หาเสียง “แจกแหลก” เอาเงินจากไหน ?

ป้ายหาเสียง
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 2566 แม้จะยังไม่ได้ประกาศยุบสภา แต่ทุกพรรคการเมืองก็ออกสตาร์ตประกาศนโยบายหาเสียงกันอย่างดุเดือด

ปูพรมนโยบายสัญญาว่าจะให้เงินอุดหนุน สร้างงาน สวัสดิการต่าง ๆ ทั้งเกทับ บลัฟแหลกแจกเพิ่มแบบไม่ยั้ง

เช่น กรณีพรรคเพื่อไทย ชูนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายใน 4 ปี ขณะที่พรรคก้าวไกลเกทับต่อด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีปีแรก 450 บาท

พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ชูนโยบายเพิ่มเงินผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 700 บาทต่อเดือน และจะเพิ่มอีกปีละ 100 บาท เป็น 1,000 บาท ในปี 2570

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย เจ้าของสโลแกน “พูดแล้วทำ” ที่ผลักดันนโยบายกัญชาถูกกฎหมายจนเป็นผลงาน ที่สร้างผลกระทบข้างเคียงมากมาย เลือกตั้งครั้งนี้ชูนโยบายหาเสียง “พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น หยุดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท”

และอีกหลายพรรคที่ออกมาชูนโยบายยกเลิกหรือลดบทบาท “เครดิตบูโร” ที่หลายฝ่ายกังวลว่า ยิ่งสถาบันการเงินไม่มีฐานข้อมูลการพิจารณา จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชนมากยิ่งขึ้น

แต่ทุกนโยบายจะเป็นจริงได้ไม่ใช่เพียงแค่คำพูด เพราะนโยบายที่จัดประเคนให้ประชาชนมีต้นทุนที่เกิดขึ้นมหาศาล รวมถึงผลข้างเคียงจากนโยบายที่ตามมาอีกมากมาย ที่พรรคการเมืองไม่มีใครพูดถึง

ประเด็นนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทำรายงานวิจัยรวบรวมนโยบายหาเสียงจาก 9 พรรคการเมือง ได้ประมาณ 86 นโยบายที่มีรายละเอียดเพียงพอ ซึ่งทีดีอาร์ไอเป็นห่วงว่า แม้นโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองประกาศเป็นนโยบายที่มีจุดประสงค์ดีที่มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน และปัญหาของประชาชน (เฉพาะหน้า) แต่หลายนโยบายจะสร้างปัญหาให้ประเทศในระยะยาวใน 3 ประเด็นหลัก

1.สร้างภาระทางการคลังจากการใช้งบประมาณมหาศาลมากเกินตัว จนอาจก่อให้เกิดวิกฤตการคลังของประเทศไทย 2.มีแนวโน้มว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณผ่านรัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทำให้การใช้เงินไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ และทำให้รัฐสภาในฐานะผู้แทนของประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้

และ 3.สร้างวัฒนธรรมซึ่งทำลายวินัยการเงินของประชาชน เช่น นโยบายที่จะพักหนี้ หรือลดหนี้เงินกู้ต่าง ๆ โดยไม่สมเหตุผล รวมถึงการลดบทบาทของเครดิตบูโร

ทีดีอาร์ไอคำนวณต้นทุนด้านการคลังของนโยบายของทั้ง 9 พรรคการเมือง (ไม่นับนโยบายที่ซ้ำกัน) พบว่า หากนำนโยบายทั้งหมดมาดำเนินการจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นราว 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี

เรียกว่าต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นราว 1 เท่าตัวจากงบฯรายจ่ายประจำปี 2566 (วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท) นี่ยังไม่ได้รวมนโยบายของบางพรรคการเมืองที่จะทยอยออกมาประกาศ “เกทับ”

ประเด็นสำคัญคือ พรรคการเมืองที่ประกาศนโยบาย (ประชานิยม) แบบจัดเต็มทุกมิติเท่าที่จะรังสรรค์กันมาได้ ไม่ได้มีการพูดถึง แนวทางว่าจะหางบประมาณจากที่ไหน มาทำนโยบาย แค่ขายนโยบายแบบสัญญาจะให้เพื่อหวังจะได้เสียงสนับสนุน

และหลายนโยบายที่ประกาศออกมา ก็อาจไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เนื่องจากจะต้องแก้กฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะที่ยังไม่ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายได้ศึกษาถึงแนวทางการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนต้นทุน และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

อาจเรียกได้ว่านโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 เป็นการนำเสนอนโยบายประชานิยมกันมากที่สุดของประเทศไทย โดยไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

และสิ่งที่ทีดีอาร์ไอ และหลายฝ่ายเป็นกังวลก็คือ นโยบายส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาปากท้องเฉพาะหน้า ที่สร้างปัญหาประเทศระยะยาว และผลข้างเคียง โดยเฉพาะหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นสูง จนอาจทำให้เกิดวิกฤตการคลังได้