
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม
เกาะติดเลือกตั้งทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2566 ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่
กรณีหากมีนายกฯคนใหม่ที่ไม่ใช่คนหน้าเดิม ขออนุญาตชวนคุยนโยบายสร้างบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือภาษาไม่เป็นทางการเรียกว่านโยบายบ้านคนจน
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- มหาดไทยออกระเบียบใหม่ ตั้งคณะกรรมการชุมชน รับค่าตอบแทนรายเดือน
- ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิต อายุ 55 ปี หลังซ้อมแข่งรถที่บุรีรัมย์
ข่าวล่ามาเร็ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 “การเคหะแห่งชาติ” หรือ กคช. ส่งข่าวแจก “การเคหะฯโต้ฝ่ายค้านกล่าวหาเข้าข่ายทุจริตจัดตั้งบริษัท (มหาชน) แสวงหากำไรที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ไม่เป็นความจริง !”
โดยพรรคฝ่ายค้านต่อยอดประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ไปยื่นฟ้อง ป.ป.ช. เพื่อกล่าวหาการเคหะฯจัดตั้งบริษัท (มหาชน) แสวงหากำไรที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยมูลค่าแสนล้านส่อแววทุจริตนั้น
“ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผู้ว่าการการเคหะฯ ชี้แจงว่า บิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจากการจัดตั้งบริษัท (มหาชน) ถูกต้องตามกฎหมายแล้วผ่านคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอน
วัตถุประสงค์ตั้งบริษัทมหาชนเพื่อระดมทุนในตลาดหุ้น ไม่ใช้งบประมาณภาครัฐ อีกทั้งบริษัท (มหาชน) ในเครือการเคหะฯมีนโยบายไม่แสวงหากำไร แต่เน้นการตอบแทนสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการสร้างโอกาสให้คนจนเข้าถึงที่อยู่อาศัย และมีอาชีพเพิ่มรายได้ เพื่อความมั่นคงในชีวิต
ประเด็นโครงการที่อยู่อาศัยมีมูลค่าแสนล้านนั้นก็ไม่เป็นความจริง การเคหะฯมีเป้าสร้างที่อยู่อาศัย 100,000 หน่วย มูลค่ารวม 60,000 ล้านบาท ทยอยส่งมอบปีละ 20,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าปีละ 12,000 ล้านบาท
เรื่องนี้น่าจะเติมข้อมูลได้อีกหลายแง่มุม ดังนี้
1.การเคหะฯก่อตั้งแล้ว 50 ปี เดิมทำภารกิจหลัก “สร้างบ้านโอนกรรมสิทธิ์” ปีละ 20,000 หน่วย คาพาซิตี้ที่ทำเองมีเท่านี้ รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยนายกฯประยุทธ์สั่งการให้เปลี่ยนมาเป็น “สร้างบ้านเช่าผู้มีรายได้น้อย” แทน อาจเพราะเป็นห่วงทหาร-ข้าราชการชั้นผู้น้อย อยู่บ้านหลวงจนเกษียณแล้วไม่มีบ้านอยู่ ต้องหาบ้านเช่าราคาถูก
ต้องขออนุญาตนำเรียนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า ควรจะทบทวนนโยบายบ้านเช่าผู้มีรายได้น้อยของการเคหะฯ เพราะสาระสำคัญ การทำบ้านเช่าจะมอบให้ส่วนราชการใดทำก็ได้ เพราะไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ ปัจจุบันก็มีการทำกันดาษดื่น แต่หน่วยงานรัฐที่จะทำบ้านโอนกรรมสิทธิ์ของผู้มีรายได้น้อย มีเพียงการเคหะฯหน่วยงานเดียว
เคยได้ยินแต่ “ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตนเอง = มีความมั่นคงในชีวิต” ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า “ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเช่าเป็นของตนเอง = มีความมั่นคงในชีวิต”
2.เป้าก่อสร้างปีละ 20,000 หลัง ใช้งบประมาณปีละ 12,000 ล้านบาท ตามปกติเมื่อการเคหะฯมีการพัฒนาโครงการ ขายและโอนแล้วค่อยมาดูผลประกอบการว่าขาดทุน-กำไรเท่าไหร่ และต้องมีโบนัสเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ
นโยบายยุคปัจจุบันกลายมาเป็นบ้านเช่า ซึ่งไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ คอนเซ็ปต์จึงไม่ใช่การพัฒนาโครงการอีกต่อไป แต่ลดระดับเป็น “จัดซื้อจัดจ้าง” ปีละ 12,000 ล้านแทน
3.บริษัทลูกของการเคหะฯตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นผู้ลงทุนปีละ 12,000 ล้านบาทระดมทุนในตลาดหุ้น ไม่ต้องพึ่งงบประมาณรัฐ เป็นบริษัทมหาชนในเครือการเคหะฯ ใช้สิทธิประโยชน์-สิทธิพิเศษไม่ต้องทำตามกฎหมายจัดสรร การเคหะฯถือหุ้นข้างน้อย 49% เพื่อไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ โมเดลแบบนี้ดีมากในระยะยาวสำหรับผู้มีรายได้น้อยจริงหรือ
คำถามหลักคือ บริษัทมหาชนของการเคหะฯในตลาดหุ้น ระบุว่า “มีนโยบายไม่แสวงหากำไร แต่เน้นการตอบแทนสังคม…” ถ้าสร้างบ้านเช่าแล้วไม่แสวงกำไร อาจหมายถึงไม่มีเงินปันผล โมเดลธุรกิจแบบนี้บนกระดานหุ้นมีความน่าดึงดูดอยู่ใช่ไหม
สุดท้าย บริษัทลูกที่ตั้งใหม่ อาจเป็น (มหาชน) นอกกระดานหุ้น และใช้สิทธิประโยชน์-สิทธิพิเศษของการเคหะฯไปเรื่อย ๆ หรือควรนำนโยบายกลับมาทบทวนเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่รอวัดใจผู้นำรัฐบาลคนใหม่ค่ะ