งานคราฟต์ ‘ผู้สูงวัย’ ชะลอมเงิน นครพนม

ชะลอมเงิน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

ควันหลง “เอเปค” ยังมีอยู่ติ่งหนึ่งที่อยากบอกเล่าให้คนไทยรู้และภูมิใจ

นั่นคือ “ชะลอม” เครื่องเงินแท้ ๆ ที่รัฐบาลไทยแจกเป็นของชำร่วยแก่ผู้นำ V.I.P. ที่มาร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ซึ่งเป็นของที่ระลึกทำขึ้นตามโลโก้ APEC 2022 Thailand เป็นผลงานออกแบบของ “ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง” นิสิตจุฬาฯ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่ของ ใช้บรรจุของในการเดินทาง หรือนำไปมอบให้กับบุคคลที่เราเคารพ ถือเป็นสัญลักษณ์จากรุ่นสู่รุ่น

รัฐบาลเองก็ต้องการสื่อถึงการเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ ทั้งสะท้อนหลักคิดและผลักดันการมีส่วนร่วมในสังคมตามศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง

เมื่อต้องแจกเป็น “ของฝาก” ระดับชาติ รัฐบาลจึงต้องคิดมากขึ้น โดยปรับวัสดุจากตอกไม้ไผ่ให้เป็น “เครื่องเงิน” เพื่อความสวยงาม ดูดี มีมูลค่า และยั่งยืน

นฤมล ทอนใจ หรือ “คุณอ้อม” เจ้าของร้านเครื่องเงินประดาพร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ในวัย 44 ปี คือ ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังของสวยงามดังกล่าว

เธอเล่าว่า ชะลอมเงินแท้ที่กระทรวงการต่างประเทศสั่งทำนั้น ถือว่า “ทำยากมาก ๆ” แต่ก็ท้าทาย เพราะส่วนตัวถนัดเครื่องเงินเครื่องประดับก็จริง แต่ยังไม่เคยทำออกมาเป็นชะลอมอย่างที่เห็น

หลังได้รับโจทย์มา แรก ๆ ได้เสนอไปหลายแบบ มีทั้งกระติบ ผอบ เข็มกลัด สุดท้ายมาลงเอยที่ “ชะลอม” อันเป็นตราสัญลักษณ์ของ APEC 2022 Thailand

ส่วนตัวตอนแรกไม่คิดว่ายาก แต่ทำไปทำมา กลายเป็นงานหิน จึงต้องระดมคนเก่าแก่ที่มี “ฝีมือ” จริง ๆ มาช่วยกันทำ รวมทั้งหมด 50 ชิ้น ภายในระยะเวลาจำกัด เดดไลน์คือ 3 เดือน

ในที่สุดก็ได้แรงงานฝีมือจากผู้เฒ่าผู้แก่ชาย-หญิง ซึ่งเป็นผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไปมาช่วยทำ เรียกว่า เป็นคุณตาคุณยายทั้ง 4 คน ที่เราต้องกราบ

“จะพูดว่า เป็นการใช้แรงงานคนแก่ อ้อมก็ยอมรับค่ะ เพราะชะลอมที่ทำจากเนื้อเงินไม่ง่ายนะคะ กว่าจะได้แต่ละขั้นตอนเลือดตาแทบกระเด็น เราต้องทำการหลอม รีด ดึง ตึงและสาน ทำกันตั้งแต่ไก่โห่ คือเช้ามืดตีห้าถึงสี่ทุ่ม”

“การนั่งทำชะลอมเงินต้องใช้สมาธิสูงมาก ลายไม่ยาก แต่การบิดเข้ารูป การสานแต่ละจุดแต่ละมุมยากสุด ต้องใช้ความชำนาญและความอดทนสูง อ้อมยกนิ้วให้กับผู้เฒ่ากลุ่มนี้เลยค่ะ โดยเฉพาะการแก้สานจะยากสุด ๆ อ้อมเข้าใจแล้วว่า ทำไมผู้เฒ่าถึงอยากอยู่บ้านทำ เพราะได้อยู่คนเดียว ทำเงียบ ๆ เป็นการสร้างสมาธิ”

สาวเจ้าของร้านเครื่องเงินประดาพรย้ำว่า ที่เธอภูมิใจลึก ๆ คือ การมอบค่าแรงให้กับกลุ่มผู้สูงวัยที่อยู่เบื้องหลังของเบื้องหลัง “ของฝากระดับชาติ” ซึ่งถือว่า คุ้มค่าเหนื่อยเลยทีเดียว

โดยเธอจ่ายให้เป็นเงินก้อนแก่ผู้เฒ่า ซึ่งต่างดีใจยกใหญ่ เพราะท่านเหล่านั้นได้นำเงินไปซื้อวัว ซื้อควาย ซื้อหมู มาเลี้ยงเป็นเล้า ๆ ทำให้มีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน

รวมถึงแรงงานฝีมือรวม ๆ 12 คน ที่ต่างเฮโลมาช่วยทำผลิตภัณฑ์แห่งชาติ ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต เป็นความภาคภูมิใจที่ต้องบอกต่อลูกหลานคนไทย ว่าเราทำได้ และทำได้ดีด้วย

เธอบอกว่า อ้อมเป็นคนอีสาน เป็นคนนครพนม ทำธุรกิจเครื่องเงินมานานกว่า 14 ปีแล้ว ร้านอยู่ในเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม เชี่ยวชาญงานฝีมือหัตถกรรมเครื่องเงินพอสมควร ชอบออกแบบ คิดค้นรูปแบบใหม่ ๆ

งานส่วนใหญ่เน้นสวยงามจากธรรมชาติ เคยได้รับรางวัลสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ชื่อรางวัล ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557

เคยออกแบบมาลัยกลอนดอกมะลิที่ทำจากเครื่องเงินที่มอบให้กับผู้นำอาเซียน 10 ประเทศมาแล้ว นับเป็นผลงานที่เคยสร้างชื่อเสียงมาแล้วครั้งหนึ่งจนมาถึงงานชะลอมเงินเอเปค

“ชื่อเสียงก็เรื่องหนึ่ง แต่อ้อมดีใจที่หางานให้ชาวบ้านในชุมชนได้ทำตามความถนัด เป็นการกระจายรายได้และสร้างชื่อนครพนมให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก”