาชาติธุรกิจเองจัดเวทีวิเคราะห์เศรษฐกิจพร้อมการรับมือปีหน้า 2023 The Great Remake ไปเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ซึ่งเป็นจังหวะที่ได้รับฟีดแบ็กว่า กำลังดี ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไป ส่วนเนื้อหาในงานเข้มข้นอย่างไรติดตามได้ในพื้นที่ข่าวฉบับนี้

สำหรับงานใหญ่ ๆ ท้ายปีที่ทยอยต่อคิวมาเรื่อย ๆ ได้แก่ งานลอยกระทง วันที่ 8 พ.ย. น่าจะได้ลอยกันแบบสบายใจขึ้นกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ต่อด้วยงานประชุมผู้นำระดับโลกเวทีเอเปค ไทยเป็นเจ้าภาพในกรุงเทพฯ วันที่ 18-19 พ.ย. และตามมาติด ๆ คือ มหกรรมหยุดโลก ฟีฟ่าเวิลด์คัพ หรือฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ เริ่ม 21 พ.ย.

งานใหญ่ทั้ง 3 งานมีจุดร่วมให้ติดตามตรงที่เป็นการจัดการของรัฐบาล การจัดการนี้สำคัญมาก เพราะไม่เพียงกำหนดความสำเร็จของรัฐบาล ยังช่วยกำหนดความสุขและความปลอดภัยของประชาชนในช่วงหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายด้วย

ช่วงเวลาหลังโควิดค่อย ๆ ผ่านพ้นหรือลดแรงกดดันต่อชีวิตคน น่าจะเป็นช่วงที่ประชาชนจะได้ใช้ชีวิตอย่างสบายใจขึ้น มีความสุขมากขึ้น แต่ปรากฏว่า ประเทศร่วมภูมิภาคเอเชียของเราเพิ่งเกิดโศกนาฏกรรมติด ๆ กัน 3 เหตุการณ์ใหญ่

ภายในเวลาเพียงเดือนเดียว มีผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 400 ราย จากเหตุเบียดเสียบานปลายจากแฟนบอลจลาจลในสนามฟุตบอลอินโดนีเซีย ต่อด้วยเหตุการณ์เบียดเสียดสะเทือนขวัญ ย่านอิแทวอนช่วงเทศกาลฮัลโลวีน และเหตุสะพานข้ามแม่น้ำถล่มช่วงเทศกาลของชาวฮินดูในอินเดีย

ทั้ง 3 เหตุการณ์เต็มไปด้วยฝูงชนที่กลับไปหนาแน่นเป็นพิเศษหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และมีสาเหตุหลักมาจากการจัดการที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งละเลย ประมาท และประเมินผิด

ด้วยตัวอย่างและบทเรียนสด ๆ ร้อน ๆ เหล่านี้ ทำให้ทางการไทยตื่นตัวพอสมควร อย่างงานลอยกระทง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น รวมถึง กทม. ต่างตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่ ระบบการขนส่ง และอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย

หลังการประเมินว่า เทศกาลนี้จะมีประชาชนเข้าร่วมมากขึ้น อย่างน้อยคือมีการจัดงานทุกจังหวัดและจัดเต็มรูปแบบ เพียงแต่การเฉลิมฉลองอาจไม่ได้มีคนหนาแน่นเบียดเสียดหรือสุดเหวี่ยงเกินไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ผลักดันให้เป็นเช่นนั้น

ส่วนงานเอเปค แม้ประชาชนทั่วไปอาจไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงมากนัก แต่ย่อมทราบดีว่างานนี้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ และน่าจะมีผลต่อการผลักดันการท่องเที่ยวมาก ในฐานะเจ้าภาพที่มีชื่อเสียงในเรื่องต้อนรับขับสู้

ปัจจัยที่เพิ่มความเครียดให้เวทีเอเปคเป็นพิเศษ มาจากปมภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งโลกมีความขัดแย้งสูงมากใน 2 ศึก คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และศึกแข่งบารมีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

เวทีซัมมิตของเอเปคไม่มีโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ แต่น่าจะมีทั้ง สี จิ้นผิง แห่งจีน และ วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย รวมไปถึงการต้อนรับ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบียในช่วงเวลาเดียวกัน

การอารักขาผู้นำเหล่านี้ รวมถึงผู้นำชาติสมาชิกที่มาทั้งหมดจะต้องไม่มีความผิดพลาดด้านความมั่นคงเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นซอฟต์พาวเวอร์ที่เตรียมไว้จะช่วยอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น

หากเวทีเอเปคผ่านไปได้อย่างราบรื่น คนไทยคงได้ดูฟุตบอลโลกอย่างสบายใจ (ถ้าหน่วยงานรัฐจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดได้สำเร็จตามที่ลุงป้อมสั่งมา)

จากนั้นที่เรา ๆ ท่าน ๆ จะได้ลุ้นต่อคือการยุบสภาและการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนว่ายังคงต้องอาศัยการจัดการที่ดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิม