การเดินทางของ SCBX

อาทิตย์ นันทวิทยา
อาทิตย์ นันทวิทยา
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

24 พ.ค.ที่ผ่านมา ช่วงค่ำที่ รร.พูลแมน คิงพาวเวอร์ มีการรวมตัวของผู้บริหาร นักธุรกิจชั้นนำของธุรกิจเมืองไทยเพื่อมาร่วมงาน “เอ็กซ์คลูซีฟ ดินเนอร์ทอล์ก” ก้าวสู่ปีที่ 47 ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ “JOURNEY TO TRANSFORM”

ที่ได้สองบิ๊กจากสองวงการ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ซีอีโอ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ที่มาถอดบทเรียนแปลงร่างทรานส์ฟอร์ม SCBX แบบไม่สิ้นสุด และ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตซีอีโอ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จากนักธุรกิจที่เดินทางสู่เส้นทางนักการเมือง

สำหรับบนเวทีดินเนอร์ทอล์ก “อาทิตย์ นันทวิทยา” เป็น keynote speech หัวข้อ “เปลี่ยนก่อนถูกเปลี่ยน” เล่าว่า ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พาคณะกรรมการของ SCBX และแบงก์ไทยพาณิชย์ ไปดูงานต่างประเทศเรื่อง generative AI, cyber security, climate change

ขณะเดียวกันได้มีโอกาสไปร่วมงาน “CEO Summit” ซึ่งในงานก็เป็นธีมเดียวกับ 3 เรื่องที่คณะบอร์ดไปดูงาน เรียกว่าเป็นธีมของโลก

นอกจากนี้ก็ได้พบกับ CEO ไมโครซอฟท์ที่บอกว่า “ทุกวันนี้ที่คุณพยายามแย่งตัว data scientist เพราะวันนี้พวกคุณคิดว่าเป็น asset (ทรัพย์สิน) เป็นสิ่งที่บอกว่าใครมีเยอะคนนั้นเจ๋ง แต่อีก 2 ปีข้างหน้าหากคุณบริหารไม่ดีมันจะกลายเป็น liabilities (หนี้สิน) ของบริษัท”

ด้วยเหตุผลเพราะใน 2 ปีข้างหน้า 75% แอปพลิเคชั่นที่จะเกิดขึ้นใหม่ จะเป็นการพัฒนาแบบ no-code แปลว่าไม่จำเป็นต้องอาศัย data scientist อีกแล้ว

ซึ่งเป็นผลจากการเกิดขึ้นของ generative AI

“อาทิตย์” บอกว่า ก่อนเดินทางไปยังอยู่ในพาราดามคิดแบบหนึ่ง แต่ไปถึงที่นั่น เอ๊ะ ! นี่มันอะไรกันนี่ ที่เล่าเรื่องนี้เพื่อที่ต้องการให้เห็นแม็กนิจูดของโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลง และหลายอย่างเปลี่ยนแบบ upside down

อาทิตย์ย้ำว่า สิ่งที่พูด คือเรื่องของความก้าวหน้าในเชิงเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง…

อีกประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ คือคาดการณ์ของผลกระทบจาก climate change รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างเรื่องของ geopolitics เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากำลังเผชิญ

เป็นโจทย์ของผู้บริหารทุกองค์กร แล้วจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

ซีอีโอ SCBX ระบุว่า การจะรับมือสิ่งต่าง ๆ เริ่มต้นต้องทำ “transformation” และสิ่งสำคัญต้องตอบให้ได้ว่าจะทรานฟอร์มไปเป็นอะไร

โจทย์คือทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เป็น “never normal” ไม่ใช่ “new normal” เพราะว่ามันจะเปลี่ยนไปอย่างไม่จบสิ้น

ในส่วนของ SCBX เริ่มต้นจากการ set mission ที่จะบอกทุกคนว่าองค์กรเราจะเปลี่ยนเป็นอะไร

“เมื่อเรารู้ว่าการเป็นแบงก์อย่างเดียว ไม่น่าจะมีความสามารถในการแข่งขันหรือตอบสนองในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแบบไม่จบสิ้น”

อย่างไรก็ดี สำหรับ SCBX คำว่า “transform” ไม่ได้แปลว่าต้อง transform ทุกอย่าง และไม่ได้แปลว่าต้อง transform อย่างรวดเร็ว

และไม่ได้หมายความว่าถ้า transform ไม่ได้ 100% แล้วจะไม่ทำ

และอาทิตย์ย้ำว่า “ของที่ดีอยู่แล้ว และมีอยู่แล้ว เราควรจะเก็บไว้”

อย่างแบงก์ของเอสซีบี จะไม่กลายเป็นฟินเทค และจะไม่กลายเป็นสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น คือจะยังคงเป็นแบงก์ แต่จะเป็นแบงก์ที่ดีขึ้น และเป็นแบงก์ที่แข็งแรง

ส่วนธุรกิจที่ transform คือส่วนที่จะออกไปเผชิญความเสี่ยง

เพราะการ transformation คือการ take risk


สำหรับองค์กรที่กำลังจะ transform ต้องบอกว่า พูดได้ง่ายมาก แต่พอทำจริง ๆ ผู้ถือหุ้นและบอร์ดจะเริ่มตระหนักว่าเรากำลังจะ take risk ในแบบที่เราไม่คุ้นเคย และจะทำอย่างไรที่จะตอบโจทย์ตรงนี้